สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

เศรษฐศาสตร์และการเมือง

อภิชัย พันธเสน

เศรษฐศาสตร์และการเมือง (Economics and Politics) หมายถึง ความสัมพันธ์ระหว่างวิชาเศรษฐศาสตร์และการดำเนินการทางการเมือง โดยที่วิชาเศรษฐศาสตร์หมายถึงวิชาที่ว่าด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ที่มีเป้าหมายที่ต้องการให้มนุษย์ในฐานะที่เป็นปัจเจกชนบรรลุซึ่งอรรถประโยชน์สูงสุด หรือถ้าหากเป็นสังคมก็คือทำให้สังคมได้รับสวัสดิการสูงสุด แต่ถ้าหากเป็นพุทธเศรษฐศาสตร์ก็จะมีเป้าหมายที่จะให้มนุษย์มีความ สงบสุข ถ้าหากเป็นสังคมก็คือทำให้สังคมมีศานติสุข ส่วนการเมืองเป็นเรื่องของกระบวนการ ที่พยายามดำเนินการให้ได้มาซึ่งอำนาจโดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจในการตัดสินใจ หรือใช้อำนาจ ในการตัดสินใจเพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุประสงค์ที่ต้องการ การเมืองในที่นี้คือกระบวนการ หรือกิจกรรมที่ต้องมีการลงมือกระทำไม่ใช่แนวคิดทางทฤษฎี ดังนั้นเศรษฐศาสตร์และการเมือง จึงเป็นการนำเอาความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ไปผสมกับกิจกรรมทางการเมือง เพื่อให้เกิด การเปลี่ยนแปลงตามแนวทางการวิเคราะห์ของวิชาเศรษฐศาสตร์ โดยไม่ปล่อยให้เกิดเป็นพลังขับเคลื่อนจนแนวคิดดังกล่าวเป็นความจริงในที่สุด เพราะพลังดังกล่าวกว่าจะก่อตัวและขับเคลื่อนได้อาจจะต้องใช้เวลานานมาก จนไม่ทันที่จะป้องกันหรือตั้งรับปัญหาที่เกิดขึ้นได้

ดังนั้นสิ่งที่ผมจะนำเสนอในวันนี้จึงมิใช่เศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ (Economics and Political Science) ถึงแม้จะมีความเกี่ยวพันกันอยู่บ้างและก็ไม่ใช่เศรษฐกิจการเมือง (Political Economy) ผมได้ใช้คำว่า “เศรษฐกิจการเมือง” โดยตั้งใจเพราะในประเทศไทยเราแปลว่าเศรษฐศาสตร์การเมือง แต่ผมเห็นว่า คำว่า Economy ควรแปลว่าเศรษฐกิจมากกว่าเศรษฐศาสตร์ ที่ว่าไม่ใช่เศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ก็เพราะไม่ได้เอาวิชาเศรษฐศาสตร์ไปผสมผสานกับ วิชารัฐศาสตร์ ซึ่งผมมีความรู้อยู่ไม่มากและก็ไม่ได้กล่าวถึงเศรษฐกิจการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องเศรษฐกิจที่มีผลต่อกิจกรรมหรือความสัมพันธ์ทางการเมือง หรือในทางกลับกัน ดังนั้นตรงนี้จึงขอให้ ท่านผู้ฟังได้แยกแยะระหว่างคำจำกัดความที่ฟังดูแล้วเหมือนจะมีความหมายใกล้เคียงกัน ให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน

สิ่งที่ผมจงใจจะอภิปรายในประเด็นที่ผมเรียกว่า เศรษฐศาสตร์และการเมืองนั้น ก็เพราะเห็นว่านักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ถึงแม้บางครั้งจะได้มีประสบการณ์ที่เกิดจากปฏิบัติจริง แต่มีความรู้ความเข้าใจในฐานะเป็นวิชาการแขนงหนึ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ควรจะมีความรู้ และมีความเข้าใจน้อยมากในอดีตที่ผ่านมาในฐานะที่เป็นตัวเนื้อหาทางวิชาการที่ไม่รวมเอาเรื่อง การปฏิบัติจริง ทั้งนี้เพราะในอดีตนักเศรษฐศาสตร์ถูกสอนให้มีความทะนงตัวว่าเป็นนักวิชาการบริสุทธิ์ หรือเป็นมืออาชีพที่มีหน้าที่ในการนำเอาความรู้หรือหลักการที่วิเคราะห์ได้จากการนำทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มาวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ในเชิงทฤษฎีในลักษณะที่เป็นตรรกะ ทางคณิตศาสตร์ หรือนำเอาหลักฐานเชิงประจักษ์ (empirical evidence) มาใช้ประกอบเป็นทฤษฏีหรือความเชื่อเพื่อนำไปเป็นข้อเสนอให้นักการเมืองใช้เพื่อการตัดสินใจ



นักเศรษฐศาสตร์ถูกสอนว่าไม่ควรจะยุ่งกับนักการเมือง การตัดสินเป็นเรื่องของนักการเมืองที่จะต้องทำหน้าที่ในฐานะผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากประชาชนให้มีหน้าที่ ในการตัดสินใจ โดยที่นักเศรษฐศาสตร์มีสถานะภาพเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ได้รับอำนาจหน้าที่ ให้ทำเช่นนั้น ส่วนการตัดสินใจของนักการเมืองนั้นมีความหมายต่อไปอีกว่า การตัดสินใจดังกล่าวก็ควรจะเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ เพราะในที่สุดนักการเมืองได้รับการเลือกมาจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ นักการเมืองจึงจะต้องนึกถึงผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ เพื่อใช้ประกอบในการตัดสินใจ ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนี้นักเศรษฐศาสตร์ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องห่วงใยการทำหน้าที่ของนักการเมือง เพราะการคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ อยู่แล้ว ถึงแม้จะใช้คำที่ต่างกันของนักเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่าสวัสดิการของสังคมสูงที่สุดนั้น ก็น่าจะมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่าผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นส่วนใหญ่ ทั้งหมดนี้เป็นความจริงเมื่อวิเคราะห์จากหลักตรรกะที่เกิดจากระบบคิด แต่ทุกอย่างในโลกนี้มิได้เป็นไป ตามตรรกะโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจิตและพฤติกรรมของมนุษย์ ปัญหาจริงๆ มิใช่เกิดจากการที่มนุษย์ไม่มีตรรกะหรือวิธีคิดที่เป็นระบบ แต่ในความเป็นจริงมีปัจจัยมากมายที่เกี่ยวข้อง ที่เราไม่อาจเข้าใจหรือทราบได้ทั้งหมด นอกจากนั้นความสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆ ก็อาจจะ ไม่เป็นไปตามตรรกะตามที่มนุษย์คิด และที่สำคัญที่สุดซึ่งอาจจะไม่เป็นประเด็นท้ายที่สุดก็คือ ความจำกัดในความเข้าใจหรือสมองของมนุษย์แต่ละคนมีความแตกต่างกันและไม่สามารถ สร้างแบบจำลองที่เป็นต้นแบบ (prototype) มาอธิบายการตัดสินใจของมนุษย์ได้ อย่างดีที่สุด ก็อาจจะนำเอาปัจจัยที่สำคัญบางตัวมาประกอบการพิจารณา เป็นต้นว่าผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องของผู้ที่ตัดสินใจ ผลประโยชน์เฉพาะหน้าเมื่อเปรียบเทียบกับผลประโยชน์ในระยะยาวของผู้ที่ตัดสินใจ หรือผลประโยชน์ทางการเมืองของผู้ที่ตัดสินใจเทียบกับผลประโยชน์อื่นๆ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจจะเป็นปัจจัยที่สำคัญแต่ก็คงไม่สามารถครอบคลุมปัจจัยทุกปัจจัยที่เข้ามาอยู่ ในความคิดคำนึงของนักการเมืองที่นำมาใช้ในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ แต่ละเรื่อง

คำอธิบายที่นำเสนอมาทั้งหมดนี้มีวัตถุประสงค์เพียงประการเดียว คือต้องการชี้ให้เห็นว่าเพราะเหตุใดความคิดเห็นดีๆ ของนักเศรษฐศาสตร์ที่มีการนำเสนอในที่สาธารณะหรือแม้แต่ ได้นำเสนอต่อนักการเมืองโดยตรงเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจ กลับไม่มีผลอย่างที่นักเศรษฐศาสตร์คาดหวัง พร้อมกับข้อเสนอดังกล่าวนั้นได้หายไปกับสายลม

เมื่อปัญหาเป็นเช่นนี้จึงมีคำถามต่อมาว่านักเศรษฐศาสตร์ควรจะต้องทำอย่างไรบ้าง เพื่อให้ข้อเสนอของนักเศรษฐศาสตร์มีผลต่อการตัดสินใจทางการเมืองอย่างแท้จริง การศึกษาเรื่องนี้มีงานทางวิชาโดยนักเศรษฐศาสตร์เป็นจำนวนมากที่สนใจที่จะตอบคำถามนี้ ในคณะเศรษฐศาสตร์ก็มีปริญญานิพนธ์ของ ดร. พงษ์ธร วราสัย ที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Erasmus ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ศึกษาเรื่องนี้ สิ่งที่ผมจะบรรยายในวันนี้คงมิได้มีลักษณะเป็นวิชาการลึกซึ้งมากเท่ากับงานเขียนดังกล่าวของอาจารย์พงษ์ธร ด้วยเหตุผลสำคัญว่าเราไม่อาจแน่ใจว่าปัจจัย ที่นักเศรษฐศาสตร์เห็นว่านักการเมืองควรนำมาเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจประกอบกับตรรกะในทางคณิตศาสตร์ดังกล่าวนั้นสามารถใช้ได้จริงหรือไม่ เพราะข้อจำกัดอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว สามประการ นอกจากนั้นในเรื่องการตัดสินใจยังมีประเด็นในเรื่องจังหวะและโอกาส ซึ่งก็ได้ กลายมาเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลที่อาจจะช่วยให้นักการเมืองตัดสินใจในแนวทางที่นักเศรษฐศาสตร์ พึงประสงค์หรือไม่ จากลักษณะของเรื่องที่จะต้องนำมาพิจารณาประกอบมากมายดังกล่าว จึงเป็นประเด็นที่นักเศรษฐศาสตร์ควรจะต้องมีความรู้ในเรื่องเหล่านี้บ้างพอสมควรประกอบกับประสบการณ์ในตัวของนักเศรษฐศาสตร์เอง

ในส่วนที่เป็นความรู้นั้นอาจจะมีสื่อที่จะช่วยให้เกิดความรู้ดังกล่าวได้มากมาย แต่ส่วน ที่เป็นประสบการณ์นั้นเป็นส่วนที่ไม่สามารถถ่ายทอดกันได้โดยตรง แต่สามารถนำเสนอในรูปของ “ความรู้” ผ่านกรณีศึกษา ซึ่งเป็นประเด็นที่ผมสนใจจะแลกเปลี่ยนกับผู้ฟังในวันนี้ แต่ที่สำคัญ เป็นเบื้องต้น ตัวนักเศรษฐศาสตร์เองจะต้องเริ่มเข้าใจตั้งแต่ต้นว่าถ้าหากต้องการจะให้ความคิด ที่ตนเองคิดว่าเป็นความคิดที่ดีผ่านกระบวนการตัดสินใจเป็นนโยบาย ซึ่งนำไปสู่การปฏิบัติต่อไปและเป็นจริงได้ นอกจากความรู้ในวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ได้ร่ำเรียนมาโดยตรงแล้ว จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนมีความสามารถในการแสวงหาโอกาสและเวลาที่เหมาะสมด้วย แต่ถ้าหาก นักเศรษฐศาสตร์มีความรู้ถึงขั้นนั้นแล้วจะเปลี่ยนใจไปเป็นนักการเมืองเองเสียเลย แทนที่จะเป็น ครูสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ก็ย่อมเป็นดุลพินิจของนักเศรษฐศาสตร์ผู้นั้นเอง ซึ่งก็มีอดีตอาจารย์ หลายคนในคณะนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นรวมทั้ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ในปัจจุบัน ในทางตรงกันข้ามระยะเวลาที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่านักเศรษฐศาสตร์ที่ไม่มีความรู้เรื่องการเมืองเลยย่อมไม่มีโอกาสที่จะช่วยให้ความรู้ดีๆ เหล่านั้นมีผลออกมาเป็นรูปนโยบายและนำไปสู่ การปฏิบัติได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบสารสนเทศที่มีความก้าวหน้ามาก แต่ขณะเดียวกัน ก็มี “เสียง” (noise) รบกวนเกิดขึ้นมากมายที่ทำให้ผู้ที่ได้ยินแต่ไม่ได้ตั้งใจฟังไม่สามารถจับประเด็นได้

เนื่องจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีประวัติอันยาวนานในการมี ส่วนร่วมในการเมืองของไทย จึงมีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วย “กรณีตัวอย่าง” ที่คณะเศรษฐศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยอื่นๆ ไม่มีหรือมีก็ไม่มากเท่า จึงน่าเสียดายหากไม่มีการนำ “กรณีศึกษา” เหล่านี้ มารื้อฟื้นเพื่อให้เกิดเป็น “ความรู้” อันจะช่วยให้เกิดมีการนำเอาความรู้ที่ได้ในฐานะที่เป็น “มืออาชีพ” ไปสู่นโยบายทางการเมืองที่มีการตัดสินและนำไปปฏิบัติให้บังเกิดผลอย่างแท้จริง

อ่านต่อ ---->>>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย