ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ
พระราชบัญญัติ การพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน พ.ศ. 2535
หน้า 2
มาตรา 20 ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง
ประสงค์จะก่อสร้างหรือกระทำกิจการใด ๆ ลงในที่ดินซึ่งมีสายหรือ
ท่อพลังงานหรืออุปกรณ์กีดขวางอยู่ เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินนั้น
ชอบที่จะร้องขอต่อกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานให้ย้าย ถอน เปลี่ยนแปลง
หรือแก้ไขสิ่งที่กีดขวางนั้นได้ เมื่อเป็นการสมควรก็ให้กรมพัฒนาและส่งเสริม
พลังงานจัดการตามคำร้องขอนั้น โดยให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สิน
ออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น
มาตรา 21 ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนพนักงานเจ้าหน้าที่อาจเข้าไป ในสถานที่ของบุคคลใด ๆ
เพื่อตรวจ ซ่อมแซม หรือแก้ไขสายหรือท่อพลังงาน
หรืออุปกรณ์ในเวลาหนึ่งเวลาใดก็ได้ เมื่อได้แจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครอง
ทราบแล้ว
มาตรา 22 ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือ ผู้ทรงสิทธิอื่นไม่ยินยอมตกลงในจำนวนเงินค่าทดแทนที่กรมพัฒนาและส่งเสริม พลังงานจ่ายให้ตามมาตรา 16 หรือมาตรา 19 หรือหาเจ้าของหรือ ผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นนั้นไม่พบ ให้กรมพัฒนาและส่งเสริม พลังงานนำเงินจำนวนดังกล่าวไปวางไว้ต่อศาลหรือสำนักงานวางทรัพย์ หรือฝากไว้กับธนาคารออมสินในชื่อของเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สิน หรือผู้ทรงสิทธิอื่น โดยแยกฝากไว้เป็นบัญชีเฉพาะราย และถ้ามีดอกเบี้ย หรือดอกผลใดเกิดขึ้น เนื่องจากการฝากเงินนั้น ให้ตกเป็นสิทธิแก่เจ้าของ หรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นนั้นด้วย
เมื่อกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานนำเงินค่าทดแทนไปวางไว้ ต่อศาลหรือสำนักงานวางทรัพย์หรือฝากไว้กับธนาคารออมสินตามวรรคหนึ่ง แล้ว ให้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานมีหนังสือแจ้งให้เจ้าของหรือ ผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นทราบ โดยส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ
ในกรณีหาเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นไม่พบ
ให้ประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันที่มีจำหน่ายในท้องถิ่นอย่างน้อยสองวัน ติดต่อกัน
เพื่อให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นทราบ
หลักเกณฑ์และวิธีการในการนำเงินค่าทดแทนไปวางต่อศาลหรือ สำนักงานวางทรัพย์
หรือฝากไว้กับธนาคารออมสิน และวิธีการในการรับเงิน
ค่าทดแทนดังกล่าวให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด
มาตรา 23 ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือ
ผู้ทรงสิทธิอื่นไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนที่กรมพัฒนาและส่งเสริม พลังงานจ่ายให้
ไม่ว่าบุคคลนั้นจะรับหรือไม่รับเงินค่าทดแทนที่กรมพัฒนา
และส่งเสริมพลังงานวางไว้หรือฝากไว้ บุคคลนั้นมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาล
ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานได้ดำเนินการตาม มาตรา 22
วรรคสอง แล้วการฟ้องคดีต่อศาลตามวรรคหนึ่งไม่เป็นเหตุให้การครอบครอง
หรือใช้อสังหาริมทรัพย์ หรือการดำเนินการใด ๆ ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 16
หรือมาตรา 19 ต้องสะดุดหยุดลง
ในกรณีที่ศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ให้เจ้าของหรือ ผู้ครอบครองทรัพย์สินได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภท ประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมี การจ่าย วาง หรือฝากเงินค่าทดแทนนั้น
ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นยินยอม
ตกลงและได้รับเงินค่าทดแทนไปแล้ว หรือมิได้ฟ้องคดีเรียกเงินค่าทดแทนต่อ
ศาลภายในระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง หรือได้แจ้งเป็นหนังสือสละสิทธิไม่รับ
เงินค่าทดแทนดังกล่าว ผู้ใดจะเรียกร้องเงินค่าทดแทนนั้นอีกไม่ได้
มาตรา 24 การกำหนดพลังงานประเภทใด ขนาดและวิธีการ ผลิต
หรือการใช้อย่างใดให้เป็นพลังงานควบคุม ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
มาตรา 25 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต หรือขยายการผลิตพลังงานควบคุม
เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน
การขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
การผลิตพลังงานควบคุมใดซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตหรือรับสัมปทานตาม กฎหมายอื่น
จะต้องได้รับอนุญาตหรือรับสัมปทานตามกฎหมายนั้นด้วย
มาตรา 26 การกำหนดหลักเกณฑ์ในกฎกระทรวงตามมาตรา 25 ให้คำนึงถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย
(1) ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ
(2) อันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการผลิตหรือการขยายการผลิตพลังงาน
(3) การใช้วัตถุดิบหรือวัตถุธรรมชาติตามหลักวิชา
มาตรา 27 ให้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานพิจารณาการขอรับ ใบอนุญาตตามมาตรา 25
ให้เสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่กรมพัฒนา
และส่งเสริมพลังงานได้รับคำขอที่มีรายละเอียดถูกต้องและครบถ้วนตามที่กำหนด
ในกฎกระทรวง
ในการอนุญาตดังกล่าว กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานอาจกำหนด เงื่อนไข ดังต่อไปนี้ได้
(1) อัตราค่าตอบแทนอย่างสูงที่จะพึงเรียกจากผู้ใช้พลังงานควบคุมให้ สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
(2) การกำหนดเขตการจ่ายพลังงาน และขนาดของเครื่องจักรที่จะ ติดตั้งเพื่อทำการผลิต
(3) การดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักวิชา เช่น การวางสาย การป้องกันอัคคีภัย
การป้องกันความเสียหายของเครื่องจักร การป้องกันอันตราย
หรือการกำหนดประเภทหรือวิธีการใช้วัตถุดิบหรือวัตถุธรรมชาติที่ใช้ในการผลิต
พลังงานควบคุม
มาตรา 28 ในกรณีที่อาจเกิดการขาดแคลนพลังงานควบคุมเป็น ครั้งคราว
หรือกรณีจำเป็นอย่างอื่นเพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจของประเทศ
อธิบดีมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ผลิตพลังงานควบคุมปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) ลดหรือเพิ่มการผลิต การจำหน่าย หรือการใช้พลังงานควบคุม
(2) เปลี่ยนประเภทของวัตถุดิบหรือวัตถุธรรมชาติที่ใช้ในการผลิต พลังงานควบคุม
(3) เปลี่ยนแปลงอัตราค่าตอบแทนอย่างสูงที่จะพึงเรียกจากผู้ใช้ พลังงานควบคุม
มาตรา 29 เพื่อประโยชน์แก่การระงับหรือป้องกันอันตรายที่อาจ มีแก่บุคคล
หรือทรัพย์สิน หรืออนามัยของประชาชน หรือความมั่นคงของประเทศ
อธิบดีมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ผลิตพลังงานควบคุมปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) เปลี่ยนแปลง ซ่อมแซม หรือบูรณะอาคาร เครื่องจักร เครื่อง อุปกรณ์
เครื่องมือหรือเครื่องใช้
(2) จัดหา หรือสร้างสิ่งใด ๆ ซึ่งจะขจัดหรือป้องกันอันตราย
(3) งดการผลิต การส่ง การใช้ หรือการจำหน่ายพลังงานควบคุม
เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งตาม (1) หรือ (2)
มาตรา 30 ในการใช้อำนาจตามมาตรา 28 หรือมาตรา 29 ให้
กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้น หรือความสามารถ
ในการจัดหาทุนของผู้ผลิตพลังงานควบคุมด้วย
การพัฒนาและส่งเสริมพลังงานจะช่วยหาทุนเพื่อให้ผู้ผลิตพลังงานควบคุม
สามารถปฏิบัติตามคำสั่งก็ได้
มาตรา 31 ผู้ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 25 หรือได้รับใบอนุญาต
โดยมีเงื่อนไขตามมาตรา 27 หรือผู้ที่ได้รับคำสั่งตามมาตรา 28 หรือมาตรา 29
หากไม่เห็นชอบด้วยกับการไม่อนุญาตเงื่อนไข หรือคำสั่งดังกล่าวนั้น มีสิทธิอุทธรณ์
ต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบว่าไม่ได้รับใบอนุญาต หรือได้รับ
ใบอนุญาตโดยมีเงื่อนไข หรือได้รับคำสั่งนั้น
ให้รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับ อุทธรณ์
ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ให้เสนอคดีต่อศาลภายใน
สี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์
มาตรา 32 ห้ามมิให้บุคคลใดกระทำการใด ๆ อันเป็นการขัดขวาง ต่อการผลิตพลังงานควบคุม
หรือทำให้การผลิตพลังงานควบคุมลดน้อยลงโดย ไม่มีเหตุอันควร
มาตรา 33 ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกตามสมควรแก่
พนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติการตามมาตรา 11 มาตรา 14 มาตรา 16 มาตรา 17 มาตรา 19
หรือมาตรา 21 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 34 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 25 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี
หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 35 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของอธิบดีที่สั่งตามมาตรา 28 หรือมาตรา 29
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 36 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 32 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี
หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 37 ในการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานอัยการ
มีอำนาจร้องขอต่อศาลให้สั่งให้ผู้กระทำผิดปฏิบัติการให้เป็นไปตามหน้าที่
ที่มีอยู่ตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 38 การใดที่เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการพลังงาน แห่งชาติ
และได้มีการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่นั้นไปแล้วตามพระราชบัญญัติ
การพลังงานแห่งชาติ พ.ศ.2496 ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ แต่การ
ดำเนินการนั้นไม่ถึงที่สุด หรือมีข้อผูกพันที่จะต้องดำเนินการต่อไป ให้รัฐมนตรี
มีอำนาจพิจารณาสั่งการแทนคณะกรรมการการพลังงานแห่งชาติ
มาตรา 39 บรรดาพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง หรือคำสั่งที่ออก
ตามพระราชบัญญัติการพลังงานแห่งชาติ พ.ศ.2496 ที่ใช้บังคับอยู่ก่อนหรือใน
วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัด
หรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะมีพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ระเบียบ
หรือคำสั่งตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ แต่ต้องไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่
พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
มาตรา 40 บรรดาการอนุญาต หรือใบอนุญาตที่ออกให้ตาม
พระราชบัญญัติการพลังงานแห่งชาติ พ.ศ.2496 อยู่ก่อนหรือในวันที่
พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังมีผลใช้บังคับต่อไป จนกว่าจะสิ้นอายุการ
อนุญาต หรือใบอนุญาตนั้น
มาตรา 41 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี
และการพลังงานรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวง
หรือกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้น
เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้ บังคับได้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
อานันท์ ปันยารชุน
นายกรัฐมนตรี
___________________________________
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ได้ มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติขึ้นเป็นส่วนราชการ ระดับกรมในสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่เกี่ยวกับการกำหนดนโยบายพลังงาน ของประเทศ ในการนี้สมควรปรับปรุงพระราชบัญญัติการพลังงานแห่งชาติ พ.ศ.2496 เพื่อให้สอดคล้องกัน โดยเปลี่ยนให้สำนักงานพลังงานแห่งชาติ เป็นกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน และกำหนดอำนาจหน้าที่ของกรมพัฒนาและ ส่งเสริมพลังงานให้รับผิดชอบเฉพาะในด้านการค้นคว้า พัฒนา กำกับดูแลและ ปฏิบัติการเกี่ยวกับการผลิต การส่งและการจำหน่ายพลังงาน จึงจำเป็นต้อง ตราพระราชบัญญัตินี้
« ย้อนกลับ |