สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

สังคมวิทยา

<<< สารบัญ >>>

การเปลี่ยนแปลงทางสังคม

ทฤษฎีของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

มีนักปรัชญาได้เสนอทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไว้เป็นอันมากและช้านานมาแล้ว นักสังคมวิทยาใหม่ก็ได้ศึกษาเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา จะนำทฤษฎีมาเสนอเพียง 4 ทฤษฎีเท่านั้น คือ ทฤษฎีเทคโนโลยี (Technological Theory) ทฤษฎีขบวนการสังคม (Theory of Social Movement) ทฤษฎีปัจจัย (Factor Theory) และทฤษฎีการประดิษฐ์ คิดค้น (Discovery and Invention Theory) ซึ่งจะได้อธิบายตามลำดับต่อไป

1) ทฤษฎีเทคโนโลยี

ทฤษฎีซึ่งอธิบายว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมนั้น เกิดจากปัจจัยทางเทคโนโลยีที่มีชื่อเสียงมาก คือ ทฤษฎีของ William F. Ogburn ทฤษฎีนี้มี ฐานคติ (Assumption) อยู่ 3 ประการ คือ ประการแรก การประดิษฐ์สิ่งใหม่ขึ้นมาจะเพิ่มความสลับซับซ้อนของวัฒนธรรม ชีวิตของมนุษย์ก็สับสนขึ้นตามเนื้อหาของวัฒนธรรมนั้น ประการที่ 2 การกระดิษฐ์สิ่งใหม่จะเป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ เทคนิคใหม่ ๆ จะทำให้การผลิตเพิ่มขึ้น การวิภาคสินค้าและบริการก็กระจายออกไปในสังคมมากขึ้น ประการที่ 3 โครงสร้างทางสังคมจะมีการปรับตัวให้เป็นระบบการผลิต การวิภาค และการบริโภค การเปลี่ยนแปลงทางสังคมเป็นผลจากกระบวนการปรับตัวนี้เอง

ออกเบอร์น อธิบายว่า วัฒนธรรมนั้น มีอยู่ 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ วัฒนธรรมทางวัตถุและไม่ใช่วัตถุ การเปลี่ยนแปลงมักจะเกิดขึ้นทางวัตถุก่อน ซึ่งต่อมาทางไม่ใช่วัตถุจะต้องปรับให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางวัตถุ การเปลี่ยนแปลงทางวัตถุจึงเป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านไม่ใช่วัตถุ และวัฒนธรรมด้านไม่ใช่วัตถุจะพยายาม ปรับตัวให้ทันกัน ด้วยเหตุนี้ การประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่อันเกิดการใช้เทคโนโลยีจึง เป็นเหตุให้สังคมเปลี่ยนแปลงไป

เราจะเห็นได้ชัดว่า การเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตของมนุษย์เป็นผลมาจากการคิดค้นประดิษฐ์สิ่งใหม่ขึ้นมานับตั้งแต่เข็มทิศ วงล้อ เครื่องพิมพ์ เครื่องจักรกลต่าง ๆ ตลอดจนเครื่องมือสื่อสารและสภาพสิ่งต่าง ๆ ออกเบอร์นยกตัวอย่างให้เห็นว่า การประดิษฐ์เครื่องสตาร์ทรถยนต์ที่เรียกว่า Self-Starter เพียงแต่หมุนกุญแจเครื่องยนต์ก็ติด เป็นผลให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะสามารถใช้รถยนต์ได้คล่องตัวขึ้น อีกตัวอย่างหนึ่ง การสร้างลิฟท์ไฟฟ้าทำให้มีการสร้างอาคารสูงหลาย ๆ ชั้น

2) ทฤษฎีขบวนการสังคม

นักสังคมวิทยาบางกลุ่มพยายามอธิบายให้เห็นว่า ขบวนการสังคมเป็นทฤษฎีหนึ่งที่อธิบายถึงสาเหตุทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทั้งนี้ เพราะว่าขบวนการสังคมใด ๆ ก็ตามเมื่อดำเนินการได้สำเร็จ หรือแม้แต่กำลังดำเนินการโดยยังไม่สำเร็จก็ตามจะมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ เนื่องจากขบวนการสังคมเป็นการกระทำร่วมกันของกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์ตรงกัน เพื่อต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างของสังคม ซึ่งอาจจะเป็นการออกกฎหมายใหม่ หรือระงับยับยั้งการดำเนินนโยบายบางอย่างของรัฐบาล การบำบัดความต้องการให้ได้จึงต้องเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่าง

3) ทฤษฎีปัจจัย

ทฤษฎีนี้ได้เน้นถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ผลักดันให้สังคมเปลี่ยนแปลง ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ นั้นมีอยู่มากมายสุดแต่จะหยิบยกมาอธิบาย ที่นักสังคมวิทยายกตัวอย่างกันทั่วไป ได้แก่ ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ ปัจจัยทางประชากร และปัจจัยทางวัฒนธรรมและอารยธรรม

3.1 ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ ปัจจัยนี้เป็นความเชื่อที่เก่าแก่ของมนุษย์ที่ว่า ดวงดาวและดวงอาทิตย์มีอิทธิพลต่อชีวิตของมนุษย์ ทั้งในทางดีและทางเลว และสามารถกำหนดความเป็นไปแห่งชีวิตของมนุษย์ได้ ฉะนั้น เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในดวงอาทิตย์และดวงดาวเมื่อใด จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่มนุษย์ทุกครั้งด้วย ความเชื่อในเรื่องนี้ แม้จะไม่มีเหตุผลหรือค่อนข้างเป็นเรื่องเหลวไหลอยู่บ้าง แต่มนุษย์ทั่วโลกก็ยังเชื่อว่าเป็นความจริง ถ้าเราเชื่อในโหราศาสตร์เกี่ยวกับการผูกดวงชะตาอยู่ ทฤษฎีนี้ก็มีน้ำหนัก ถ้าไม่เชื่อ ทฤษฎีนี้ก็เป็นเรื่องเหลวไหล อย่างไรก็ดี โดยทั่วไปแล้ว นักสังคมวิทยาสมัยใหม่ไม่ถือว่าปัจจัยทางภูมิศาสตร์อันเกี่ยวกับดวงอาทิตย์และดวงดาวนี้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างจริงจังและโดยตรงนัก

3.2 ปัจจัยทางประชากร ทฤษฎีปัจจัยได้อธิบายให้เห็นว่า ประชากรเป็นปัจจัยที่สำคัญทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงในด้านจำนวนประชากร กล่าวคือ สังคมที่มีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างมากมายนั้น จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น เกิดการว่างงาน มากขึ้น ขาดแคลนที่อยู่อาศัย การแย่งกันทำมาหากิน รวมทั้งขาดแคลนที่อยู่อาศัยและสถานศึกษา รวมทั้งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในส่วนรวมด้วย ฉะนั้น การเพิ่มของประชากรที่ไม่ได้สัดส่วนกับการพัฒนาเศรษฐกิจ จะก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น

3.3 ปัจจัยทางวัฒนธรรม การขยายตัวของวัฒนธรรม การเลียนแบบ และการยืมวัฒนธรรม รวมทั้งการผสมผสานทางวัฒนธรรมจะเป็นผลให้โครงสร้างของสังคมเปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่มองเห็นได้ชัด ได้แก่ การที่คนในชาติหนึ่งไปศึกษาวิชาการต่าง ๆ ในอีกประเทศหนึ่ง เมื่อกลับมายังประเทศแห่งตนแล้ว มักจะนำวัฒนธรรมต่าง ๆ ของชาตินั้นติดตัวมาด้วย เพราะขณะที่อยู่ในต่างประเทศต้องปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมของประเทศนั้น ๆ จึงเท่ากับยอมรับวัฒนธรรมของต่างชาติ ซึ่งมีผลให้นิสัยใจคอและความรู้สึกนึกคิด ตลอดจนรสนิยมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม บางกรณีถึงกับนำวัฒนธรรมของต่างชาติมาปฏิบัติในประเทศตน ทั้งวัฒนธรรมที่เป็นวัตถุและมิใช่ เช่น แบบของอาคารบ้านเรือน ภาษา เครื่องแต่งกาย ความรู้สึกนึกคิด และความเชื่อต่าง ๆ เป็นต้น สิ่งดังกล่าวล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนทางสังคมตามมา

ปัจจัยทางวัฒนธรรมที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมนั้น เกิดขึ้นได้ 2 ทาง คือ การที่บุคคลติดต่อกันโดยตรงทางหนึ่งกับอีกทางหนึ่งติดต่อกันทางอ้อม โดยอาศัยสื่อสารมวลชน ปัจจัยทางวัฒนธรรมทำให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป ที่มองเห็นได้ชัด เช่น คนไทยรู้จักเล่นกีฬาต่าง ๆ มากขึ้น รู้จักเล่นดนตรีโดยใช้เครื่องมือสากล รู้จักใช้เครื่องจักรกลและเครื่องมือที่ทันสมัย เป็นต้น

4) ทฤษฎีการประดิษฐ์คิดค้น

การประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ โดยอาศัยความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีส่วนทำให้มนุษย์เปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ เป็นอันมาก โดยเฉพาะการใช้เครื่องทุ่นแรงในการผลิตสินค้า ซึ่งมีผลให้ประเทศต่าง ๆ เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว กลายจากประเทศเกษตรกรรมเป็นประเทศอุตสาหกรรม ทำให้มนุษย์ซึ่งแต่ก่อนทำการผลิตสินค้าภายในครัวเรือน ต้องกลายเป็นลูกจ้างในโรงงาน อุตสาหกรรมหรือขายแรงงานแก่ผู้อื่น การผลิตสินค้าโดยใช้เครื่องจักร แม้จะได้ผลผลิตทีละมาก ๆ ในระยะเวลาอันสั้นก็ตาม แต่ก็ได้ทำลายงานศิลปะของมนุษย์ไปหมดสิ้น และทำให้โลกสูญสิ้นความสวยงามไปด้วย ประเทศที่เจริญทางอุตสาหกรรม งานศิลปะที่ใช้ฝีมือมนุษย์นับวันจะหมดไป ซึ่งเป็นผลให้จิตใจของมนุษย์แข็งกระด้าง ขาดความประณีต เพราะห่างไกลจากความสวยงามและสิ่งน่าพึงชมต่าง ๆ

อ่านต่อ >>>>>

<<< สารบัญ >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย