สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

สังคมวิทยา

<<< สารบัญ >>>

สถาบันทางสังคม

หน้าที่และความสำคัญของสถาบัน

มีดังต่อไปนี้

1) สถาบันทางครอบครัว

สถาบันทางครอบครัว คือ สถาบันที่ชายหญิงอยู่กินกันเป็นครอบครัวและเป็นสถาบันที่จะยังให้สังคมดำรงอยู่ได้ตลอดไป ยอมรับกันว่า สถาบันครอบครัวเป็นสถาบันพื้นฐานของสังคม ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมความสัมพันธ์ทางเพศ การมีบุตร การอบรมเลี้ยงดู ตลอดถึงการสร้างระบบเครือญาติ แต่เดิมมานั้น ครอบครัวทำหน้าที่เป็นสถาบันเบ็ดเสร็จ กล่าวคือ กิจกรรมทั้งปวงของบุคคลมีศูนย์กลางอยู่ที่ครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การแพทย์ การสังคมสงเคราะห์ ตลอดจนพิธีกรรมต่าง ๆ ในสมัยหลังจึงได้มีองค์การอื่น ๆ รับไปปฏิบัติแทนครอบครัว การอยู่กันเป็นครอบครัวมีระเบียบปฏิบัติซึ่งตั้งขึ้นเป็นแบบแผน เป็นมาตรฐานในเรื่องการสืบพันธุ์และการเลี้ยงดูบุตร ครอบครัวปฏิบัติหน้าที่ทั้งในด้านเฉพาะตัวและหน้าที่ของสังคมเป็นส่วนรวม และหน้าที่อันสำคัญยิ่งของครอบครัว คือ การสร้างคน การที่สังคมจะดำรงอยู่ได้ ก็ต้องมีสมาชิกมาแทนที่สมาชิกเดิมที่ล้มตายไป การสร้างคนจึงเป็นสถาบันขึ้นมา เรียกว่า สถาบันครอบครัว

ประวัติความเป็นมาของครอบครัว

ดร.ไพฑูรย์ เครือแก้ว ได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของครอบครัวไว้ โดยแบ่งออกเป็น 4 ระยะด้วยกัน คือ

- ระยะที่หนึ่ง เรียกว่า ระยะเสน่หาก่อนแต่งงาน (Prenuptial stage) ซึ่งเริ่มตั้งแต่หนุ่มสาวพบปะกันครั้งแรก มีการถูกตาต้องใจกันไปจนกระทั่งถึงการตกลงปลงใจจนแต่งงาน ระยะนี้เป็นระยะที่เรียกว่า “Romantic Love” ซึ่งเป็นความรักที่มีความเสน่หาทางกายและใจอย่างรุนแรงห้ามกันไม่ได้

- ระยะที่สอง เรียกว่า ระยะข้าวใหม่ปลามัน (Nuptial stage) ระยะนี้เริ่มตั้งแต่คู่หนุ่มสาวร่วมชีวิตกันตั้งแต่ต้นจนเข้าหอแต่งงาน จนกระทั่งถึงตอนเริ่มจะคลอดบุตรคนแรก เป็นระยะของความหวานชื่น หรือระยะนี้ อาจเรียกว่า “Honey Moon” เป็นระยะเริ่มครอบครัว เริ่มอยู่ด้วยกัน มีความรับผิดชอบทุก ๆ ด้าน นับตั้งแต่แต่งงาน อาชีพ ความเป็นไปในครอบครัว การสร้างอนาคต

- ระยะที่สาม เรียกว่า ระยะมีบุตรสืบสกุล (Child bearing stage) เริ่มจากหญิงเริ่มต้นตั้งครรภ์จนกระทั่งคลอดบุตรคนแรก ซึ่งระยะนี้ถือว่าทวีความรู้สึกสัมพันธ์ต่อกันยิ่งขึ้น รวมทั้งความตื่นเต้นดีใจ การมีบุตรถือว่าเป็นผลิตผลของความสัมพันธ์ ทางเพศ ในระยะนี้ เป็นระยะที่ต่างฝ่ายต่างหันเหความสนใจและความชื่นชมมาสู่บุตรของตน ซึ่งจะทำให้พ่อแม่มีความกระตือรือร้นในการประกอบภาระกิจของตน ตลอดจนสำนึกในความรับผิดชอบต่อชีวิตครอบครัวเพิ่มขึ้น

- ระยะที่สี่ เป็นระยะที่ลูก ๆ ได้พ้นอกพ่อแม่ (Maturity stage) เริ่มจากบรรดาลูก ๆ มีอายุโตพอสมควร พ้นภาระความรับผิดชอบของพ่อแม่แล้ว ภาระของ พ่อแม่ก็ย่อมลดน้อยลงไปด้วย พ่อแม่จะหันความสนใจมาสู่กันอีกครั้งหนึ่งและ หวนรำลึกถึงความสดชื่นแต่หนหลัง ทำให้เกิดความรักความเข้าใจห่วงใยต่อกันและ มีความหวังที่จะอยู่ร่วมกันตราบเท่าชีวิต โดยมีบุตรเป็นหลักและที่พึ่งของตน เมื่อยาม แก่เฒ่าด้วย

หน้าที่ของครอบครัว

หน้าที่อันสำคัญของครอบครัว พอจะแบ่งได้ดังต่อไปนี้

1. สร้างสรรค์สมาชิกใหม่ (Reproduction) เพื่อให้สังคมอยู่ได้ เพราะสังคมจะต้องมีสมาชิกใหม่แทนที่สมาชิกเดิมที่ตายไป

2. บำบัดความต้องการทางเพศ (Sexual Gratification) ซึ่งออกมาในรูปของการสมรส เป็นการลดปัญหาทางเพศบางอย่าง เช่น การข่มขืนกระทำชำเรา การสมรสเป็นสิ่งจำเป็นในสังคมที่มีการจัดระเบียบ

3. เลี้ยงดูผู้เยาว์ให้เจริญเติบโตขึ้นในสังคม (Maintenance of Immature Children or Raising the Young) เราจะเห็นได้ว่า ไม่มีสถาบันใดทำหน้าที่ได้ดีกว่าสถาบันนี้ เพราะความรักความอบอุ่น เด็กจะหาที่อื่นใดเสมือนครอบครัวนั้นยากมาก พ่อแม่ส่วนใหญ่มีความรักลูก ย่อมประคับประคองเลี้ยงดูลูกของตนเป็นอย่างดี แม้จะยากดีมีจนก็ตาม ครอบครัวจะเลี้ยงดูบุตรตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเติบโต

4. ให้การอบรมสั่งสอนแก่เด็กให้รู้จักระเบียบของสังคม (Socialization) ครอบครัวเป็นแหล่งการอบรมเบื้องต้นที่มีอิทธิพลต่อเด็กมาก เป็นสถาบันที่เตรียมเด็กให้ออกไปเผชิญกับสิ่งที่พ้นออกไปจากบ้าน ครอบครัวช่วยอบรมเด็กให้รู้จักกฎเกณฑ์ คุณค่า แบบของความประพฤติ ฯลฯ สอนให้เด็กปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมในสังคม

5. กำหนดสถานภาพ (Social Placement) เราได้ชื่อสกุลจากครอบครัว ซึ่งส่วนมากก็เปลี่ยนได้ในเวลาต่อมาโดยเฉพาะเป็นหญิง แต่งงานแล้วก็เปลี่ยนตาม ชื่อสกุลของสามี สถานภาพที่ครอบครัวให้นี้ทำให้เรารู้ว่าเราเป็นใครอยู่กับคนกลุ่มไหน

6. ให้ความรักและความอบอุ่น (Affection) ครอบครัวเป็นแหล่งที่สมาชิกได้รับความรักความอบอุ่นอย่างบริสุทธิ์ใจ เป็นแหล่งที่ให้ประกันว่าจะมีคนที่เรารักและคนที่รักเราเสมอ เช่น ความรักของสามีภรรยา ความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก นอกจากนั้น ถ้าสมาชิกคนใดประสบกับความผิดหวัง ครอบครัวจะเป็นแหล่งให้กำลังใจและ ปลุกปลอบใจเพื่อให้สามารถผ่านอุปสรรคไปได้

2) สถาบันทางการศึกษา

ความหมายของการศึกษา

ตามความเห็นของ Aristotle ว่า “การศึกษา คือ การอบรมคนให้เป็นพลเมืองดีและดำเนินชีวิตด้วยการกระทำดี”

Roussean กล่าวว่า “การศึกษา หมายถึง การปรับตัวให้เหมาะสมกับโอกาสและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ”

John Locke กล่าวว่า “การศึกษาประกอบด้วยองค์ 3 คือ พุทธศึกษา จริยศึกษา และพลศึกษา”

John Dewey กล่าวว่า “การศึกษา หมายถึง กระบวนการแห่งการดำรงชีวิต มิใช่ว่าการเตรียมตัวเด็กเพื่อการดำรงชีวิตในวันข้างหน้า”

จากคำจำกัดความของนักปราชญ์เหล่านี้ พอจะอธิบายความหมายของ การศึกษาได้ว่า “การศึกษา คือ การส่งเสริมความเจริญงอกงามของบุคคลในทางร่างกาย สติปัญญา ความประพฤติ และสังคม เพื่อให้เขาสามารถปรับตัวให้เหมาะสมกับ สิ่งแวดล้อมและดำรงอยู่ได้ด้วยดี”

ฉะนั้น การศึกษาจึงมิใช่หมายความถึงเฉพาะการเรียนจบจากโรงเรียน เท่านั้น แต่ยังมีความหมายกว้างขวางครอบคลุมไปถึงการขจัดปัญหาที่อาจบังเกิดขึ้น ในชีวิต เพื่อให้ตนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคมด้วยความสุข การศึกษาจึงมีอยู่ ในทุกสถานที่และทุกกาล บุคคลที่มีการศึกษาดีนั้น ย่อมหมายถึง บุคคลที่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตในสังคม

รูปแบบของการศึกษา

เราอาจจะสรุปรูปแบบของการศึกษาออกได้เป็น 2 ประการ ดังต่อไปนี้

1. การศึกษาแบบอรูปนัย (Informal Education) ได้แก่ การเรียนรู้จาก การอบรมสั่งสอนของบิดามารดาและญาติพี่น้องในครอบครัว หรือการเลียนแบบจากเพื่อเล่นที่โตกว่าในกลุ่มเดียวกันจนกลายเป็นความรู้ความชำนาญถ่ายทอดสืบต่อกันมาแบบอรูปนัยและโดยมิได้ตั้งใจ เช่น เด็กเล็ก ๆ ทั่วไปย่อมมีความใกล้ชิดกับมารดา มากกว่าบุคคลอื่น มารดาจึงเป็นบุคคลแรกที่เลี้ยงดูและบำรุงรักษาบุตรตั้งแต่ยังเป็นทารก เป็นผู้สอนให้บุตรรู้จักการเดิน การพูด ตลอดจนอบรมความประพฤติและมรรยาทต่าง ๆ

ในสังคมที่ไม่มีผู้รู้หนังสือ หน้าที่การอบรมสั่งสอนและถ่ายทอดวิชาความรู้ตกเป็นภาระกิจของครอบครัว สถานฝึกอาชีพและสถาบันทางศาสนา ส่วนแนว การอบรมสั่งสอนนั้นก็สุดแต่ผู้ใหญ่จะเห็นสมควรว่า เหมาะสมประการใด โดยคำนึงถึงความนิยมหรือขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่นเป็นสำคัญ

2. การศึกษารูปนัย (Formal Education) ได้แก่ การศึกษาซึ่งตกเป็นหน้าที่ของกลุ่มบุคคลหรือตัวแทนของสังคม การศึกษาแบบนี้ได้เกิดขึ้นในสมัยที่มนุษย์รู้จักประดิษฐ์ตัวอักษร คิดค้นวิชาคำนวณ มีความก้าวหน้าทางเกษตรกรรม รู้จักใช้แร่ธาตุให้เป็นประโยชน์ ดังปรากฏในอารยธรรมโบราณอียิปต์ บาบิโลเนีย กรีก อินเดีย จีน และโรมัน แต่ในระยะเริ่มแรก การศึกษาแบบนี้มักจะจำกัดอยู่ในกลุ่มอภิสิทธิ์ชนหรือชนชั้นที่มั่งคั่งร่ำรวยเท่านั้น และการศึกษาก็เน้นถึงปรัชญา จริยศาสตร์ ศิลปะ วาทศิลป์ คณิตศาสตร์ พลศึกษา และการทหาร ซึ่งวิชาเหล่านี้ เห็นว่าเหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อชนชั้นปกครอง

การศึกษาแบบรูปนัยนี้ได้วิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ ดังเช่นปัจจุบันนี้ สังคมมีอุปกรณ์ที่ช่วยในการศึกษามากมาย เช่น มีหลักสูตรที่กว้างขวางและวิธีการสอนที่ ทันสมัย บุคคลผู้มีหน้าที่บริหารงานเกี่ยวกับการศึกษาก็ได้รับการศึกษาอบรมเป็นอย่างดี

ความมุ่งหมายของการศึกษา

เราพอสรุปความมุ่งหมายของการศึกษาออกได้เป็น 6 ประการ คือ
1. ส่งเสริมสุขภาพทั้งทางกายและจิตใจ
2. ส่งเสริมความรู้สามัญทั่วไป
3. ส่งเสริมความเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว
4. เตรียมตัวเพื่อชีวกิจ
5. สร้างคนให้เป็นพลเมืองดี
6. สร้างคนให้มีอัธยาศัยและมีความประพฤติที่ดีงาม

หน้าที่ที่สำคัญของสถาบันการศึกษา

เราอาจสรุปหน้าที่ของสถาบันการศึกษาได้เป็นข้อ ๆ ดังนี้

1. อบรมให้เรียนรู้ระเบียบแบบแผนของสังคม สอนให้สมาชิกในสังคมได้พัฒนาบุคลิกภาพ มีกิริยามรรยาท มีจริยธรรม คุณธรรม เคารพในสิทธิของผู้อื่น ปฏิบัติตามหน้าที่ของตน

2. อบรมให้สมาชิกได้เรียนรู้เกี่ยวกับอาชีพ เพื่อการดำรงชีวิตเพื่อเพิ่ม ผลผลิตในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การบริการ นอกจากสอนให้ผู้คนได้เรียนรู้ในการประกอบอาชีพแล้ว สถาบันการศึกษายังมีหน้าที่ในการพัฒนาอาชีพ ริเริ่มสร้างสรรค์อาชีพ เพื่อผลผลิตใหม่ที่จะสนองความต้องการของสังคม

3. จัดสรรตำแหน่งและกำหนดหน้าที่การงานให้แก่บุคคล เพื่อบุคคลได้เรียนรู้ในอาชีพใด มีความสามารถในทางใด ก็จะไปทำงานในอาชีพนั้น

4. ช่วยให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ในสังคม เมื่อการศึกษาเจริญก้าวหน้าขึ้น ก่อให้เกิดความรู้ แนวคิด เทคนิคใหม่ ๆ การค้นพบต่าง ๆ ทำให้เกิดการประดิษฐ์สิ่งของอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ และมีการพัฒนาสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

5. ช่วยให้สังคมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ผลจากการศึกษาอบรมให้เรียนรู้ระเบียบแบบแผน วัฒนธรรมเดียวกัน ยิ่งถ้ามีการใช้ภาษาเดียวกันในการติดต่อสื่อสาร จะทำให้เกิดความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน มีความผูกพันกันดีขึ้น

6. ช่วยให้เกิดการเลื่อนชั้นทางสังคม ในทุกสังคมย่อมประกอบด้วยชนชั้นและจากการมีชนชั้น ซึ่งจัดว่าเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมนั้น สมาชิกส่วนหนึ่งย่อมจะมีความต้องการเลื่อนชั้นทางสังคมและปัจจัยหนึ่งจะช่วยได้ ก็คือ การศึกษา เพราะ การศึกษาจะช่วยเพิ่มโอกาสในการได้รับตำแหน่งหน้าที่การงานที่สูงขึ้น มีเกียรติได้รับการยกย่อง

7. ช่วยพัฒนาบุคลิกภาพเฉพาะของสมาชิกจากการเรียนรู้ในวิชาต่าง ๆ เขาอาจสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือหลายเรื่องและกลายมาเป็นคุณสมบัติประจำตัวเขา เช่น ความรักในศิลปะและดนตรีหรือความซาบซึ้งในวรรณกรรม ความสนใจ ทางการเมือง ฯลฯ

3) สถาบันศาสนา

ความหมายของศาสนา

คำว่า “ศาสนา” มาจากศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Religion ซึ่งมาจากภาษาลาติน คำว่า Religare หรือ Religere ซึ่งแปลว่า การรวมเข้าด้วยกันระหว่างสิ่งหนึ่งกับ อีกสิ่งหนึ่ง โดยอธิบายว่า เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับอำนาจเหนือมนุษย์ (พระเจ้า)

ในทัศนะของชาวตะวันตก คำว่า “ศาสนา” ต้องมีลักษณะ ดังนี้
1. มีลักษณะความเชื่อที่ว่า พระเจ้าเป็นผู้สร้างโลกและสรรพสิ่งในโลก
2. มีลักษณะความเชื่อว่า คำสอนต่าง ๆ มาจากพระเจ้า
3. มีหลักความเชื่อในคำสอนโดยไม่คำนึงถึงข้อพิสูจน์ แต่อาศัยอานุภาพของพระเจ้าเป็นเกณฑ์
4. มีหลักยอมมอบตนด้วยความจงรักภักดีต่อพระเจ้า

ตามข้อตกลงของกลุ่มผู้วิจัยและเชื่อถือตามโครงสร้างพื้นฐานจิตใจของประชาชนชาวไทยสาขาปรัชญา สภาวิจัยแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2506 กำหนดว่า ศาสนาต้องประกอบด้วยลักษณะดังต่อไปนี้
1. มีศาสดาผู้ตั้ง
2. มีหลักคำสอน
3. มีศาสนิก
4. มีพิธีกรรม
5. มีศาสนสถาน
6. มีสัญลักษณ์

หน้าที่ของสถาบันศาสนา

หน้าที่ของสถาบันทางศาสนานั้น มีทั้งสนองความต้องการเฉพาะบุคคลและต่อสังคม หน้าที่ของศาสนาที่มีต่อเฉพาะบุคคล เน้นที่ให้ความมั่นคงในชีวิตและมีความหมายเกี่ยวกับสิ่งต่อไปนี้ 1. เป็นปัจจัยช่วยให้เกิดความสงบทางจิตใจและนำไปสู่สุขภาพจิตที่ดี อันจะมีผลต่อสุขภาพร่างกายด้วย 2. ให้ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยจากความกลัวและปลอดจากความวิตกกังวล 3. ให้พลังใจ เพราะเชื่อว่า มีสิ่งที่จะให้ความช่วยเหลือเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดกิจกรรมทั้งปวง ทำให้มีโอกาสเอาชนะความลำบาก อุปสรรคต่าง ๆ ได้ 4. เป็นปัจจัยช่วยให้คนจัดระเบียบชีวิตและมีโอกาสประสบความสำเร็จและความสุขสูงสุดได้

หน้าที่ของศาสนาต่อสังคมนั้น มีดังต่อไปนี้
1. ช่วยในการควบคุมสังคมและจัดระเบียบสังคม
2. กำหนดศีลธรรมของสังคม
3. ช่วยสร้างค่านิยมและบรรทัดฐานของสังคม
4. ยึดเหนี่ยงสังคมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

4) สถาบันทางการเมืองการปกครอง

ความหมายของการปกครอง การปกครอง คือ การใช้อำนาจอธิปไตยในการบริหารรัฐ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความสงบสุขแห่งรัฐนั้น

ความหมายของรัฐ รัฐเป็นชุมชนทางการเมืองที่มีอธิปไตย อิสระภาพ มีอำนาจบริหารภายในรัฐและยังมีอำนาจต่อต้านอำนาจภายนอกที่เข้ามาเกี่ยวข้องก้าวก่ายภายในรัฐนั้น ๆ

องค์ประกอบของรัฐ คือ

- ประชากรที่มีจำนวนพอสมควรและอาศัยอยู่ในดินแดนที่แน่นอน
- ดินแดนอันมีอาณาเขตแน่นอนมั่นคง
- รัฐบาลเป็นหน่วยงานกำหนดนโยบายปกครองและนำนโยบายที่มีอยู่ ไปใช้ให้ได้ผล

รูปแบบของการปกครอง

รูปแบบของการปกครองพอจะแยกได้เป็น 2 รูปแบบ ดังนี้

1. การปกครองแบบเผด็จการ หมายถึง การปกครองที่กำหนดและจำกัดอำนาจอธิปไตยของรัฐโดยบุคคลหรือคณะบุคคลที่เข้ามาดำเนินการบริหารรัฐนั้น ๆ แบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือ

1.1 แบบอัตตาธิปไตย (Autocracy) เป็นการปกครองที่ผูกขาดการมีการใช้อำนาจอธิปไตยไว้ที่บุคคลคนเดียวและผู้เผด็จการมักอ้างงานหรือประโยชน์ของรัฐเป็นสิ่งสำคัญเหนือกว่าความสำคัญของศักดิ์ศรีและคุณค่าของมนุษย์ เช่น ราชาธิปไตย และฟาสซิสม์

1.2 แบบคณาธิปไตย (Oligarchy) เป็นการปกครองจากกลุ่มคนที่มีและใช้อำนาจอธิปไตยแบบผูกขาดโดยคณะบุคคล เช่น อภิชนาธิปไตย และคอมมิวนิสต์

2. การปกครองแบบประชาธิปไตย หมายถึง การปกครองที่อำนาจอธิปไตยมาจากประชาชนโดยประชาชนและเพื่อประชาชน แบ่งออกได้ดังนี้

2.1 ประชาธิปไตยแบบบริสุทธิ์หรือโดยตรง (Pure Democracy) สำหรับรัฐที่มีประชากรมาก ๆ จึงต้องพยายามให้ประชาชนส่วนใหญ่มีโอกาสปกครองตนเองเต็มที่ ด้วยการเลือกผู้แทนเข้าไปมีอำนาจตัดสินใจแทนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยแบ่งออกเป็น 2 ระบบ คือ

1) ระบบรัฐสภา ผู้แทนราษฎรใช้อำนาจโดยทางรัฐสภา เพื่อเลือกคณะรัฐบาลขึ้นมาบริการรัฐและควบคุมการดำเนินงานของรัฐบาล

2) ระบบประธานาธิบดี ประชาชนเลือกตั้งประธานาธิบดีหรือผู้แทนราษฎรเลือกประธานาธิบดีขึ้นมาเป็นผู้นำทางการเมืองของรัฐ ดำเนินการบริหารรัฐ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจประธานาธิบดี และศาล แยกจากกันและเท่าเทียมกัน

หน้าที่ของสถาบันการปกครอง

1. เพื่อระงับข้อขัดแย้งระหว่างบุคคล ความขัดแย้งมักจะเกิดขึ้นอยู่เสมอในสังคมมนุษย์ ซึ่งอาจจะเนื่องมาจากความแตกต่างระหว่างคุณค่าหรือจุดหมายปลายทางหรืออาจจะเกิดจากพฤติกรรมที่ขัดต่อสังคมจนกระทั่งเป็นอันตรายต่อบุคคลอื่น ๆ

2. เพื่อคุ้มครองบุคคลให้ปลอดภัย พ้นจากการละเมิดใด ๆ และได้รับหลักประกันในสิทธิเสรีภาพ

3. รักษาความสงบเรียบร้อยส่งเสริมความมั่นคงและสวัสดิการทางสังคมโดยวิธีบัญญัติกฎหมายขึ้นใช้และควบคุมให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย

5) สถาบันทางเศรษฐกิจ

ความหมาย “เศรษฐกิจ” เป็นเรื่องของการครองชีพหรือมาตรฐานการครองชีพของมนุษย์หรือเป็นเรื่องการเป็นอยู่ของมนุษย์ในสังคม

ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้คำนิยามคำว่า “เศรษฐกิจ” หมายถึง งานเกี่ยวกับการผลิต การจำหน่ายจ่ายแจก และการบริโภคใช้สอยต่าง ๆ ของชุมชน

สถาบันเศรษฐกิจมีเป้าหมายอยู่ที่การอยู่ดีกินดีของประชาชน ดังนั้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงเกี่ยวข้องกับกรรมวิธีที่จะก่อให้เกิดความมั่งมี การอยู่ดีกินดี หรืออย่างน้อยก็เพื่อการมีกินมีใช้ของประชาชน กรรมวิธีที่ดำเนินการมักขึ้นอยู่กับปรัชญาทางเศรษฐกิจของผู้มีบทบาทอำนาจหน้าที่ทางเศรษฐกิจของสังคมนั้น ๆ เพื่อจะกำหนดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจควรจะดำเนินไปในรูปแบบใด จะให้ประชาชนมีสิทธิในการดำเนินการผลิตเอง มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน รัฐจะเข้าควบคุมหรือปล่อยให้ เอกชนดำเนินงานอย่างเสรี ฯลฯ เหล่านี้ เป็นวิธีการซึ่งเป้าหมาย คือ การมีกินมีใช้

ระบบเศรษฐกิจ

ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งพอจะจำแนกออกได้เป็น 3 ระบบใหญ่ ๆ ดังนี้

1. เศรษฐกิจแบบทุนนิยม (Capitalism) เป็นระบบเศรษฐกิจที่ยึดถือปรัชญาที่ว่า ประชาชนควรมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินต่าง ๆ รัฐเปิดโอกาสให้เอกชน ลงทุนประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เปิดโอกาสให้ประชาชนมีเสรีภาพในการผลิตและ แข่งขันกันอย่างเสรี

เศรษฐกิจแบบทุนนิยมเน้นในเรื่องการใช้เงินตราแลกเปลี่ยนและ การเป็นเจ้าของกิจการหรือนายทุน ซึ่งนายทุนนั้น คือ ประชาชน มิใช่รัฐบาล

ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ประชาชนจะมีกรรมสิทธิ์ได้นั้น รวมทั้งถนนหนทาง โรงเรียน ระบบสื่อสารไปรษณีย์ ฯลฯ

2. เศรษฐกิจแบบสังคมนิยม (Socialism) ระบบเศรษฐกิจแบบนี้ยังคง ยอมรับสิทธิในการถือครองกรรมสิทธิ์ของประชาชนอยู่ แต่มีลักษณะที่แตกต่างไปจากระบบทุนนิยม คือ กิจกรรมหลักทางเศรษฐกิจ เชน อุตสาหกรรมพื้นฐานและปัจจัย การผลิต รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติ เป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาลที่จะดำเนินการ เพื่อสนองความต้องการของประชาชน นอกจากนั้น กิจกรรมพื้นฐานที่รัฐไม่ได้ ดำเนินการเอง เช่น การขนส่ง การสื่อสาร การอุตสาหกรรมบางประเภทที่จำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตของสาธารณชน รัฐบาลจะเป็นฝ่ายกำหนดกฎเกณฑ์และตรวจตราเพื่อให้เจ้าของหรือผู้รับสัมปทานดำเนินตาม

3. เศรษฐกิจระบบคอมมิวนิสต์ (Communism) เป็นระบบเศรษฐกิจที่มีปรัชญาว่า ไม่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคล ทรัพย์สินทั้งหมดเป็นของรัฐ จุดมุ่งหมายก็เพื่อให้มีการแบ่งสรรปันส่วนความร่ำรวย การอยู่ดีกินดีอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีใครมีสิทธิพิเศษ รัฐเป็นผู้ดำเนินการในการผลิตทั้งหมดเพื่อประชาชนทั้งมวล

หน้าที่ของสถาบันเศรษฐกิจ

หน้าที่สำคัญของสถาบันเศรษฐกิจมีดังนี้ คือ

1. บำบัดความต้องการทางเศรษฐกิจ เช่น มีการผลิต การแบ่งเป็นวัตถุหรือบริการที่มนุษย์มีความต้องการบริโภค

2. ให้ความสะดวกแก่มนุษย์ในการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เช่น ระบบเงินเชื่อ การใช้เงินตราจัดให้มีการแบ่งงานตลอดระบบผลกำไร ค่าจ้าง และดอกเบี้ย

3. พัฒนาและสร้างความเจริญก้าวหน้าในทางเศรษฐกิจ เพื่อความอุดมสมบูรณ์และความมั่นคงในด้านนี้แก่สมาชิกในสังคม

4. ช่วยเหลือในการบริโภคให้เป็นไปได้อย่างเพียงพอและทั่วถึงให้ มากที่สุด

6) สถาบันนันทนาการ

ความหมายคำว่า นันทนาการ หมายถึง ที่คนเราใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม เช่น การชมภาพยนต์ การเล่นกีฬา การทำงานอดิเรกที่ตนชอบ หรือการร่วมพัฒนาชุมชน เป็นต้น

“นันทนาการ” ในความหมายทางสังคมศาสตร์ หมายถึง “กิจกรรมใดที่บุคคลเข้าร่วมทำเพื่อใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ด้วยความสมัครใจและเมื่อกระทำแล้วเกิดความสุขกายสบายใจสนุกสนานร่าเริง”

กล่าวได้ว่า สถาบันการนันทนาการมีบทบาทสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อประโยชน์ในการพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนในรูปของการกีฬาและการบันเทิงในสังคม

อ่านต่อ  >>>>>

<<< สารบัญ >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย