มันตรยานและสหัชยาน
บรรดานิกายต่างๆ ของพระพุทธศาสนา นิกายมันตรยาน
และสหัชยานนับว่ามีคนรู้จักน้อยที่สุด ทั้งนี้เพราะเป็นนิกายที่เกิดขึ้นในชั้นหลัง
อย่างไรก็ตามคำว่า มันตร ปรากฏอยู่แล้วในข้อความบางตอนของพระไตรปิฎก เช่นใน
อาฏานาฏิยสูตร แม้ว่าเราจะไม่ค่อยเห็นการใช้มนตร์กันในพระพุทธศาสนายุคแรกๆ
แต่เราก็อาจกล่าวได้อย่างไม่ผิดว่า เพราะมนตร์ในสมัยดั้งเดิมนั่นเอง
นิกายมนตรยานจึงเกิดขึ้น และเจริญคู่คี่มากันพระพุทธศาสนานิกายอื่นๆ เป็นเวลาช้านาน
แล้วจัดให้เป็นระบบและเรียกว่า ยาน ในกาลต่อมา ในสมัยแรกๆ
มันตรยานและสหัชยานสอนเรื่อง ความเจริญของจิตใจอันมีผลทางจิตวิทยา
คำสอนของนิกายทั้งสอนนี้มีลักษณะเฉพาะเจาะจง
และจเข้าใจได้ก็ด้วยทำให้เกิดประสบการณ์ขึ้นทันที
แต่ทำให้เราเข้าใจความแตกต่างระหว่างนิกายทั้งสองนั้นได้ยากเพราะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันเหลือเกิน
เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะทราบได้อย่างไรว่า มันตรยานคืออะไร
และหลักสำคัญของมันตรยานคืออะไร
เรื่องนี้มีคำอธิบายอย่างชัดเจนอยู่ในหนังสือของท่าน ปัทมะ การโป
จากคำอธิบายของท่านผู้นี้ ทำให้เราเห็นได้ชัดเจนว่า มันตรยานมุ่งต่อความสำเร็จ
ชนิดเดียวกับที่พระพุทธศาสนานิกายอื่นๆประสงค์ กล่าวคือ
การรวมบุคคลเข้ากับโพธิหรือความบริสุทธิ์สูงสุดของจิตใจ
แม้จะมีจุดมุ่งหมายเหมือนกัน แต่วิธีปฏิบัติแตกต่างกันเป็นอันมาก
การจะบรรลุโพธิได้ขึ้นอยู่กับความพยายามของบุคคลแต่ละคน จะทำแทนกันไม่ได้
แต่มีพิธีกรรมขั้นต้น บางประการที่ทำให้บุคคลเข้าถึงโพธิง่ายขึ้น
พิธีกรรมขั้นแรกนั้นก็คือ การถึงสรณะ และการสร้างโพธิจิต
(จิตที่น้อมไปเพื่อการตรัสรู้) ให้เกิดขึ้น
เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมที่จะปฏิบัติต่อไป การถึงสรณะนั้น
ก็คือการนับถือพระรัตนตรัยคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่ง
การนับถือนั้นไม่ได้ความว่า นับถือพระพุทธ พระสงฆ์ที่เป็นบุคคล
และพระธรรมที่เป็นคัมภีร์ แต่หมายถึงการนับถือพระรัตนตรัยโดยพระคุณ การถึงสรณะนี้
เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการตกลใจ
ที่จะบำเพ็ญเพียรให้ตรัสรู้เพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย
และการตกลงใจนั้เร่งเร้าให้เกิดการเปลี่ยนท่าทีเดิม
คือผู้ปฏิบัติจะเปลี่ยนจากการแสวงหาปัญญาธรรมดา ไปแสวงหาญาณทัสสนะ
ซึ่งจะเห็นตนเองและโลกโดยรอบด้าน ขั้นต่อไปก็คือ
การเพิ่มพูนพัฒนาความมุ่งหมายใหม่นี้ ให้เจริญโดยการทำสมาธิ ในการทำสมาธินั้น
การท่องมนตณืนับว่าเป็นสิ่งสำคัญในอันที่จะกำจัดกิเลสอสวะทั้งปวง คำว่า มนตร์
มีคำจำกัดความว่า การคุ้มครองจิตใจ
คือเป็นเครื่องป้องกันจิตใจไม่ให้ดำเนินไปนอกทาง
จึงนับว่าเป็นการช่วยเหลือในการทำสมาธิโดยตรง จิตใจของมนุษย์เรานั้นไม่ใช่ถูกครอบงำ
โดยภาพมายาทั้งภายในและภายนอกเท่านั้น หากแต่ถูกครอบงำด้วยคำพูดด้วย
อำนาจของคำพูดเป็นสิ่งที่มีผลต่อจิตใจมาก เพราะคำพูดเพียงไม่กี่คำไม่กี่พยางค์
ก็สามารถป้องกันไม่ให้ บุคคลลดความพยายามลงมา แสวงหาปัญญาเพียงขั้นธรรมดา
แม้ว่ามนตร์ตจะเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับอำนาจ ดังกล่าว
แต่การใชมนตร์แต่ละอย่างขึ้นอยู่กับจริต อัธยาศัย ของนักปฏิบัติแต่ละคน
วิธีปฏิบัตินี้ได้รับการปรับปรุงในนิกายมนตรยาน โดยใช้วิชาการมากที่สุด
ถัดจากพิธีนี้ก็ถึงพิธีให้ มณฑล ซึ่งเป็นพิธีที่ทำให้คุณธรรม
และปัญญาที่จำเป็นขั้นต้นบริบูรณ์ จิตวิทยาสมัยใหม่ได้ค้นพบคุณค่าตามธรรมชาติของ
มณฑล ว่าเป็นกระบวนการให้เกิดปัญญาได้
แต่พระพุทธศาสนายังก้าวเลยการค้นพบของจิตวิทยา สมัยใหม่ไปอีก
และแก้ปัญหาได้สมบูรณ์กว่าจิตวิทยา
เพราะพระพุทธศาสนาไม่แยกคนออกจากสิ่งแวดล้อมของเขา สิ่งแวดล้อมนั้น
ได้แก่เอกภพทั้งหมด ไม่ใช่เพียงสิ่งที่สังคมยอมรับเท่านั้น ในการบำเพ็ญ มณฑล นั้น
แต่ละขั้นตรงกับปารมิตา 6 คือ เสรีภาพ จริยธรรม ขันติ วิริยะ สมาธิ และปัญญา
นี้หมายความว่า การสร้าง มณฑล ขึ้นมีคุ่ณค่าเป็นอย่างมาก
เพราะมีผลต่อพฤติกรรมของคน มันตรยานก็เช่นเดียวกับมหายานนิกายอื่น ๆ
คือขัดแย้งอย่างรุนแรง กับพระพุทธศาสนาเถรวาท มันตรยานได้ตั้งจุดประสงค์
และอุดมคติไว้เป็นแบบปฏิฐาน (โพธิ) ส่วนเถรวาทตั้งไว้เป็นและนิเสธ (นิโรธ)
การปฏิบัติทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น เป็นการเตรียมไว้สำหรับขั้นสุดท้าย คือ
คุรุโยคะ ด้วยการบำเพ็ญคุรุโยคะนี้
บุคคลจะบรรลึงการรวมกันระหว่างตัวตนกับความจริงอันติมะ อย่างแบ่งแยกมิได้ คุรุโยคะ
เป็นข้อปฏิบัติที่แปลกที่สุดอย่างหนึ่ง และวิธีปฏิบัติก็ยุ่งยากสลับซับซ้อน
แม้ว่าตามความหมายที่แท้ คุรุก็คือ ตัวความจริงนั่นเอง
และแม้ความจริงจะพบในทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่พบในสิ่งสิ้นสุดที่คิดฝันเอา
ถึงกระนั้นคัมภีร์ของมันตรยานก็ยังคงเป็นความลับอยู่
นิกายที่ใกล้ชิดกับมันตรยานก็คือ สหัชยาน สหชะแปลว่าอะไร
ตามตัวอักษรแปละว่าเกิดรวมกัน ก็อะไรเล่าที่เกิดร่วมกัน ปัญหาข้อนี้
นักปราชญ์ชาวธิเบต และท่านมิลาเรปะได้ตอบไว้แล้ว ท่านอธิบายว่า
สิ่งที่เกิดร่วมกันนั้น ได้แก่ธรรมกายกับปัญญา นี่หมายความว่า
ธรรมกายกับปัญญาจะแบ่งแยกไม่ได้คือเอกภาพ เอกภาพนี้หมายความว่า สัจจะ
เป็นหนึ่งและแบ่งแยกมิได้ แต่บุคคลก็อาจใช้ปัญญา วิเคราะห์ แยกแยะออกไปได้
ดังนั้นเอกภาพแห่งจิต (ธรรมกาย) กับปัญญา
บุคคลจะบรรลุได้ก็ด้วยการบำเพ็ญเพียรจนได้ตรัสรู้ การที่เข้าใจว่า
เอกภาพนี้เป็นสมมุติฐานที่ตั้งขึ้นอย่างเลื่อนลอย เป็นความเข้าใจที่ผิด
เพราะการจะบรรลุความตรัสรู้นี้ได้ จำเป็นต้องทำสมาธิ การทำสมาธิ
ต้องอาศัยประสบการณ์โดยตรง และอาศัยการสังเกตว่า ปัญญาทำหน้าที่ร่วมไปกับอารมณ์
การที่จิตใจทำงานสองอย่างพร้อมกันจะทำให้เกิดกิเลสขึ้น
กิเลสนั้นจะปกคลุมจิตใจให้มืดมิด ภาวะการณ์ เช่นนี้จะละได้ก็ด้วยบำเพ็ญสมาธิ
ความสงบระงับไม่ใช่สิ่งที่บุคคลจะบรรลุได้ด้วยการแกล้งทำ
แต่จะบรรลุได้ด้วยความรู้แจ้งในกระบวนการของจิต
ความสงบระงับนั้นนับว่าเป็นรากฐานที่จำเป็นประการแรก ที่จะบำเพ็ญทางจิต
ให้สูงขึ้นไป เรายิ่งปฏิบัติตามวิธีนี้สูงขึ้นไปเพียงใด
เราก็จะเกิดความชำนาญขึ้นเพียงนั้น และญาณทัสสนะก็ยิ่งแจ่มชัดขึ้นเพียงนั้น
เพราะว่า สิ่งที่มาปิดบังปัญญาได้ถูกกำจัดให้หมดไป การบรรลุถึงขั้นนี้
ได้ต้องอาศัยการลงมือปฏิบัติเพียงแต่คิดหาเหตุผลหาได้ไม่
ทฤษฎีของมหายานว่าด้วยเอกภาพแห่งสังสารวัฏฏ์ กับนิพพาน
และเอกภาพแห่งกิเลสกับความตรัสรู้ จึงนับว่าเป็นทฤษฎีที่สำคัญมาก
สิ่งที่สหัชยานสอนไม่ใช่ระบบสร้างปัญญาเลย แต่เป็นการปฏิบัติวินัยอย่างเข้มงวด
บุคคลจะต้องปฏิบัติวินัยนั้น จนเกิดความรู้ขึ้นมาเอง
ข้อนี้ทำให้เราเข้าใจสหัชยานยาก และให้คำจำกัดความยาก ยิ่งกว่านั้น
สหัชยานได้ย้ำถึงการเข้าถึงความแท้จริงด้วยญาณทัสสนะ เราจึงเห็นได้ว่า
หน้าที่ของญาณทัสสนะนั้น ไม่ได้เป็นอันเดียวกันกับหน้าที่ของปัญญา
และยังเห็นด้วยว่าญาณทัสสนะกับปัญญาต่างกันโดยสิ้นเชิง
ทั้งมันตรยานและสหัชยาน มีหลักสำคัญอยู่ 4 ประการคือ
1
ทรรศนะเกิดมากจาประสบการณ์ (ทฤษฎี)
2 อบรมทรรศนะนั้นให้เกิดขึ้น (ภาวนา)
3 ปฏิบัติตามทรรศนะนั้น (จริยา)
4 การรวมบุคคลเข้ากับทรรศนะนั้น (ผล)
ผลของการปฏิบัตินี้ อาจเรียกได้ต่างๆกันว่า ความตรัสรู้
ความบริสุทธิ์แห่งจิตใจ หรือ พุทธภาวะ
มันตรยาน และสหัชยานมีอิทธิพลที่สุด ในธิเบตและมีหลักฐานอย่างเพียงพอว่า นิกายทั้งสองนี้ เป็นรากฐานของพระพุทธศาสนาแบบเซนด้วย อิทธิพลของนิกายทั้งสองที่มีมากอย่างน่าสังเกตนั้น เป็นเพราะสอนถึงธรรมชาติของมนุษย์ทั้งหมดว่า มนุษย์นั้นไม่ใช่เป็นเพียงสัตว์ที่ใช้ปัญญา แต่เป็นสัตว์ที่ใช้อารมณ์ด้วย และเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ในชีวิตประจำวัน คนเราใช้อารมณ์มากกว่าใช้ปัญญาหลายเท่า ดังนั้น ขณะที่นิกายมาธยมิก วิชญาณวาท ไวภาษิกะ และเสาตรานติกะ ซึ่งเป็นนิกายที่สร้างทฤษฎีให้เกิดปัญญา มีผู้สนใจเพียงศึกษาเท่านั้น นิกายมนตรญานและสหัชยาน ยังมีผู้ปฏิบัติอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ในพระพุทธศาสนาที่มีอยู่ในธิเบต ประเทศต่างๆแถบภูเขาหิมาลัย จีน และญี่ปุ่น ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของมันตรยาน และสหัชยานทั้งสิ้น
แม้ว่ามันตรยาน และสหัชยานไม่ใช่เป็นนิกายที่ติดอยู่กับหลักที่จำกัดอย่างแน่นหนา เหมือนนิกายไวภาษิกะ และวิชญาณวาท นิกายทั้งสองนั้นก็มีอิทธิพลอันยิ่งใหญ่ต่อพระพุทธศาสนาที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือ นิกายมันตรยานมีอิทธิพลในทางเข้าเร้าอารมณ์ให้เลื่อมใสง่าย และมีพิธีกรรมอันสวยสดงดงาม ส่วนสหัชยานมีอิทธิพลในด้านการปฏิบัติสมาธิอย่างลึกซึ้ง เพราะฉะนั้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า นักปราชญ์ที่เด่นๆ ในพระพุทธศาสนา เช่น ท่านอสังคะ ท่านศานติเทวะ ท่านติโลปา ท่านนาโรปา ท่านไมตรีปา ท่านเซอร์กลิงปา และคนอื่นๆจะไม่มีส่วนการสร้างนิกายทั้งสองนั้น
*** สภาการศึกษา มหามกุฎราชวิทยาลัย
หนังสือ พุทธศาสนประวัติ ระหว่าง 2500 ปีที่ล่วงแล้ว