ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์  >>

โบราณวัตถุ

การค้าโบราณวัตถุและการส่งหรือนำโบราณวัตถุออกนอกราชอาณาจักร

โบราณวัตถุใดสามารถทำการค้าได้หรือไม่มิได้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นโบราณวัตถุที่ขึ้นทะเบียนแล้วหรือยังมิได้ขึ้นทะเบียน แต่ต้องพิจารณาว่าเป็นโบราณวัตถุที่สมควรสงวนไว้เป็นสมบัติของชาติหรือไม่ ซึ่งโบราณวัตถุใดที่อธิบดีกรมศิลปากรเห็นว่าเป็นโบราณวัตถุที่สมควรสงวนไว้เป็นสมบัติของชาติ อธิบดีก็มีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดว่าโบราณวัตถุนั้นเป็น “โบราณวัตถุที่ห้ามทำการค้า” และมีอำนาจจัดซื้อโบราณวัตถุนั้นเพื่อสงวนไว้เป็นสมบัติของชาติต่อไป

บุคคลใดประสงค์จะค้าโบราณวัตถุที่มิใช่โบราณวัตถุที่ห้ามทำการค้า ต้องขอรับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากรก่อน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2539) ออกตามความในพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เมื่ออธิบดีกรมศิลปากรอนุญาตแล้วจะประกาศรายชื่อผู้ได้รับอนุญาตให้ทำการค้าในราชกิจจานุเบกษา แต่กรณีที่อธิบดีไม่อนุญาต ผู้ขอรับใบอนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่ง คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้ถือเป็นที่สุด

เมื่อได้รับใบอนุญาตให้ทำการค้าโบราณวัตถุแล้ว ผู้รับใบอนุญาตจะต้องแสดงใบอนุญาตค้าโบราณวัตถุไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ สถานที่ทำการค้า และต้องทำบัญชีรายการโบราณวัตถุที่อยู่ในความครอบครองและรักษาบัญชีไว้ ณ สถานที่ทำการค้าดังกล่าว

สำหรับการส่งหรือนำโบราณวัตถุออกนอกราชอาณาจักรนั้น แยกได้สองลักษณะ ได้แก่ การส่งหรือนำโบราณวัตถุออกนอกราชอาณาจักรเป็นการเด็ดขาด และการส่งหรือนำโบราณวัตถุออกนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ซึ่งมีหลักเกณฑ์ การส่งหรือนำออกนอกราชอาณาจักรแตกต่างกันออกไป โดยการส่งหรือนำโบราณวัตถุออกนอกราชอาณาจักรเป็นการเด็ดขาด กฎหมายห้ามมิให้ผู้ใดส่งหรือนำโบราณวัตถุออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากร โดยต้องดำเนินการตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2539) ออกตามความในพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ซึ่งมีหลักสำคัญ คือ

  1. ผู้ที่ประสงค์จะส่งหรือนำโบราณวัตถุออกนอกราชอาณาจักร ต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามแบบ ศก. 6 ท้ายกฎกระทรวงฯ
  2. ในการยื่นคำขอรับใบอนุญาตส่งหรือนำโบราณวัตถุออกนอกราชอาณาจักร ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องนำโบราณวัตถุที่จะส่งหรือนำออกนอกราชอาณาจักรนั้นมาแสดง ณ สถานที่ที่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตเพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจพิสูจน์ด้วย หรือหากไม่สามารถนำโบราณวัตถุนั้นมาได้ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องทำคำขอเป็นหนังสือพร้อมทั้งแสดงเหตุผลเสนอต่อผู้อนุญาตเพื่อให้มีการตรวจพิสูจน์โบราณวัตถุนั้น ณ สถานที่เก็บโบราณวัตถุ
  3. หากโบราณวัตถุที่ต้องการการส่งหรือนำโบราณวัตถุออกนอกราชอาณาจักรเป็นพระพุทธรูปหรือรูปเคารพในศาสนา ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องแจ้งวัตถุประสงค์ในการส่งหรือนำโบราณวัตถุออกนอกราชอาณาจักรด้วย
  4. โบราณวัตถุที่ได้รับอนุญาตให้ส่งหรือนำออกนอกราชอาณาจักรจะต้องมีตราตะกั่วรูปพระคเณศพร้อมกับบัตรแสดงหมายเลขที่ใบอนุญาตตามที่ กรมศิลปากรกำหนดผูกหรือผนึกติดกับโบราณวัตถุนั้นทุกชิ้น
  5. ผู้รับใบอนุญาตส่งหรือนำโบราณวัตถุออกนอกราชอาณาจักรต้องเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2539) ออกตามความในพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504

การส่งหรือนำโบราณวัตถุออกนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว

มีหลักการสำคัญคล้ายคลึงกับการส่งหรือนำโบราณวัตถุออกนอกราชอาณาจักรเป็นการเด็ดขาดตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2539) ออกตามความในพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เช่นเดียวกัน แต่แตกต่างกันตรงที่ต้องเพิ่มหลักประกันว่าจะมีการส่งโบราณวัตถุกลับมาในราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ ซึ่งพอสรุปหลักการสำคัญในการส่งหรือนำโบราณวัตถุออกนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้ ดังนี้

  1. ผู้ที่ประสงค์จะส่งหรือนำโบราณวัตถุออกนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามแบบ ศก. 7 ท้ายกฎกระทรวงฯ
  2. ในการยื่นคำขอรับใบอนุญาตส่งหรือนำโบราณวัตถุออกนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องนำโบราณวัตถุที่จะส่งหรือนำออกนอกราชอาณาจักรนั้นมาแสดง ณ สถานที่ที่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตเพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจพิสูจน์ด้วย หรือหากไม่สามารถนำโบราณวัตถุนั้นมาได้ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องทำคำขอเป็นหนังสือพร้อมทั้งแสดงเหตุผลเสนอต่อผู้อนุญาตเพื่อให้มีการตรวจพิสูจน์โบราณวัตถุนั้น ณ สถานที่เก็บโบราณวัตถุ
  3. หากโบราณวัตถุที่ต้องการส่งหรือนำโบราณวัตถุออกนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวนั้นเป็นพระพุทธรูปหรือรูปเคารพในศาสนา ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องแจ้งวัตถุประสงค์ในการส่งหรือนำโบราณวัตถุออกนอกราชอาณาจักรด้วย
  4. โบราณวัตถุที่ได้รับอนุญาตให้ส่งหรือนำออกนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวจะต้องมีตราตะกั่วรูปพระคเณศพร้อมกับบัตรแสดงหมายเลขที่ใบอนุญาตตามที่กรมศิลปากรกำหนดผูกหรือผนึกติดกับโบราณวัตถุนั้นทุกชิ้น
  5. ผู้รับใบอนุญาตส่งหรือนำโบราณวัตถุออกนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต้องวางเงินประกันเป็นเงินสด หรือวางหลักทรัพย์ประกันเป็นพันธบัตรของรัฐบาลไทยหรือพันธบัตรที่รัฐบาลไทยค้ำประกัน หรือวางหลักประกันเป็นหนังสือ ค้ำประกันของธนาคาร เป็นจำนวนเงินเท่ากับราคาประเมินของโบราณวัตถุนั้นไว้กับ ผู้อนุญาต เพื่อเป็นหลักประกันการชำระค่าปรับในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตไม่ส่งหรือนำโบราณวัตถุกลับเข้ามาในราชอาณาจักรภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต โดยผู้อนุญาตมีอำนาจปรับเป็นจำนวนเงินเท่ากับราคาประเมินของโบราณวัตถุนั้น เว้นแต่ไม่สามารถส่งหรือนำกลับมาได้เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย หรือในกรณีมีความจำเป็นและได้รับอนุญาตให้ขยายระยะเวลาออกไปแล้ว กรณีที่ผู้ขอรับใบอนุญาตส่งหรือนำโบราณวัตถุออกนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเป็นส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมจะยกเว้นการวางหลักประกันให้ก็ได้

การค้นพบและการครอบครองโบราณวัตถุ
การค้าโบราณวัตถุและการส่งหรือนำโบราณวัตถุออกนอกราชอาณาจักร
สิ่งเทียมโบราณวัตถุ
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคำว่า “โบราณวัตถุ”

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย