ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ

พระราชบัญญัติ การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2522
เป็นปีที่ 34 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราช โองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดย คำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติการรับเด็ก เป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. 2522"

มาตรา 2* พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวัน นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป *

[รก.2522/พิเศษ/21พ./22 เมษายน 2522]

มาตรา 3 บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติ ไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้ พระราชบัญญัตินี้แทน

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้ "เด็ก" หมายความว่า ผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ "องค์การสวัสดิภาพเด็ก" หมายความว่า มูลนิธิ สมาคม หรือ องค์การที่ก่อตั้งขึ้นตามกฎหมายโดยมีวัตถุประสงค์ในการสงเคราะห์เด็กและ ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม "ศาล" หมายความว่า ศาลคดีเด็กและเยาวชนตามกฎหมายว่าด้วย การจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน หรือศาลจังหวัดในท้องที่ที่ไม่มีศาลคดีเด็ก และเยาวชน "พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการ ตามพระราชบัญญัตินี้ "อธิบดี" หมายความว่า อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ "คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการการรับเด็กเป็นบุตร บุญธรรม "รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 5 เพื่อคุ้มครองเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรม การขอรับเด็ก เป็นบุตรบุญธรรมและการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ให้เป็นไปตาม หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 6 ห้ามมิให้บุคคลใดนอกจากกรมประชาสงเคราะห์ ส่วนราชการที่กรมประชาสงเคราะห์มอบหมาย หรือองค์การสวัสดิภาพเด็ก ที่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีดำเนินการเพื่อให้มีการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

มาตรา 7 องค์การสวัสดิภาพเด็กที่ประสงค์จะดำเนินการเพื่อ ให้มีการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม จะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตจากอธิบดี หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการขอใบอนุญาต การอนุญาต และแบบใบอนุญาต ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 8 ในกรณีที่อธิบดีไม่อนุญาตให้องค์การสวัสดิภาพเด็กได้รับ ใบอนุญาตตามมาตรา 7 ให้อธิบดีแจ้งคำสั่งไม่อนุญาตพร้อมด้วยเหตุผลไปยัง องค์การสวัสดิภาพเด็กนั้นโดยไม่ชักช้า องค์การสวัสดิภาพเด็กมีสิทธิอุทธรณ์ คำสั่งดังกล่าวต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง คำสั่ง ของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด ในกรณีที่องค์การสวัสดิภาพเด็กซึ่งได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 7 แล้วฝ่าฝืนเงื่อนไขในการอนุญาต หรือกระทำการเป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือต่อสวัสดิภาพเด็ก อธิบดีมีอำนาจเพิกถอน ใบอนุญาตได้และให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 9 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า "คณะกรรมการ การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม" ประกอบด้วย อธิบดีเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนกรุงเทพมหานคร ผู้แทนกรมการปกครอง ผู้แทนกรมตำรวจ ผู้แทนกรมอัยการ และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งอีก ไม่เกินแปดคน ในจำนวนนี้ต้องเป็นสตรีไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง เป็นกรรมการ และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม เป็นกรรมการและ เลขานุการ

มาตรา 10 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ สองปี ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในระหว่างที่กรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นการ แต่งตั้งเพิ่มขึ้นหรือแต่งตั้งซ่อมให้ผู้ได้รับแต่งตั้งนั้น อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระ ที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งไว้แล้ว กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่พ้นจากตำแหน่ง อาจได้รับแต่งตั้งเป็น กรรมการอีกได้

มาตรา 11 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 10 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ (1) ตาย (2) ลาออก (3) เป็นบุคคลล้มละลาย (4) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (5) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษ สำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ

มาตรา 12 การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุม ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงเป็นองค์ประชุม ถ้าประธาน กรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็น ประธานในที่ประชุม การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่ง ให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุม ออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา 13 คณะกรรมการอาจตั้งคณะอนุกรรมการคณะหนึ่งหรือ หลายคณะเพื่อให้ปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่จะมอบหมายก็ได้ การประชุมของคณะอนุกรรมการให้นำมาตรา 12 มาใช้บังคับโดย อนุโลม

มาตรา 14 ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (1) ออกระเบียบ ข้อบังคับ และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการรับเด็กเป็น บุตรบุญธรรม เพื่อให้ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม องค์การ สวัสดิภาพเด็กที่ได้รับใบอนุญาต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติ (2) พิจารณา และมีมติในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (3) พิจารณาเรื่องที่มีปัญหาเกี่ยวกับการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม (4) ให้คำแนะนำในเรื่องการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมแก่ศูนย์ อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม องค์การสวัสดิภาพเด็กที่ได้รับใบอนุญาต และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 15 ให้ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมที่จัดตั้งขึ้น ในกรมประชาสงเคราะห์ ทำหน้าที่สำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ

มาตรา 16 เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจดังต่อไปนี้

(1) เข้าไปในสถานที่อยู่อาศัยของบิดามารดา ผู้ปกครอง ผู้ขอรับ เด็กเป็นบุตรบุญธรรม สถานสงเคราะห์ สถานรับเลี้ยงเด็ก สถานอันเป็นที่อยู่ ของเด็ก หรือสำนักงานขององค์การสวัสดิภาพเด็ก ในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้น ถึงพระอาทิตย์ตก เพื่อพบ สอบถาม สืบเสาะข้อเท็จจริง รวบรวมเอกสารและ หลักฐานต่าง ๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่และการเลี้ยงดูเด็ก หรือ ตรวจตราการปฏิบัติงานขององค์การสวัสดิภาพเด็ก กับมีอำนาจตรวจค้นสถานที่ ดังกล่าวเพื่อพบตัวเด็กหรือนำเด็กกลับคืน แต่การตรวจค้นเช่นว่านี้จะกระทำได้ ต่อเมื่อได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัด และได้แสดง หนังสือนั้นให้เจ้าของหรือผู้รักษาสถานที่ซึ่งจะค้นตรวจดูแล้ว ถ้าอธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดค้นด้วยตนเองไม่ต้องมีหนังสือ อนุญาตให้ค้น

(2) สั่งเป็นหนังสือให้บิดามารดา ผู้ปกครอง ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การสวัสดิภาพเด็ก ตลอดจนบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง มาให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสารหรือหลักฐานที่จำเป็นมาให้ หรือให้นำเด็กมาพบ หรือ มอบเด็กคืน

มาตรา 17 ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็น เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 18 ห้ามมิให้ผู้ใดพาหรือจัดส่งเด็กออกไปนอกราชอาณาจักร เพื่อวัตถุประสงค์ให้มีการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนด ในกฎกระทรวง

มาตรา 19 การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมต้องมีการทดลองเลี้ยงดู และได้รับอนุมัติให้รับเป็นบุตรบุญธรรมตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ *การทดลองเลี้ยงดูตามวรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ผู้ขอรับเด็ก เป็นบุตรบุญธรรมเป็นพี่ร่วมบิดามารดา พี่ร่วมบิดาหรือมารดา ทวด ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา หรือผู้ปกครองของผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม หรือเป็น บุคคลอื่นตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง *

[มาตรา 19 วรรคสอง แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2533]

มาตรา 20 ผู้ใดประสงค์จะขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ให้ยื่นคำขอ พร้อมทั้งหนังสือแสดงความยินยอมของบุคคลผู้มีอำนาจให้ความยินยอมในการ รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมาย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ที่กำหนดในกฎกระทรวง ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอมีภูมิลำเนาในกรุงเทพมหานครหรือต่างประเทศ ให้ยื่นต่ออธิบดี ส่วนในจังหวัดอื่นให้ยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัด

มาตรา 21 เมื่อได้รับคำขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอบคุณสมบัติและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ และความเหมาะสมของผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม บุคคลผู้มีอำนาจให้ความ ยินยอมในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม และเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรม

มาตรา 22 เมื่ออธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี ได้พิจารณารายงานการสอบคุณสมบัติและข้อเท็จจริงหรือเอกสารแสดง ข้อเท็จจริงตามมาตรา 20 และมาตรา 21 แล้ว ให้พิจารณาว่าจะควรให้ ผู้ขอรับเด็กไปทดลองเลี้ยงดูต่อไปหรือไม่ ถ้าอธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งว่าไม่ควรให้นำเด็กไปทดลอง เลี้ยงดู ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมอาจอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวโดยทำเป็น คำร้องยื่นต่อศาลภายในหกสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง คำสั่งของศาลชั้นต้น ให้เป็นที่สุด

มาตรา 23 เมื่ออธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งให้ทดลอง เลี้ยงดูเด็กแล้วให้ผู้ขอรับเด็กรับมอบเด็กที่จะรับเป็นบุตรบุญธรรมไปทดลอง เลี้ยงดูได้ การทดลองเลี้ยงดูต้องมีระยะเวลาไม่น้อยกว่าหกเดือน หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการทดลองเลี้ยงดูให้เป็นไปตามที่ กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 24 ในระหว่างการทดลองเลี้ยงดู ถ้าผู้ขอรับเด็กเป็นบุตร บุญธรรมถอนคำขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ให้ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม มอบเด็กคืนแก่บุคคลผู้มีอำนาจให้ความยินยอมในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ การมอบเด็กคืนตามวรรคหนึ่งต้องกระทำโดยไม่ชักช้า ให้อธิบดีหรือ ผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี มีคำสั่งเป็นหนังสือแจ้งให้ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตร บุญธรรมนำเด็กไปมอบคืนตามกำหนดโดยให้คำนึงถึงระยะทาง ความสะดวกใน การนำเด็กไปมอบ และสวัสดิภาพของเด็ก

| หน้าถัดไป »

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย