ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ

พระราชกำหนด การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540

หน้า 3

ส่วนที่ 2
คณะกรรมการองค์การและการดำเนินงาน

มาตรา 11 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมการองค์การ เพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน ประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่ง ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้แทนกระทรวงการคลัง และกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสองคน เป็นกรรมการ และเลขาธิการเป็นกรรมการและ เลขานุการ ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน มิให้นำมาตรา 5 (2) แห่งพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับ กรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาใช้บังคับกับการดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

มาตรา 12 ผู้มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ต้องห้ามมิให้ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

(1) เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย
(2) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(3) เป็นข้าราชการการเมือง ที่ปรึกษาพรรคการเมือง กรรมการ บริหารพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง
(4) เป็นกรรมการหรือผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจในการจัดการของ สถาบันการเงิน
(5) เป็นหรือเคยเป็นลูกหนี้ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินตาม หลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดไว้

มาตรา 13 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี ในกรณีที่มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้ผู้ได้รับ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่ง ได้รับแต่งตั้งไว้แล้ว เมื่อครบกำหนดตามวาระดังกล่าวในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้น อยู่ในตำแหน่ง เพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับ หน้าที่ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน

มาตรา 14 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 13 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) รัฐมนตรีให้ออกเพราะบกพร่อง หรือไม่สุจริตต่อหน้าที่ หรือ หย่อนความสามารถ
(4) เป็นบุคคลล้มละลาย
(5) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(6) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษ สำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ

มาตรา 15 การประชุมคณะกรรมการองค์การต้องมีกรรมการ มา ประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการ คนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่ง ให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุม ออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด กรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียเป็นการส่วนตัวในเรื่องใด ห้ามมิให้เข้า ร่วมพิจารณาและออกเสียงลงคะแนนในเรื่องนั้น

มาตรา 16 คณะกรรมการองค์การมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและ ควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการขององค์การภายในขอบวัตถุประสงค์ตามมาตรา 7 อำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง

(1) กำหนดหลักเกณฑ์การเสนอและการพิจารณาแผนแก้ไขฟื้นฟูฐานะ ของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ
(2) กำหนดหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ที่ สุจริตของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ
(3) กำหนดวิธีการชำระบัญชีและขายทรัพย์สินของบริษัทที่ถูกระงับ การดำเนินกิจการที่ไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้
(4) กำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล เงินตอบแทน และ ค่าใช้จ่าย
(5) กำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง การเงิน ทรัพย์สิน และการบัญชี รวมทั้งการตรวจสอบและสอบบัญชีภายใน
(6) กำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารงานและการดำเนินกิจการ
(7) ปฏิบัติการอื่นใดเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราช กำหนดนี้ ให้คณะกรรมการองค์การประกาศหลักเกณฑ์ตาม (1) และ (2) โดยเปิดเผย

มาตรา 17 ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการโดยความ เห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เลขาธิการต้องสามารถปฏิบัติงานเต็มเวลาให้แก่องค์การ และ ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 12 มิให้นำมาตรา 9 (2) แห่งพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับ กรรมการและพนักงานรัฐวิสหากิจ พ.ศ. 2518 มาใช้บังคับกับการดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ

มาตรา 18 เลขาธิการมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการขององค์การ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ขององค์การ และตามนโยบายหรือ ข้อบังคับที่คณะกรรมการองค์การกำหนด ในกิจการขององค์การที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้เลขาธิการเป็น ผู้แทนขององค์การ และเพื่อการนี้เลขาธิการจะมอบอำนาจให้ตัวแทนหรือบุคคลใด กระทำกิจการเฉพาะอย่างแทนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการ องค์การกำหนด

มาตรา 19 ให้กรรมการได้รับประโยชน์ตอบแทนตามที่รัฐมนตรี กำหนด

มาตรา 20 เงินขององค์การให้นำมาใช้จ่ายได้เฉพาะเพื่อดำเนินการ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ขององค์การ และเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของ องค์การตามที่คณะกรรมการองค์การกำหนด รวมทั้งค่าตอบแทนต่าง ๆ ตามหมวดนี้

« ย้อนกลับ | หน้าถัดไป »

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย