ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ
พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พ.ศ. 2535
หน้า 3
หมวด 3
การบัญชีและการตรวจสอบ
_________
มาตรา 34 ให้มหาวิทยาลัยวางและรักษาไว้ซึ่งระบบบัญชีอันถูกต้อง แยกตามประเภทงานส่วนที่สำคัญ มีสมุดบัญชีลงรายการรับและจ่ายเงิน สินทรัพย์ และหนี้สินที่แสดงกิจการที่เป็นอยู่ตามความเป็นจริงและตามที่ควร ตามประเภท งานพร้อมด้วยข้อความอันเป็นที่มาของรายการนั้น ๆ และให้มีการตรวจสอบ บัญชีภายในเป็นประจำ
มาตรา 35 ให้มหาวิทยาลัยจัดทำงบดุลและบัญชีทำการ ส่งผู้สอบบัญชี ของมหาวิทยาลัยภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี
มาตรา 36 ให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีของ มหาวิทยาลัย และให้ทำการตรวจสอบรับรองบัญชีและการเงินทุกประเภทของ มหาวิทยาลัยทุกรอบปี
มาตรา 37 ให้ผู้สอบบัญชีมีอำนาจตรวจสอบสรรพสมุดบัญชีและ เอกสารหลักฐานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย เพื่อการนี้ให้มีอำนาจสอบถาม อธิการบดี รองอธิการบดี พนักงานและลูกจ้างของมหาวิทยาลัยและเรียกร้อง ให้ส่งสรรพสมุดบัญชีและเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยเป็นการ เพิ่มเติมได้ตามความจำเป็น
มาตรา 38 ให้ผู้สอบบัญชีทำรายงานผลการสอบบัญชีและการเงิน เสนอต่อสภามหาวิทยาลัยภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชีเพื่อสภา มหาวิทยาลัยเสนอต่อรัฐมนตรี ให้มหาวิทยาลัยเผยแพร่รายงานประจำปีของปีที่สิ้นไปนั้น แสดงบัญชี งบดุลและบัญชีทำการที่ผู้สอบบัญชีรับรองว่าถูกต้องแล้ว พร้อมทั้งแสดงผลงาน ของมหาวิทยาลัยในปีที่ล่วงมาและแผนงานที่จะจัดทำในปีต่อไป ภายในหนึ่งร้อย ห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี
หมวด 4
การกำกับและดูแล
________
มาตรา 40 บรรดาเรื่องที่มหาวิทยาลัยจะต้องเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี ตามความในพระราชบัญญัตินี้ ให้รัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ
หมวด 5
ตำแหน่งทางวิชาการ
________
มาตรา 41 คณาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมีตำแหน่งทางวิชาการ ดังนี้
(1) ศาสตราจารย์
(2) รองศาสตราจารย์
(3) ผู้ช่วยศาสตราจารย์
(4) อาจารย์
คุณสมบัติ ประเภท หลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้งและถอดถอน คณาจารย์ประจำตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
มาตรา 42 อธิการบดีโดยความเห็นชอบของสภาวิชาการ อาจ แต่งตั้งผู้ซึ่งมีคุณสมบัติเหมาะสมและมิได้เป็นคณาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัย เป็นรองศาสตราจารย์พิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ และอาจารย์พิเศษได้ โดยคำแนะนำของคณบดีหรือหัวหน้าหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะ เทียบเท่าสำนักวิชา คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้งรองศาสตราจารย์พิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ และอาจารย์พิเศษ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของ มหาวิทยาลัย
มาตรา 43 ศาสตราจารย์พิเศษนั้น จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งโดยคำแนะนำของสภามหาวิทยาลัย คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการแต่งตั้งศาสตราจารย์พิเศษ ให้เป็นไป ตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
มาตรา 44 ศาสตราจารย์ซึ่งมีความรู้ความสามารถและความชำนาญ พิเศษและพ้นจากตำแหน่งไปโดยไม่มีความผิด สภามหาวิทยาลัยโดยคำแนะนำ ของสภาวิชาการอาจแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณในสาขาวิชาที่ ศาสตราจารย์ผู้นั้นมีความเชี่ยวชาญเพื่อเป็นเกียรติยศได้ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งศาสตราจารย์เกียรติคุณ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
มาตรา 45 บุคคลใดได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งหรือได้รับ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์พิเศษ ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ รองศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์พิเศษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์
หรือผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ ตามความในหมวดนี้ ให้มีสิทธิใช้ตำแหน่งทาง วิชาการดังกล่าวเป็นคำนำหน้านาม เพื่อแสดงวิทยฐานะได้ตลอดไป การใช้คำนำหน้านามตามความในวรรคหนึ่งให้ใช้อักษรย่อดังนี้
(1) ศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์พิเศษ หรือศาสตราจารย์เกียรติคุณ ใช้อักษรย่อ ศ.
(2) รองศาสตราจารย์ หรือรองศาสตราจารย์พิเศษ ใช้อักษรย่อ รศ.
(3) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ หรือผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเศษ ใช้อักษรย่อ ผศ.
หมวด 6
ปริญญาและเครื่องหมายวิทยฐานะ
________
มาตรา 47 มหาวิทยาลัยมีอำนาจให้ปริญญาในสาขาวิชาที่มีการสอน ในมหาวิทยาลัย การกำหนดให้สาขาวิชาใดมีปริญญาชั้นใด และจะใช้อักษรย่อสำหรับ สาขาวิชานั้นอย่างไร ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
มาตรา 48 สภามหาวิทยาลัยอาจออกข้อบังคับให้ผู้สำเร็จการศึกษา ชั้นปริญญาตรีได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง หรือปริญญาตรีเกียรติ นิยมอันดับสองก็ได้
มาตรา 49 สภามหาวิทยาลัยอาจออกข้อบังคับกำหนดให้มี ประกาศนียบัตร บัณฑิต อนุปริญญา และประกาศนียบัตรสำหรับสาขาวิชาใด ได้ดังนี้
(1) ประกาศนียบัตรบัณฑิต ออกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาในสาขา วิชาหนึ่งสาขาวิชาใดภายหลังที่ได้รับปริญญาแล้ว
(2) อนุปริญญา ออกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรในสาขา วิชาหนึ่งสาขาวิชาใดก่อนถึงขั้นได้รับปริญญาตรี
(3) ประกาศนียบัตรออกให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาเฉพาะวิชา
มาตรา 50 มหาวิทยาลัยมีอำนาจให้ปริญญากิตติมศักดิ์แก่บุคคลซึ่งสภา มหาวิทยาลัยเห็นว่าทรงคุณวุฒิสมควรแก่ปริญญานั้น ๆ แต่จะให้ปริญญาดังกล่าว แก่คณาจารย์ประจำผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยหรือกรรมการสภา มหาวิทยาลัยในขณะนั้นไม่ได้ชั้น สาขาของปริญญา และวิธีการให้ปริญญากิตติมศักดิ์ ให้เป็นไปตาม ข้อบังคับของมหาวิทยาลัย มาตรา 51 มหาวิทยาลัยอาจกำหนดให้มีครุยวิทยฐานะหรือเข็ม วิทยฐานะเป็นเครื่องหมายแสดงวิทยฐานะของผู้ได้รับปริญญา ประกาศนียบัตร บัณฑิต อนุปริญญา และประกาศนียบัตร และอาจกำหนดให้มีครุยประจำตำแหน่ง กรรมการสภามหาวิทยาลัย ครุยประจำตำแหน่งผู้บริหาร หรือครุยประจำ ตำแหน่งคณาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยก็ได้ การกำหนดลักษณะ ชนิด ประเภท และส่วนประกอบของครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะและครุยประจำตำแหน่ง ให้ทำเป็นข้อกำหนดของมหาวิทยาลัยโดย ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งจะใช้ใน โอกาสใด โดยมีเงื่อนไขอย่างใด ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย มาตรา 52 สภามหาวิทยาลัยอาจกำหนดให้มีตรา เครื่องหมาย หรือ สัญญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย หรือส่วนงานในมหาวิทยาลัยก็ได้โดยทำเป็นข้อกำหนด และประกาศในราชกิจจานุเบกษา สภามหาวิทยาลัยอาจออกข้อบังคับกำหนดให้มีเครื่องแบบ เครื่องหมาย หรือเครื่องแต่งกายนักศึกษาได้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
หมวด 7
บทกำหนดโทษ
______
บทเฉพาะกาล
______
มาตรา 54 ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ และเงิน งบประมาณของสำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับ โครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ไปเป็นของมหาวิทยาลัย วลัยลักษณ์ ตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 55 ระหว่างที่ยังมิได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้ง เลือกหรือเลือกตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยตาม มาตรา 14 ให้สภามหาวิทยาลัยประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย ปลัดทบวงมหาวิทยาลัยเป็นอุปนายกสภามหาวิทยาลัย ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการ พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษา แห่งชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช และผู้ทรงคุณวุฒิที่รัฐมนตรีแต่งตั้ง จำนวนสี่คน เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย และรองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย คนหนึ่งที่ปลัดทบวงมหาวิทยาลัยมอบหมายเป็นกรรมการและเลขานุการ สภา มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ จนกว่าจะได้มีสภามหาวิทยาลัยตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งต้อง ไม่เกินสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา 56 ในวาระเริ่มแรก ให้มหาวิทยาลัยมีส่วนงาน ดังนี้
(1) สำนักงานอธิการบดี
(2) สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร
(3) สำนักวิชาเทคโนโลยีทรัพยากร
(4) สำนักวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
(5) สำนักวิชาวิทยาการจัดการ
(6) สำนักวิชาวิทยาศาสตร์
(7) สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
(8) สำนักวิชาศิลปศาสตร์
(9) สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์
(10) สถาบันวิจัยและพัฒนา
(11) ศูนย์คอมพิวเตอร์
(12) ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
(13) ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา
(14) ศูนย์บริการการศึกษา
(15) ศูนย์บริการวิชาการ
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
อานันท์ ปันยารชุน
นายกรัฐมนตรี
_______________________________
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจาก ในปัจจุบันการจัดให้มีการศึกษาระดับอุดมศึกษายังไม่เพียงพอแก่ความต้องการ ของประชาชนและโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดให้มีสถาบันอุดมศึกษาในส่วน ภูมิภาคยังมีจำนวนจำกัด ทำให้การกระจายโอกาสทางการศึกษาและการ กระจายการพัฒนาไปสู่ภูมิภาคและชนบทกระทำได้ไม่เต็มที่ เพื่อแก้ไขปัญหา ดังกล่าวรวมทั้งให้สอดคล้อง สนองตอบต่อแนวทางการพัฒนาประเทศที่มุ่ง กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ และเห็นสมควรจัดตั้งมหาวิทยาลัย วลัยลักษณ์ขึ้นในจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นมหาวิทยาลัยภูมิภาคของรัฐ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
« ย้อนกลับ |