ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ
พระราชบัญญัติ กาชาด พ.ศ. 2499
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2499
เป็นปีที่ 11 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ประเทศไทยเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาเจนีวา เพื่อให้ผู้บาดเจ็บ และป่วยไข้ในกองทัพในสนามรบมีสภาวะดีขึ้น ลงวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2492 และแห่งอนุสัญญาเจนีวา เพื่อให้ผู้สังกัดในกองทัพ ขณะอยู่ในทะเลซึ่งบาดเจ็บ ป่วยไข้ และเรือต้องอับปาง มีสภาวะดีขึ้น ลงวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2492 และโดยที่เป็นการสมควร ที่จะตรากฎหมายเพื่ออนุวัตรตามบทแห่ง อนุสัญญาดังกล่าว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดั่งต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติกาชาด พ.ศ. 2499"
มาตรา 2* พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป *
[รก.2499/63/924/14 สิงหาคม 2499]
มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติกาชาด พุทธศักราช 2481 พระราชบัญญัติกาชาด (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2485 บรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้ว ในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัด หรือแย้ง กับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้บังคับ
มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้ "อนุสัญญา" หมายความว่า "อนุสัญญาเจนีวา เพื่อให้ผู้บาดเจ็บและ ป่วยไข้ในกองทัพในสนามรบมีสภาวะดีขึ้น ลงวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2492" และ "อนุสัญญาเจนีวา เพื่อให้ผู้สังกัดในกองทัพขณะอยู่ในทะเล ซึ่งบาดเจ็บ ป่วยไข้ และเรือต้องอับปาง มีสภาวะดีขึ้น ลงวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2492" แล้วแต่กรณี "เครื่องหมายกาชาด" หมายความว่า กากบาทสีแดงบนพื้นสีขาว "นามกาชาด" หมายความถึงคำ "กาชาด" หรือคำ "กาเจนีวา"
มาตรา 5 ให้ใช้เครื่องหมายกาชาด เป็นเครื่องหมายข องบริการ ทางการแพทย์ในกองทัพไทย ให้แสดงเครื่องหมายกาชาดไว้บนธงผ้าพันแขน และบนบรรดาเครื่องมือ ที่ใช้ในบริการทางการแพทย์ ตามที่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจทางทหารจะสั่ง
มาตรา 6 ให้สภากาชาดไทยใช้เครื่องหมายกาชาดได้ในยามสงบศึก ตามกฎหมายว่าด้วยสภากาชาดไทย
มาตรา 7 การใช้เครื่องหมายกาชาด ในยามสงบศึกเพื่อแสดง ให้รู้ว่าเป็นยานพาหนะที่ใช้เป็นรถพยาบาล และเพื่อหมายที่ตั้งสถานีบรรเทาทุกข์ ซึ่งใช้เฉพาะการรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บหรือป่วยไข้โดยไม่คิดมูลค่านั้น จะกระทำ ได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตพิเศษจากสภากาชาดไทยตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
มาตรา 8 ให้สภากาชาดไทย อยู่ในความควบคุมของรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงสาธารณสุข เว้นแต่ในเรื่องธรรมดาธุรกิจอันจะต้องดำเนิน ไปตามกฎ และข้อบังคับแห่งคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ และสันนิบาต สภากาชาด
มาตรา 9 ผู้ใดใช้เครื่องหมายกาชาดหรือนามกาชาดโดยไม่มีสิทธิ ตามอนุสัญญา หรือตามพระราชบัญญัตินี้ มี ความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน สามเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 10 ผู้ใดใช้เครื่องหมายหรือถ้อยคำใด ๆ เลียนแบบ เครื่องหมายกาชาดหรือนามกาชาด หรือคล้ายคลึงเครื่องหมายหรือนามเช่นว่านั้น จนอนุมานได้ว่าทำเพื่อหลอกลวงประชาชน มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน สามเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 11 ผู้ใดกระทำความผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา 9 หรือ มาตรา 10 ด้วยความมุ่งหมายทางการเงินหรือทางการพาณิชย์ใด ๆ ประทับ เครื่องหมายกาชาด หรือนามกาชาดบนสินค้าเพื่อขาย เป็นต้นว่า ฉลาก หรือ เครื่องหมายการค้า มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับ ไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 12 ให้นำมาตรา 9 มาตรา 10 หรือมาตรา 11 มาใช้ บังคับแก่เครื่องหมายซีกวงเดือนแดงบนพื้นสีขาว หรือสิงโตแดงและดวงอาทิตย์ บนพื้นสีขาวและแก่นาม "ซีกวงเดือนแดง" หรือ "สิงโตแดง และดวงอาทิตย์" โดยอนุโลม
มาตรา 13 ผู้ใ ดใช้เครื่องหมายตราแผ่นดินของสหพันธ์สวิส หรือ ใช้เครื่องหมายใด ๆ เทียมหรือเลียนหรือคล้ายคลึงตราแผ่นดินของสหพันธ์สวิส โดยมิชอบด้วยอนุสัญญา มีความผิดต้องระวางโทษตามที่ระบุไว้ในมาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 หรือมาตรา 12 แล้วแต่กรณี
มาตรา 14 บรรดาเครื่องหมายหรือนาม อันมิชอบตามที่บัญญัติไว้ ในมาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 12 หรือมาตรา 13 เงินที่เรี่ยไร ได้ตลอดจนสินค้าหรือสังหาริมทรัพย์อื่น ภาชนะหรือหีบห่อ บรรดาที่มีเครื่องหมาย หรือนามเช่นว่านั้นประทับไว้ ศาลจะริบเสียก็ได้
มาตรา 15 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรักษาการตาม พระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้นเมื่อได้ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี
______________________________________
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ประเทศไทย เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาเจนีวา เพื่อให้ผู้ บาดเจ็บและป่วยไข้ในกองทัพในสนามรบมี สภาวะดีขึ้น ลงวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2492 และแห่งอนุสัญญาเจนีวา เพื่อให้ ผู้สังกัดในกองทัพขณะอยู่ในทะเลซึ่งบาดเจ็บป่วยไข้และเรือต้องอับปาง มีสภาวะดีขึ้น ลงวันที่ 12 สิงหาคม 2492 และโดยที่เป็นการสมควรที่จะตรากฎหมายเพื่ออนุวัตตามบทแห่งอนุสัญญา ดังกล่าว