ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ

กฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการค้าขายและการสมาคมแห่งข้าราชการในพระราชสำนัก

หน้า 3

หมวดที่ 5
ว่าด้วยการขออนุญาตและการให้อนุญาต
 _______

มาตรา 20 การขออนุญาตให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อผู้บังคับบัญชาโดยตรง ของตนเพื่อนำเสนอเป็นลำดับ และถ้าเมื่อใบอนุญาตยังไม่ตกมา ห้ามมิให้ไปทำการ ค้าขาย หรือเป็นสมาชิกแห่งสมาคมใดเป็นอันขาด

มาตรา 21 ในหนังสือขอใบอนุญาตทำการค้าขาย ให้มีข้อความละเอียด คือ

1 ยศ บรรดาศักดิ์
2 นามเดิม
3 นามสกุล
4 ตำแหน่งราชการ
5 อายุปีเกิด
6 รับพระราชทานเงินเดือน ๆ ละเท่าใด
7 ได้รับผลประโยชน์นอกจากทางราชการอย่างใดบ้าง
8 ลักษณะของการค้าขายที่จะทำและสำนักงาน
9 ใครเป็นผู้จัดการค้าขายนั้น ถ้าเป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ใครเป็น ผู้จัดการ ใครเป็นกรรมการ มีทุนเท่าใด วิธีจัดการเป็นอย่างไร

มาตรา 22 ในหนังสือขอใบอนุญาตเข้าสโมสรหรือสมาคม ให้มีข้อความ ละเอียด คือ

1 ยศ บรรดาศักดิ์
2 นามเดิม
3 นามสกุล
4 ตำแหน่งราชการ
5 อายุปีเกิด
6 รับพระราชทานเงินเดือน ๆ ละเท่าใด
7 ได้รับผลประโยชน์นอกจากทางราชการอย่างใดบ้าง
8 ความมุ่งหมายของสมาคมและสำนักแห่งสมาคม
9 ใครเป็นหัวหน้า ใครเป็นกรรมการและสมาชิก

มาตรา 23 ระเบียบการที่จะพึงปฏิบัตินอกจากที่กล่าวแล้ว ในเรื่อง การขอและการให้อนุญาตนั้น ท่านให้พึงอนุโลมใช้ตามมาตรา 27 มาตรา 28 มาตรา 30 และมาตรา 32 แห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยครอบครัวแห่งข้าราชการ ในพระราชสำนักพระพุทธศักราช 2457 ตามควรแก่บทนั้น ๆ

มาตรา 24 ผู้มีหน้าที่จะอนุญาตนั้น เมื่อได้รับหนังสือขออนุญาตแล้ว ต้องพิจารณาให้เห็นชัดว่าผู้ขออนุญาตนั้น เป็นผู้ที่สมควรรับอนุญาตแล้ว จึงค่อยอนุญาต ในข้อควรมิควรให้ถือเอาพระราชนิยมเป็นเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

1 การค้าขายนั้นชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมายและไม่เป็นปรปักษ์ กับลักษณะของผู้ที่เป็นสัมมาจารี
2 การที่ผู้ขออนุญาตจะกระทำการค้าขายนั้นต้องไม่เสียประโยชน์แห่ง ราชการในหน้าที่
3 การค้าขายที่ทำนั้นไม่เกี่ยวข้องกับร้านหรือบริษัท ซึ่งสำหรับส่งของ ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้ในราชการแห่งกรม ซึ่งผู้ขออนุญาตรับราชการอยู่ และมีอำนาจ ที่จะสั่งของสำหรับใช้ในราชการแห่งกรมนั้นได้
4 ผู้ขออนุญาตเป็นผู้ที่มีหลักฐานมั่นคงไม่เหลวไหล
5 ถ้าขออนุญาตไปเข้าห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ๆ นั้น ๆ ต้องมีหลักฐาน มั่นคงดำเนินตามหลักการค้าขายที่ชอบ
6 ถ้าเป็นการขอเข้าสมาคม ๆ นั้นต้องมีความมุ่งหมายที่ชอบและเป็น คุณแก่ผู้ที่ขออนุญาต

มาตรา 25 ผู้ใดที่ได้รับอนุญาตให้ทำการค้าขายอยู่แล้ว เมื่อได้มา รับราชการในหน้าที่ ซึ่งตนมีอำนาจที่จะสั่งของสำหรับใช้ในราชการจากร้าน หรือบริษัทซึ่งตนมีส่วนได้ส่วนเสียอยู่ด้วยตามที่ว่าไว้ในข้อ 3 แห่งมาตรา 24 แล้ว ท่านว่าให้เลิกการค้าขายนั้นเสียเถิด

หมวดที่ 6
การลงทัณฑ์และกำหนดโทษสำหรับความผิด
_______

มาตรา 26 การลงทัณฑ์และชั้นความผิด ท่านให้เทียบใช้แก่กฎนี้ตามที่ บังคับไว้ในมาตรา 43 ถึงมาตรา 50 แห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยครอบครัวแห่ง ข้าราชการในพระราชสำนัก พระพุทธศักราช 2457 นั้น ทุกประการ

มาตรา 27 ผู้ใดซึ่งทำการค้าขาย หรือเป็นสมาชิกแห่งสโมสร สมาคม ใด ๆ อยู่แล้วก่อนประกาศใช้กฎนี้ มิได้รีบขออนุญาตต่อผู้บังคับบัญชาสูงสุด และจดทะเบียนที่เจ้าพนักงานสำหรับกรมที่ตนสังกัดภายในกำหนดวันเวลาตามความใน มาตรา 12 และมาตรา 16 แล้ว ท่านว่าผู้นั้นมีความผิดชั้นมัธยมกรรม ต้องระวางโทษ ชั้นมัธยมทัณฑ์

มาตรา 28 ผู้ใดทำการค้าขาย หรือเข้าสโมสร สมาคมใด ๆ ภายหลังวันที่ประกาศใช้กฎนี้โดยมิได้รับอนุญาต ท่านว่าผู้นั้นมีความผิดครุกรรม ต้องระวางโทษชั้นครุทัณฑ์

มาตรา 29 ผู้ใดตั้งร้านการเล่น โดยมิได้รับพระราชทานพระบรม ราชานุญาตตามความในมาตรา 17 แล้ว ท่านว่าผู้นั้นมีความผิดชั้นครุกรรม ต้อง ระวางโทษชั้นครุทัณฑ์ ผู้ใดไปสำนัก ณ สถานที่ซึ่งตั้งการเล่นนั้น ท่านให้ฟังว่าผู้นั้นสมรู้ มีความผิด ต้องระวางโทษกึ่งหนึ่ง

มาตรา 30 ผู้ใดกล่าวความไม่จริงหรือที่ไม่รู้จริงต่อเจ้าพนักงานหรือ ผู้บังคับบัญชาด้วยข้อใดข้อหนึ่งอันเนื่องด้วยกฎนี้ ในส่วนตนเองก็ดี หรือในส่วน ข้าราชการผู้อื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นกล่าวเท็จ มีความผิดชั้นลหุกรรมหรือมัธยมกรรม ต้องระวางโทษชั้นลหุทัณฑ์หรือมัธยมทัณฑ์ตามสมควรแก่เหตุผล

มาตรา 31 ผู้ใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง และการที่กระทำนั้น เป็นการละเมิดบทกฎมณเฑียรบาลนี้หลายบทด้วยกัน ท่านว่าให้ใช้บทที่มีทัณฑ์หนัก ลงโทษแก่ผู้นั้น

มาตรา 32 ผู้ใดกระทำความผิดหลายกระทง ท่านว่าผู้นั้นต้องมีโทษ ตามกระทงความผิดทุกระทง

มาตรา 33 ผู้ใดละเมิดกฎนี้ด้วยข้อใดข้อหนึ่ง และเมื่อได้พ้นโทษแล้ว ไปกระทำความผิดขึ้นอีก ท่านว่าผู้นั้นไม่เข็ดหลาบ ผู้ใดไม่เข็ดหลาบ ท่านว่าผู้นั้นต้องรับโทษเป็นทวีคูณ

ประกาศมา ณ วันที่ 1 กันยายน พระพุทธศักราช 2457
เป็นวันที่ 1391 ในรัชกาลปัจจุบันนี้

พระราชกฤษฎีกา ที่รโหฐานเพิ่มเติม พระพุทธศักราช 2457
 
_______

มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้า ฯ เฉพาะเจ้าพระยาธรรมาธิ กรณาธิบดี เสนาบดีกระทรวงวัง สั่งว่า ตามราชประเพณีแต่ก่อนสืบมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินประทับ อยู่ ณ ที่ใด ๆ การพิทักษ์รักษาก็ต้องมีเป็นธรรมดา ถ้าประทับในที่รโหฐาน (อันว่า มิใช่ที่เสด็จออกให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทเฝ้า ซึ่งมีกำหนด แล้วนั้น) การพิทักษ์รักษาก็เป็นประเพณีที่เจ้าหน้าที่ทั้งปวงจะต้องปฏิบัติให้เป็น ระเบียบอันกวดขันยิ่งขึ้นอยู่ทุกเมื่อ บางคราวที่มีพระราชประสงค์เป็นอย่างอื่น ก็พระราชทานโอกาสโดยเฉพาะ แต่บัดนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ ประทับอยู่แต่ในพระบรมมหาราชวังแห่งเดียว มีที่เสด็จแปรพระราชสำนักและประพาส ณ ที่ต่าง ๆ เพื่อทรงพระราชวิจารณ์ตรวจตรากิจการทั้งปวงอันจะเป็นประโยชน์ แก่บ้านเมือง ให้ทันแก่สมัย จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้ตราพระราชกฤษฎีกานี้ขึ้นไว้ ให้ต้องด้วยราชประเพณีและพระราชนิยม ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติให้ถูกถ้วนด้วย ราชประเพณีที่มีมาแต่โบราณกาล และเพิ่มเติมขึ้นอีกตามเวลาที่ควร

1. ที่รโหฐาน ซึ่งเรียกว่า ภายในหรือข้างใน ผู้ใด ๆ ไม่ว่าหญิงหรือชาย จะเข้าออกโดยพละตนไม่ได้ ต่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว จึงจะเป็นอันเข้าออกได้

2. ที่ใดที่เรียกว่า พระที่นั่งหรือพระตำหนัก หรือพลับพลา หรือที่ประทับ ณ ค่ายหลวง หรือในเรือ หรือในแพ และที่ใด ๆ ก็ดี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่ ทั้งนี้ ให้เป็นอันเข้าใจว่า เป็นเขตแคบเข้ากว่าในข้อ 1 ผู้ใด ๆ ทั้งหญิง และชาย ซึ่งมิใช่เจ้าพนักงานอันประจำตำแหน่ง ซึ่งทรงอนุญาตเป็นผู้ที่ประจำอยู่แล้ว ท่านห้ามมิให้เข้าออกเป็นอันขาด เว้นไว้แต่ผู้นั้นได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต โปรดให้เบิกเข้าไป จึงจะเข้าไปได้

3. ให้เจ้าหน้าที่อันประจำตำแหน่งรักษาการมีอำนาจในหน้าที่นี้ ห้ามปรามจับกุมผู้ที่ฝ่าฝืนพระราชนิยมอันนี้ได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าบุคคลชนิดใด 4. ให้เสนาบดีกระทรวงวัง เป็นหน้าที่รักษาพระราชกฤษฎีกานี้ ให้เป็นไปจงถูกถ้วนโดยพระราชนิยม และพระราชกฤษฎีกานี้ ให้นับเนื่องอยู่ใน กฎมณเฑียรบาลด้วยเหมือนกัน ประกาศมา ณ วันที่ 25 พฤศจิกายน พระพุทธศักราช 2457 เป็นวันที่ 1476 ในรัชกาลปัจจุบันนี้ *

[รก.2457/-/444/29 พฤศจิกายน 2457]

กฎมณเฑียรบาลเพิ่มเติม
 
_______

มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งว่า กฎมณเฑียรบาลที่มีอยู่แล้ว ยัง หาพอเพียงแก่การไม่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ออกกฎมณเฑียรบาลเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 ผู้ใดรับหญิงนครโสเภณี หรือหญิงแพศยาหาเลี้ยงชีพโดยทาง บำรุงกาม เข้ามาร่วมสังวาศกันภายในเขตพระราชสำนักแห่งใด ๆ ท่านว่ามัน ประพฤติละเมิดพระราชอาญาโดยอาการอันลามกให้ลงพระราชอาญาทั้งชายและหญิง ผู้ประพฤติทุราจารนั้น มีระวางโทษจำคุกไม่เกินคนละ 1 ปี

มาตรา 2 ผู้ใดรู้เห็นเป็นใจในความประพฤติทุรจารเช่นนี้ ถ้าแลมันเป็น เจ้าของห้อง ท่านว่ามันมีความผิดเสมอตัวการ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี แต่ถ้ามันมิใช่เจ้าของห้อง ให้ลงพระราชอาญาเพียงกึ่งหนึ่งแห่งพระราชอาญาที่ตัวการ ได้รับ ประกาศมา ณ วันที่ 21 พฤษภาคม พระพุทธศักราช 2458 เป็นวันที่ 1653 ในรัชกาลปัจจุบันนี้

« ย้อนกลับ |

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย