ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ
พระราชบัญญัติ กองทุนสนับสนุนการวิจัย พ.ศ. 2535
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2535
เป็นปีที่ 47 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราช โองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยกองทุนสนับสนุนการวิจัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุน การวิจัย พ.ศ. 2535"
มาตรา 2* พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป *[รก.2535/33/21/2 เมษายน 2535]
มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้ "การวิจัย" หมายความว่า การค้นคว้าโดยการทดลอง สำรวจ หรือการศึกษาตามหลักวิชาการเพื่อให้ได้ข้อมูล ความรู้ รวมทั้งการพัฒนา ผลิตภัณฑ์และกระบวนการต่าง ๆ อันจะสามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ทาง เศรษฐกิจ สังคม วิชาการ หรือเป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศในด้าน ต่าง ๆ ต่อไป "กองทุน" หมายความว่า กองทุนสนับสนุนการวิจัย "คณะกรรมการนโยบาย" หมายความว่า คณะกรรมการนโยบาย กองทุนสนับสนุนการวิจัย "คณะกรรมการประเมินผล" หมายความว่า คณะกรรมการติดตาม และประเมินผลการสนับสนุนการวิจัย "สำนักงาน" หมายความว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย "ผู้อำนวยการ" หมายความว่า ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุน สนับสนุนการวิจัย
มาตรา 4 ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งเรียกว่า กองทุนสนับสนุน การวิจัย ประกอบด้วยเงินและทรัพย์สินตามมาตรา 5 เพื่อเป็นทุนหมุนเวียน และใช้จ่ายในการสนับสนุนการวิจัยอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพในด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ การวิจัยเชิงนโยบาย และการวิจัยประยุกต์ต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และ วิชาการของประเทศ ให้กองทุนเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจการสนับสนุนการ ดำเนินงานวิจัยตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจกระทำการใด ๆ ที่จำเป็น หรือต่อเนื่องเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวนั้นได้ แต่จะต้องไม่ดำเนินการ วิจัยเอง ให้กองทุนมีสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพมหานครเรียกว่า สำนักงาน กองทุนสนับสนุนการวิจัย โดยให้เป็นหน่วยงานในกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี มีระบบการบริหารงานที่แตกต่างจากระบบราชการเพื่อให้เกิดความคล่องตัว ภายใต้นโยบายของคณะกรรมการนโยบาย
มาตรา 5 เงินและทรัพย์สินของกองทุนประกอบด้วย
(1) เงินที่รัฐบาลจัดสรรให้
(2) เงินอุดหนุนจากต่างประเทศรวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ
(3) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้มอบให้เพื่อสมทบกองทุน
(4) ดอกผลหรือรายได้ของกองทุน รวมทั้งผลประโยชน์จากทรัพย์สิน
ทางปัญญาและผลประโยชน์อื่น ๆ ที่เกิดจากการวิจัย
ให้โอนเงินงบประมาณกองทุนสนับสนุนการวิจัยตามมาตรา 26 (2)
แห่งพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2535 จำนวน
หนึ่งพันสองร้อยล้านบาทมาเป็นเงินของกองทุนสนับสนุนการวิจัย
มาตรา 6 การใช้จ่ายเงินกองทุนให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ นโยบายกำหนด โดยให้ใช้เพื่อกิจการดังต่อไปนี้
(1) การสนับสนุนการดำเนินงานวิจัย การติดตามประเมินผล การเผยแพร่ผลงานวิจัย
และการส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์
(2) การบริหารกองทุน
(3) การดำเนินงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
มาตรา 7 เงินกองทุนให้นำไปฝากไว้ที่ธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด เงินกองทุนส่วนหนึ่งอาจนำไปซื้อพันธบัตรของรัฐบาล ขององค์การ ของรัฐหรือของรัฐวิสาหกิจได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการนโยบาย กำหนด
มาตรา 8 รายได้ของกองทุนให้นำเข้าสมทบกองทุนโดยไม่ต้องส่ง กระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง หรือกฎหมายว่าด้วยวิธีการ งบประมาณ หรือกฎหมายอื่น
มาตรา 9 ให้มีคณะกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์สูงด้านการวิจัยซึ่ง คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็น รองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็น กรรมการโดยตำแหน่ง และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นที่มีความรู้และประสบการณ์สูง ด้านการวิจัยซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งไม่น้อยกว่าสี่คนและไม่เกินเจ็ดคนเป็น กรรมการ และผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการ ประธานกรรมการ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้อำนวยการต้อง ไม่เป็นข้าราชการการเมือง ที่ปรึกษา เจ้าหน้าที่หรือกรรมการของพรรค การเมือง
มาตรา 10 ประธานกรรมการและกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง อยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่รวมแล้วต้อง ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน ในกรณีที่กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ หรือ ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่ง แต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง แทนหรือเป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของ กรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว เมื่อครบกำหนดตามวาระดังกล่าวในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการ แต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ ให้กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ใน ตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับ หน้าที่
มาตรา 11 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 10 ประธานกรรมการและกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งเมื่อ (1) ตาย (2) ลาออก (3) คณะรัฐมนตรีให้ออก (4) เป็นบุคคลล้มละลาย (5) เป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (6) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษ สำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
มาตรา 12 การประชุมคณะกรรมการนโยบายต้องมีกรรมการมา ประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม ในการประชุมคณะกรรมการนโยบาย ถ้าประธานกรรมการไม่มา ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานใน ที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการและรองประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานใน ที่ประชุม การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการ คนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธาน ในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา 13 ให้ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการและ กรรมการได้รับเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่นตามระเบียบที่ คณะรัฐมนตรีกำหนด
มาตรา 14 คณะกรรมการนโยบายมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) กำหนดนโยบายและแผนการให้ทุนสนับสนุนการวิจัย
(2) กำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการการสนับสนุนการวิจัยของนักวิจัย และหน่วยงานของรัฐ
รัฐวิสาหกิจ และเอกชน
(3) กำหนดนโยบาย วางระเบียบ ข้อบังคับการบริหาร และควบคุม
ดูแลการดำเนินงานของสำนักงานในการบริหารกองทุน รวมทั้งแต่งตั้งและ
ถอดถอนผู้อำนวยการ
(4) กำหนดมาตรการการเผยแพร่และถ่ายทอดผลงานวิจัยไปยัง
ผู้ใช้และกำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งปันผลประโยชน์ของงานวิจัยที่เกิดขึ้น
(5) ระดมเงินทุนจากแหล่งต่าง ๆ เข้าสู่กองทุน
(6) วางระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการรับและจ่ายเงินกองทุน
(7) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินกองทุน
(8) อนุมัติงบประมาณประจำปีสำหรับการดำเนินงานของกองทุนและ สำนักงาน
(9) ควบคุมดูแลการรับและการใช้จ่ายเงินกองทุน
(10) ดำเนินงานอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนการวิจัย
(11) เสนอรายงานประจำปีต่อนายกรัฐมนตรี
มาตรา 15 ให้มีคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุน การวิจัย ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์สูงด้านการวิจัย ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกรมวิชาการเกษตร ผู้แทนกองบัญชาการทหารสูงสุด ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนสำนักงาน คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนกรมบัญชีกลาง ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นที่มีความรู้และประสบการณ์สูง ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ หรือมนุษยศาสตร์ ซึ่งคณะรัฐมนตรี แต่งตั้งไม่น้อยกว่าสี่คนและไม่เกินเก้าคน เป็นกรรมการ และผู้อำนวยการ เป็นกรรมการและเลขานุการ ให้นำมาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 12 และมาตรา 13 มาใช้ บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 16 คณะกรรมการประเมินผลมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุน
(2) รายงานผลการปฏิบัติงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการ นโยบาย
มาตรา 17 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมการ นโยบายและคณะกรรมการประเมินผล อาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณา และเสนอความเห็นในเรื่องหนึ่งเรื่องใด หรือมอบหมายให้ปฏิบัติการอย่างหนึ่ง อย่างใดได้ตามที่เห็นสมควร ให้นำมาตรา 12 และมาตรา 13 มาใช้บังคับกับการปฏิบัติหน้าที่ของ คณะอนุกรรมการตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม
มาตรา 18 ให้สำนักงานมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) บริหารกองทุนตามระเบียบ ข้อบังคับ และมติของคณะกรรมการ นโยบาย
(2) ศึกษา วิเคราะห์ และประเมินความต้องการการวิจัยในด้าน ต่าง ๆ
ของประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต และความเหมาะสมในการ ดำเนินการวิจัยในด้านต่าง ๆ
เพื่อสนองความต้องการนั้น เพื่อเสนอให้ คณะกรรมการนโยบายพิจารณา
(3) ประสานงานและสนับสนุนการวิจัย เผยแพร่ผลงานวิจัย และนำ ผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์
ตลอดจนประเมินผลของการดำเนินการดังกล่าว
(4) จัดทำรายงานและการบัญชีของกองทุน
(5) ปฏิบัติงานธุรการของคณะกรรมการนโยบาย และคณะกรรมการ ประเมินผล
(6) กระทำการอื่นใดเกี่ยวกับการสนับสนุนการวิจัยตามที่คณะกรรมการ
นโยบายและคณะกรรมการประเมินผลมอบหมาย ทั้งนี้ สำนักงาน จะไม่ดำเนินการวิจัยเอง
มาตรา 19 สำนักงานมีผู้อำนวยการเป็นผู้มีหน้าที่ควบคุมดูแลงาน โดยทั่วไปของสำนักงาน เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานของสำนักงาน และมีอำนาจ หน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) เสนอแผนรวมทั้งเป้าหมายของการสนับสนุนการวิจัยตามที่ได้รับ
มอบหมายต่อคณะกรรมการนโยบายเพื่อพิจารณา
(2) รายงานผลการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนรวมทั้งผลการดำเนินงาน
เผยแพร่และการนำไปใช้ประโยชน์ต่อคณะกรรมการนโยบายและคณะกรรมการ ประเมินผล
(3)เสนอรายงานการเงินและการบัญชี และแผนการเงินและ
งบประมาณของปีต่อไปต่อคณะกรรมการนโยบายเพื่อพิจารณา
(4) เสนอการแต่งตั้งผู้ประเมินโครงการและผู้ประเมินผลงานวิจัย
และรายงานผลการติดตามประเมินผลต่อคณะกรรมการประเมินผลเพื่อพิจารณา
(5) บริหารงานของสำนักงานตามนโยบายและมติของคณะกรรมการ
นโยบายและคณะกรรมการประเมินผล
(6) ดำเนินงานอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ
นโยบายและคณะกรรมการประเมินผล
มาตรา 20 ในกิจการเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ผู้อำนวยการเป็น ผู้กระทำแทนกองทุนและสำนักงาน ในการนี้ ผู้อำนวยการจะมอบให้บุคคลใด ๆ ปฏิบัติการแทนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายก็ได้
มาตรา 21 การบัญชีของกองทุน ให้จัดทำบัญชีตามหลักสากล โดย
ให้มีการตรวจสอบภายในเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี และการพัสดุของกองทุน และรายงานผลการตรวจสอบให้คณะกรรมการนโยบายทราบอย่างน้อยปีละ หนึ่งครั้ง
มาตรา 22 ให้สำนักงานจัดทำงบดุล งบการเงิน และบัญชีทำการ ส่งผู้สอบบัญชีตรวจสอบ ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชีทุกปี ให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีของสำนักงานทุกรอบปี แล้วทำรายงานผลการสอบบัญชีเสนอต่อคณะกรรมการนโยบาย มาตรา 23 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
อานันท์ ปันยารชุน
นายกรัฐมนตรี
_____________________
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ การวิจัยที่มีประสิทธิภาพในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ และการนำผลของการวิจัยดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ เป็นการจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและวิชาการของ ประเทศ แต่ในปัจจุบันการวิจัยและการใช้ประโยชน์จากผลของการวิจัย ดังกล่าว ยังไม่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนในด้านงบประมาณจากรัฐบาล อย่างเพียงพอ สมควรจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการวิจัยขึ้นเป็นอิสระจากระบบ ราชการเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและการใช้ประโยชน์จากผลของ การวิจัยให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อเนื่องและเอื้อต่อการวิจัยเพื่อประโยชน์สูงสุด จึงจำเป็นต้องตรา พระราชบัญญัตินี้