ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ

พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2541

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2541
เป็นปีที่ 53 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยมหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย รามคำแหง พ.ศ. 2541"

มาตรา 2* พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

*[รก.2541/24ก./1/12 พฤษภาคม 2541]

มาตรา 3 ให้ยกเลิก

(1) พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2514
(2) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 185 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2515
(3) พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2521

มาตรา 4 ให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2514 เป็นมหาวิทยาลัยรามคำแหงตามพระราช บัญญัตินี้ และเป็นนิติบุคคล

มาตรา 5 ในพระราชบัญญัตินี้ "มหาวิทยาลัย" หมายความว่า มหาวิทยาลัยรามคำแหง "สภามหาวิทยาลัย" หมายความว่า สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง "วิทยาเขต" หมายความว่า เขตการศึกษาของมหาวิทยาลัยที่มีคณะ สถาบัน สำนัก วิทยาลัย ศูนย์ หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า คณะ ตั้งแต่สองส่วนราชการขึ้นไปตั้งอยู่ในเขตการศึกษานั้น ตามที่สภามหาวิทยาลัย กำหนด "สภาคณาจารย์" หมายความว่า สภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยรามคำแหง

มาตรา 6 ให้รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยรักษาการตาม พระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกประกาศทบวงมหาวิทยาลัยเพื่อปฏิบัติการตาม พระราชบัญญัตินี้ ประกาศทบวงมหาวิทยาลัยนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

หมวด 1
บททั่วไป
_____

มาตรา 7 ให้มหาวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาและวิจัยแบบตลาดวิชา ที่ผู้ศึกษาสามารถศึกษาได้ด้วยตนเองโดยไม่จำต้องมาเข้าชั้นเรียนที่มหาวิทยาลัย จัดให้ ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน ทำการวิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

มาตรา 8 มหาวิทยาลัยอาจแบ่งส่วนราชการ ดังนี้

(1) สำนักงานอธิการบดี
(2) สำนักงานวิทยาเขต
(3) บัณฑิตวิทยาลัย
(4) คณะ
(5) สถาบัน
(6) สำนัก

มหาวิทยาลัยอาจให้มีวิทยาลัย ศูนย์ และส่วนราชการที่เรียกชื่อ อย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ในมาตรา 7 เป็นส่วนราชการในมหาวิทยาลัยอีกได้

สำนักงานอธิการบดีและสำนักงานวิทยาเขตอาจแบ่งส่วนราชการ เป็นกอง หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่ากอง บัณฑิตวิทยาลัย สถาบัน สำนัก ศูนย์ และส่วนราชการที่เรียกชื่อ อย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ อาจแบ่งส่วนราชการเป็นสำนักงานเลขานุการ กอง หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่ากอง คณะและวิทยาลัยอาจแบ่งส่วนราชการเป็นสำนักงานเลขานุการ ภาควิชา กอง หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าภาควิชา หรือกอง สำนักงานเลขานุการ กอง และส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น ที่มีฐานะเทียบเท่ากอง อาจแบ่งส่วนราชการเป็นงานหรือส่วนราชการที่เรียกชื่อ อย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่างาน

มาตรา 9 การจัดตั้ง การรวม และการยุบเลิกสำนักงานวิทยาเขต บัณฑิตวิทยาลัย คณะ สถาบัน สำนัก วิทยาลัย และศูนย์ หรือส่วนราชการที่เรียกชื่อ อย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา การแบ่งส่วนราชการเป็นสำนักงานเลขานุการ ภาควิชา และกอง หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่าภาควิชาหรือกอง ให้ทำเป็น ประกาศทบวงมหาวิทยาลัย

มาตรา 10 ภายใต้วัตถุประสงค์ตามมาตรา 7 มหาวิทยาลัยจะรับ สถาบันการศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันวิจัยอื่นเข้าสมทบในมหาวิทยาลัยก็ได้ และมีอำนาจ ให้ปริญญา อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรชั้นใดชั้นหนึ่งแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจาก สถาบันสมทบนั้นได้ การรับเข้าสมทบหรือยกเลิกการสมทบซึ่งสถาบันการศึกษาชั้นสูงหรือ สถาบันวิจัย ให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย และให้ทำเป็นประกาศทบวง มหาวิทยาลัย การควบคุมสถาบันการศึกษาชั้นสูงหรือสถาบันวิจัยที่เข้าสมทบใน มหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มาตรา 11 นอกจากเงินที่กำหนดไว้ในงบประมาณแผ่นดิน มหาวิทยาลัยอาจมีรายได้ ดังนี้

(1) เงินผลประโยชน์ ค่าธรรมเนียม ค่าปรับ และค่าบริการต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย
(2) เงินและทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้แก่มหาวิทยาลัย
(3) รายได้หรือผลประโยชน์ที่ได้มาจากการใช้ที่ราชพัสดุซึ่ง มหาวิทยาลัยปกครองดูแล หรือใช้ประโยชน์
(4) รายได้หรือผลประโยชน์อื่น ๆ

ให้มหาวิทยาลัยมีอำนาจในการปกครองดูแล บำรุงรักษา ใช้และ จัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย ทั้งที่เป็นที่ราชพัสดุตามกฎหมาย ว่าด้วยที่ราชพัสดุและที่เป็นทรัพย์สินอื่น

รายได้ของมหาวิทยาลัยรวมทั้งเบี้ยปรับที่เกิดจากการดำเนินการ ตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตาม กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ เว้นแต่เบี้ยปรับ ที่เกิดจากการผิดสัญญาลาศึกษาและเบี้ยปรับที่เกิดจากการผิดสัญญาซื้อทรัพย์สินหรือ สัญญาจ้างทำของที่ดำเนินการโดยใช้เงินงบประมาณ

มาตรา 12 บรรดาอสังหาริมทรัพย์ที่มหาวิทยาลัยได้มาโดยมีผู้อุทิศ ให้หรือได้มาโดยการซื้อหรือแลกเปลี่ยนจากรายได้ของมหาวิทยาลัยตั้งแต่วันที่ พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ไม่ถือเป็นที่ราชพัสดุและให้เป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัย

มาตรา 13 บรรดารายได้และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยจะต้อง จัดการเพื่อประโยชน์ภายในขอบวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยตามมาตรา 7 เงินและทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้แก่มหาวิทยาลัยจะต้องจัดการตามเงื่อนไข ที่ผู้อุทิศให้กำหนดไว้ และต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย

มาตรา 14 ผู้มีสิทธิเข้าศึกษาชั้นปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยต้องมี คุณสมบัติตามที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด และต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้

(1) จบหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า
(2) เป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือลูกจ้างในหน่วยงาน ของรัฐ ซึ่งได้ปฏิบัติงานติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี และมีความรู้สอบไล่ได้ชั้น มัธยมศึกษาตอนต้นหรือเทียบเท่า
(3) เป็นผู้ซึ่งสภามหาวิทยาลัยได้พิจารณาแล้วเห็นสมควรให้รับเข้า ศึกษาได้

ทั้งนี้ โดยไม่ต้องสอบคัดเลือก เว้นแต่ในกรณีจำเป็นสภามหาวิทยาลัย อาจจำกัดจำนวนผู้เข้าศึกษาและกำหนดให้มีการสอบคัดเลือกตามข้อบังคับของ มหาวิทยาลัยก็ได้

มาตรา 15 คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้าศึกษา การรับเข้าศึกษา และจำนวนนักศึกษาในชั้นที่สูงกว่าชั้นปริญญาตรีในมหาวิทยาลัย ให้เป็นไปตาม ข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

 | หน้าถัดไป »

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย