ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ

พระราชกำหนด ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุน เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2541
เป็นปีที่ 53 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบัน การเงิน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 218 ของรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชกำหนดนี้เรียกว่า พระราชกำหนดให้อำนาจ กระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและ พัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541

มาตรา 2* พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

*[รก.2541/23ก/4/7 พฤษภาคม 2541]

มาตรา 3 ให้กระทรวงการคลังโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจ กู้เงินจากแหล่งเงินกู้ในประเทศในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อชดใช้ ความเสียหายและปรับโครงสร้างแหล่งเงินทุนของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนา ระบบสถาบันการเงินมูลค่าของการกู้เงินตามวรรคหนึ่งรวมกันต้องไม่เกินห้าแสนล้านบาท

มาตรา 4 ในการกู้เงินตามพระราชกำหนดนี้ นอกจากจะกู้ โดยทำเป็นสัญญากู้แล้ว ให้กระทรวงการคลังมีอำนาจกู้โดยการออกพันธบัตร หรือตราสารอื่นเป็นคราว ๆ ก็ได้ เงินที่ได้จากการกู้ตามวรรคหนึ่ง ให้นำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ ในการกู้ได้โดยไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง

มาตรา 5 อัตราดอกเบี้ย เงื่อนไข ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่าย การจัดการและวิธีการที่เกี่ยวกับการกู้เงินแต่ละคราว และระยะเวลาชำระ ต้นเงินคืน ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ

มาตรา 6 การกู้เงินแต่ละคราวต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันทำสัญญากู้หรือวันออกพันธบัตรหรือตราสารอื่น โดยระบุ จำนวนเงินกู้ อัตราดอกเบี้ย เงื่อนไข ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ระยะ เวลาชำระต้นเงินคืน และวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินกู้

มาตรา 7 ในกรณีที่กระทรวงการคลังเห็นสมควรปรับโครงสร้าง หนี้เงินกู้ของกระทรวงการคลังตามมาตรา 3 หรือขยายระยะเวลาชำระหนี้ หรือลดภาระหนี้เดิม ให้กระทรวงการคลังโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจกู้เงิน จากแหล่งเงินกู้ในประเทศเพื่อการดังกล่าวได้ ทั้งนี้ ให้นำความในมาตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 6 มาใช้บังคับโดยอนุโลม จำนวนเงินที่กู้ตามวรรคหนึ่งมิให้นำไปรวมเพื่อคำนวณวงเงินตาม มาตรา 3

มาตรา 8 ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในกระทรวงการคลัง เรียกว่า กองทุนเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อ การฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน มีวัตถุประสงค์เพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ ตามพระราชกำหนดนี้ กองทุนตามวรรคหนึ่งประกอบด้วย

(1) เงินกำไรสุทธิที่ธนาคารแห่งประเทศไทยนำส่งเป็นรายได้ตาม กฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทยในแต่ละปีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบ
(2) เงินรายได้จากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในจำนวนตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนดโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี
(3) ดอกผลของกองทุน ให้กระทรวงการคลังมีอำนาจหักเงินตามวรรคสอง (1) และ (2) เพื่อนำส่งกองทุนก่อนส่งเป็นรายได้แผ่นดินและมีอำนาจจ่ายเงินกองทุนเพื่อ ชำระคืนต้นเงินกู้ตามพระราชกำหนดนี้ การบริหารกองทุนให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวง การคลังกำหนดโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี

มาตรา 9 ให้ตั้งเงินรายจ่ายเพื่อชำระค่าดอกเบี้ยเงินกู้ตามพระราช กำหนดนี้ไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปี ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยนำส่งเงินเป็นรายได้ตามกฎหมายว่าด้วย วิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบของ เงินกำไรสุทธิที่ได้รับจากการประกอบการในแต่ละปี เพื่อชำระคืนดอกเบี้ยเงินกู้ ตามวรรคหนึ่ง การนำส่งเงินตามวรรคสอง ให้เริ่มนำส่งต่อเนื่องจากปีที่เสร็จสิ้นการ นำส่งตามมาตรา 8 วรรคสอง (1) เป็นต้นไป จนกว่าจะครบจำนวน ในการคำนวณจำนวนเงินที่จะต้องชำระคืนตามวรรคสอง มิให้คิดดอกเบี้ย จากยอดรายจ่ายค่าดอกเบี้ยเงินกู้ตามวรรคหนึ่ง

มาตรา 10 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการคลังมอบหมายมีอำนาจดำเนินการกู้เงินให้เป็นไปตาม พระราชกำหนดนี้

มาตรา 11 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตาม พระราชกำหนดนี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่ ประเทศไทยได้ประสบวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาอันมีผลกระทบ ต่อความมั่นใจในสถาบันการเงินและระบบการเงินของประเทศ ทำให้กองทุน เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินต้องนำเงินเข้าไปช่วยเหลือสถาบัน การเงินต่าง ๆ ที่ประสบปัญหาเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากกองทุนมีแหล่ง เงินทุนส่วนใหญ่เป็นเงินทุนระยะสั้น อัตราดอกเบี้ยสูงและมีจำนวนจำกัด จึงก่อให้เกิดปัญหาในการระดมเงินของกองทุนรวมทั้งมีผลกระทบต่ออัตรา ดอกเบี้ยในตลาดการเงินโดยทั่วไป ฉะนั้น เพื่อให้มีการจัดการเกี่ยวกับ ภาระทางการเงินที่รัฐบาลต้องช่วยเหลือทางการเงินแก่กองทุนอย่างเป็นระบบ จึงสมควรมีการปรับโครงสร้างแหล่งเงินทุนของกองทุนให้เหมาะสม โดยให้ อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่กองทุนและกำหนด วิธีการจัดการเกี่ยวกับการชำระคืนเงินกู้ให้ชัดเจน โปร่งใสและเป็นประโยชน์ โดยรวมมากที่สุด ซึ่งจะช่วยลดภาระการช่วยเหลือทางการเงินของรัฐและ แก้ไขการบิดเบือนในตลาดการเงินในประเทศ ตลอดจนทำให้อัตราดอกเบี้ย ในระยะต่อไปลดลง อันจะมีส่วนช่วยให้เกิดความมั่นใจของนักลงทุนจาก ต่างประเทศได้ทางหนึ่ง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการ แก้ไขปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจ และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็น เร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของ ประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย