ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ
พระราชบัญญัติ การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๕๔๓
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๓
เป็นปีที่ ๕๕ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่าโดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของ บุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอม ของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้น ของรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๕๔๓"
มาตรา ๒* พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจา นุเบกษาเป็นต้นไป *
[รก.๒๕๔๓/๖๖ก/๑/๑๒ กรกฎาคม ๒๕๔๓]
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้ "รัฐมนตรี" หมายความว่า นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีแต่ละคนในคณะรัฐมนตรี "นิติบุคคล" หมายความว่า นิติบุคคลที่รัฐมนตรีมอบหมายให้จัดการหุ้นส่วนหรือ หุ้นของรัฐมนตรีตามพระราชบัญญัตินี้ "คณะกรรมการ ป.ป.ช." หมายความว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทุจริตแห่งชาติ
มาตรา ๔ รัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) ในห้างหุ้นส่วนจำกัด รัฐมนตรีเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้ไม่เกิน
ร้อยละห้าของทุนทั้งหมดของห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น
(๒) ในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด รัฐมนตรีเป็นผู้ถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ
ห้าของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ในบริษัทนั้น
มาตรา ๕ ในกรณีที่รัฐมนตรีประสงค์จะได้รับประโยชน์จากการเป็นหุ้นส่วนหรือ ผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทในส่วนที่เกินกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔ ให้รัฐมนตรี ดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) แจ้งเป็นหนังสือให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี และ
(๒) โอนหุ้นส่วนหรือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นให้นิติบุคคลภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันที่ได้แจ้งให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบ และเมื่อ ได้ดำเนินการโอนหุ้นส่วนหรือหุ้นให้กับนิติบุคคลใดแล้ว ให้รัฐมนตรีแจ้งเป็นหนังสือให้ประธาน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้โอนหุ้นส่วน หรือหุ้นนั้น
มาตรา ๖ นิติบุคคลที่รัฐมนตรีจะโอนหุ้นส่วนหรือหุ้นให้จัดการตามพระราชบัญญัติ นี้ได้ ต้องเป็นนิติบุคคลที่มีอำนาจจัดการกองทุนส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์ หรือนิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นตามกฎหมายโดยความเห็นชอบ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
มาตรา ๗ นิติบุคคลที่รัฐมนตรีจะโอนหุ้นส่วนหรือหุ้นให้จัดการได้ ต้องเป็น นิติบุคคลที่ไม่มีกรรมการหรือพนักงานซึ่งนิติบุคคลนั้นมอบหมายให้เป็นผู้จัดการในการบริหารและ จัดการหุ้นส่วนหรือหุ้นของรัฐมนตรีที่มีผลประโยชน์หรือมีส่วนได้เสียกับรัฐมนตรี คู่สมรสของ รัฐมนตรี เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ของรัฐมนตรี
มาตรา ๘ ในการโอนหุ้นส่วนหรือหุ้นของรัฐมนตรีให้กับนิติบุคคลตามพระราช บัญญัตินี้ ให้รัฐมนตรีโอนกรรมสิทธิ์ในหุ้นส่วนหรือหุ้นให้กับนิติบุคคลโดยเด็ดขาดแต่การจัดการ หรือการจัดหาผลประโยชน์เกี่ยวกับหุ้นส่วนหรือหุ้นของรัฐมนตรี ให้เป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญา จัดการหุ้นส่วนหรือหุ้นของรัฐมนตรี การโอนหุ้นส่วนหรือหุ้นที่มีภาระผูกพันใด ๆ อยู่ก่อนวันที่มีการโอน การโอนดังกล่าว ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าหนี้ตามภาระผูกพันนั้น และเจ้าหนี้ตามภาระผูกพันจะโต้แย้งการโอน ดังกล่าวมิได้
มาตรา ๙ สัญญาจัดการหุ้นส่วนหรือหุ้นของรัฐมนตรีต้องจัดทำตามแบบที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกาศกำหนดซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องดังต่อไปนี้
(๑) รายละเอียดเกี่ยวกับหุ้นส่วนหรือหุ้นของรัฐมนตรีที่จะโอนให้กับนิติบุคคล
(๒) รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการจำหน่ายจ่ายโอนหุ้นส่วนหรือหุ้น วิธีการจัดการ หุ้นส่วนหรือหุ้นและการจัดหาผลประโยชน์ในหุ้นส่วนหรือหุ้นที่รับโอน ซึ่งจะต้องไม่มีลักษณะเป็นการ กำหนดกรอบการจัดการหรือการจัดหาผลประโยชน์ที่รัฐมนตรีอาจครอบงำจัดการหรือการจัดหา ผลประโยชน์
(๓) ค่าตอบแทนและวิธีการจ่ายค่าตอบแทนในการจัดการหุ้นส่วนหรือหุ้น ถ้าหากมี (๔) ความรับผิดและข้อจำกัดความรับผิดในการจัดการหุ้นส่วนหรือหุ้น
(๕) การจ่ายผลประโยชน์ที่เกิดจากการจัดการหุ้นส่วนหรือหุ้น
(๖) วิธีการคืนหุ้นส่วนหรือหุ้นที่รับโอนและผลประโยชน์ที่เกิดจากการจัดการหุ้นส่วน หรือหุ้น ในการกำหนดแบบสัญญาจัดการหุ้นส่วนหรือหุ้นของรัฐมนตรี คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจกำหนดเงื่อนไขหรือขอบเขตของความตกลงที่รัฐมนตรีและนิติบุคคลจะมีสิทธิกระทำได้ไว้ด้วยก็ได้ การทำความตกลงเป็นประการอื่นนอกเหนือจากข้อกำหนดในสัญญาจัดการหุ้นส่วน หรือหุ้นของรัฐมนตรีตามแบบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดจะกระทำมิได้
มาตรา ๑๐ เมื่อรัฐมนตรีได้ดำเนินการโอนหุ้นส่วนหรือหุ้นให้กับนิติบุคคลแล้ว ให้นิติบุคคลนั้นรายงานการรับโอนหุ้นส่วนหรือหุ้น พร้อมทั้งส่งสำเนาของสัญญาจัดการหุ้นส่วน หรือหุ้นของรัฐมนตรีให้กับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้ลงนามในสัญญา ในการนี้ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. จัดให้มีการเปิดเผยสำเนาของสัญญานั้นให้ประชาชนทราบ ตามวิธีการที่เห็นสมควรโดยไม่ชักช้า
มาตรา ๑๑ ห้ามมิให้รัฐมนตรีกระทำการใดอันมีลักษณะเป็นการเข้าไปบริหาร ครอบงำ หรือออกคำสั่งเกี่ยวกับการจัดการหุ้นส่วนหรือหุ้นหรือการจัดหาผลประโยชน์ในหุ้นส่วน หรือหุ้น
มาตรา ๑๒ ห้ามมิให้นิติบุคคลยินยอมหรือดำเนินการด้วยวิธีการใด ๆ เพื่อให้ รัฐมนตรีมีโอกาสเข้าไปบริหาร ครอบงำ หรือออกคำสั่งเกี่ยวกับการจัดการหุ้นส่วนหรือหุ้นหรือการ จัดหาผลประโยชน์ในหุ้นส่วนหรือหุ้น หรือเปิดเผยต่อบุคคลใด ๆ ในลักษณะที่จะมีผลทำให้รัฐมนตรี ทราบถึงการบริหารหรือจัดการหุ้นส่วนหรือหุ้นที่รับโอนมาจากรัฐมนตรีผู้นั้น เว้นแต่เป็นการเปิดเผย ตามที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นการรายงานการประกอบกิจการตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
มาตรา ๑๓ ให้นิติบุคคลจัดทำบัญชีแสดงการจัดการหุ้นส่วนหรือหุ้นที่รับโอนจาก รัฐมนตรีและผลประโยชน์ที่ได้รับจากการจัดการหุ้นส่วนหรือหุ้นดังกล่าวแยกไว้ต่างหากจากบัญชี แสดงการประกอบกิจการของนิติบุคคล หุ้นส่วนหรือหุ้นที่นิติบุคคลรับโอนมาจากรัฐมนตรีและผลประโยชน์ที่ได้รับจากการ จัดการหุ้นส่วนหรือหุ้นดังกล่าวมิใช่ทรัพย์สินของนิติบุคคลที่เจ้าหนี้ของนิติบุคคลนั้นจะยึดหรืออายัด เพื่อบังคับชำระหนี้ทั้งในคดีแพ่งและคดีล้มละลายได้ เว้นแต่เจ้าหนี้ของนิติบุคคลนั้นมีสิทธิบังคับตาม ภาระผูกพันที่ติดกับหุ้นส่วนหรือหุ้นหรือผลประโยชน์ที่เกิดจากหุ้นส่วนหรือหุ้นดังกล่าวโดยตรง ให้นำความในวรรคสองมาใช้บังคับกับกรณีที่นิติบุคคลเลิกกิจการด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๑๔ ในการรับโอนและจัดการหุ้นส่วนหรือหุ้นของรัฐมนตรีตามพระราช บัญญัตินี้ ให้นิติบุคคลที่รับโอนหุ้นส่วนหรือหุ้นนั้นได้รับยกเว้นจากบทบัญญัติของกฎหมายใด ๆ ที่ห้ามมิให้นิติบุคคลนั้นเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทอื่นหรือที่มีการจำกัด จำนวนเงินในการรับจัดการทรัพย์สินของบุคคลอื่น ในกรณีที่มีกฎหมายจำกัดจำนวนหุ้นส่วนหรือหุ้นของนิติบุคคลในห้างหุ้นส่วนหรือ บริษัทอื่น มิให้นับจำนวนหุ้นส่วนหรือหุ้นที่ได้รับโอนมาจากรัฐมนตรี รวมทั้งผลประโยชน์ที่เกิดจาก หุ้นส่วนหรือหุ้นนั้นรวมเข้ากับจำนวนหุ้นส่วนหรือหุ้นที่นิติบุคคลนั้นจะพึงมีได้ในห้างหุ้นส่วนหรือ บริษัทอื่น
มาตรา ๑๕ ในกรณีที่นิติบุคคลที่รับโอนหุ้นส่วนหรือหุ้นของรัฐมนตรีเลิกกิจการ หรือล้มละลาย เมื่อรัฐมนตรีได้รับหุ้นส่วนหรือหุ้นและผลประโยชน์ที่เกิดจากการจัดการหุ้นส่วนหรือ หุ้นกลับคืนมาแล้ว ถ้ารัฐมนตรียังคงประสงค์จะได้รับประโยชน์จากหุ้นส่วนหรือหุ้นดังกล่าวต่อไป ให้รัฐมนตรีแจ้งความประสงค์ให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคืนหุ้นส่วนหรือหุ้นนั้น และดำเนินการโอนหุ้นส่วนหรือหุ้นนั้น ให้กับนิติบุคคลอื่นตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ในกรณีที่รัฐมนตรีได้รับโอนหุ้นส่วนหรือหุ้นเพิ่มขึ้นในระหว่างการดำรงตำแหน่ง เป็นรัฐมนตรี และมีส่วนเกินกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔ ถ้ารัฐมนตรียังคงประสงค์จะได้รับ ประโยชน์จากหุ้นส่วนหรือหุ้นดังกล่าวต่อไป ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๑๖ นิติบุคคลใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๐ หรือมาตรา ๑๓ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท
มาตรา ๑๗ รัฐมนตรีผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๑ หรือนิติบุคคลใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๒ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๑๘ ในกรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ให้ถือว่า กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ร่วมกระทำ ความผิดกับนิติบุคคล เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำของนิติบุคคลนั้นได้กระทำโดยตนมิได้ รู้เห็นหรือยินยอมด้วย
มาตรา ๑๙ ให้รัฐมนตรีซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ ใช้บังคับ
มาตรา ๒๐ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ชวน หลีกภัย
นายกรัฐมนตรี
______________________
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๒๐๙ ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้รัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไป ทั้งนี้ ตามจำนวน ที่กฎหมายบัญญัติ ในกรณีที่รัฐมนตรีผู้ใดประสงค์จะได้รับประโยชน์จากกรณีดังกล่าวต่อไปรัฐมนตรี ผู้นั้นแจ้งให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบภายในสามสิบวันนับแต่ วันที่ได้รับแต่งตั้ง และให้รัฐมนตรีผู้นั้นโอนหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าวให้นิติบุคคลซึ่ง จัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
ในการนี้ ห้ามมิให้รัฐมนตรีผู้นั้นกระทำการใดอันมีลักษณะเป็นการเข้าไปบริหารหรือ จัดการใด ๆ เกี่ยวกับหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราช บัญญัตินี้