ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ

พระราชบัญญัติ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542

หน้า 2

หมวด 2
คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
_________

มาตรา 12 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟู และพัฒนาเกษตรกร" ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรี มอบหมายเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นรองประธาน กรรมการ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวน สิบเอ็ดคน และผู้แทนเกษตรกรจำนวนยี่สิบคนเป็นกรรมการ ให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง ให้พิจารณาแต่งตั้งจากบุคคล ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญ มีผลงาน และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารการเงินหรือ การธนาคาร การฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น อุตสาหกรรมชุมชน เทคโนโยลีการเกษตร การพัฒนาแหล่งน้ำ และการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้แต่งตั้งจาก ผู้ทรงคุณวุฒิภาคราชการจำนวนห้าคน และผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชนจำนวนหกคน

มาตรา 13 การแต่งตั้งผู้แทนเกษตรกรตามมาตรา 12 ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งเกษตรกร ซึ่งได้รับเลือกตั้งจากสมาชิกองค์กรเกษตรกรในสี่ภูมิภาค อย่างน้อยภูมิภาคละสองคน ส่วนที่เหลือ ให้เป็นไปตามสัดส่วนของสมาชิกเกษตรกรในแต่ละภูมิภาค การแบ่งภูมิภาคและการเลือกตั้งให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 14 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชนและผู้แทนเกษตรกรต้องไม่มีลักษณะ ต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(1) ไม่เป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือกรรมการ ที่ปรึกษา หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง

(2) ไม่เป็นข้าราชการ พนักงานองค์กรของรัฐซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ

(3) ไม่เป็นบุคคลซึ่งทางราชการหรือรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐไล่ออก ปลดออก ให้ออก หรือเลิกจ้างเพราะเหตุทุจริตต่อหน้าที่

มาตรา 15 คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สิน เกษตรกรและการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
(2) พิจารณาเสนอแนะต่อรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศ เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
(3) กำหนดนโยบายและออกระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศ ในการบริหาร กิจการของกองทุน
(4) ออกระเบียบเกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการจัดหา ผลประโยชน์ของกองทุน
(5) ออกระเบียบเกี่ยวกับการรับขึ้นทะเบียนและการเพิกถอนทะเบียนองค์กรเกษตรกร
(6) ออกระเบียบเกี่ยวกับการพิจารณาแผนและโครงการฟื้นฟูและพัฒนาของ องค์กรเกษตรกร การติดตามและประเมินผลการดำเนินการตามแผนและโครงการ
(7) ออกระเบียบเกี่ยวกับการจ่ายเงินของกองทุนตามแผนและโครงการฟื้นฟูและ พัฒนาเกษตรกร และการใช้คืนเงินให้แก่กองทุน
(8) พิจารณางบดุลและรายงานการรับจ่ายเงินของกองทุนและรายงานผล การปฏิบัติงานประจำปีของสำนักงานในส่วนที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
(9) กำกับ ให้คำปรึกษา และแนะนำแก่คณะกรรมการบริหารและสำนักงานในการ ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
(10) ให้ความเห็นชอบในการกำหนดภาระผูกพันของกองทุน
(11) กำหนดมาตรการ ส่งเสริม สนับสนุน องค์กรเกษตรกร
(12) แต่งตั้ง ถอดถอน คณะกรรมการบริหารและคณะอนุกรรมการ
(13) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้เป็น อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ หรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย

ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมการอาจมอบหมายให้ คณะกรรมการบริหารหรือเลขาธิการเป็นผู้ปฏิบัติหรือเตรียมข้อเสนอมายังคณะกรรมการเพื่อ พิจารณาดำเนินการต่อไปได้

มาตรา 16 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกรมีวาระการดำรง ตำแหน่งคราวละสองปี กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่ง เกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้

มาตรา 17 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 16 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนเกษตรกรพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) เป็นบุคคลล้มละลาย
(4) คณะกรรมการมีมติให้ออกด้วยคะแนนเสียงสามในสี่ของจำนวนกรรมการ ทั้งหมด
(5) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(6) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
(7) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 14

มาตรา 18 ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ คณะรัฐมนตรี อาจแต่งตั้งผู้อื่นเป็นกรรมการแทนได้ และให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทน อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน ในกรณีที่กรรมการซึ่งเป็นผู้แทนเกษตรกรพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้รัฐมนตรี แต่งตั้งเกษตรกรในภูมิภาคนั้นเป็นกรรมการแทน โดยให้ดำเนินการตามมาตรา 13 โดยอนุโลม

มาตรา 19 การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่า กึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้ รองประธานกรรมการทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ถ้ารองประธานกรรมการไม่มาประชุม หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็น ประธานในที่ประชุม การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่ง ในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่ง เป็นเสียงชี้ขาด กรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียเป็นส่วนตัวในเรื่องใด ห้ามมิให้เข้าร่วมพิจารณาและ ออกเสียงในเรื่องนั้น

หมวด 3
คณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
__________

มาตรา 20 ให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ประกอบด้วย ประธานกรรมการและกรรมการซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งมีจำนวนรวมกันเจ็ดคน โดยให้แต่งตั้งจากบุคคลในคณะกรรมการจำนวนสามคนซึ่งในจำนวนนี้จะต้องเป็นผู้แทน เกษตรกรจำนวนสองคน และผู้ทรงคุณวุฒิซี่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญมีผลงานและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องทางสาขาเศรษฐศาสตร์ สาขาการบริหารการเงินหรือการธนาคาร และสาขาเกษตรศาสตร์ สาขาละหนึ่งคนเป็นกรรมการ และให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ ให้คณะกรรมการบริหารเลือกกรรมการด้วยกันเป็นประธานกรรมการและ รองประธานกรรมการ ให้นำมาตรา 16 และมาตรา 17 มาใช้บังคับในเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งและ การพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ และให้นำมาตรา 18 และมาตรา 19 มาใช้บังคับแก่การประชุมของ คณะกรรมการบริหารโดยอนุโลม

มาตรา 21 คณะกรรมการบริหารมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) ควบคุมการใช้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ นโยบาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ และคำสั่งของคณะกรรมการ
(2) เสนอและรายงานต่อคณะกรรมการเกี่ยวกับการดำเนินงานของกองทุน
(3) อนุมัติแผนฟื้นฟูและพัฒนาขององค์กรเกษตรกรที่ขอรับการสนับสนุนจาก กองทุน
(4) อนุมัติโครงการที่มีวงเงินเกินกว่าห้าแสนบาท
(5) ออกข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติงานของเลขาธิการและการมอบอำนาจให้ผู้อื่น ปฏิบัติงานแทนเลขาธิการ
(6) ออกระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล ตลอดจนการกำหนด เงินเดือนหรือเงินอื่น รวมถึงการสงเคราะห์และสวัสดิการของพนักงานและลูกจ้าง
(7) ให้คำปรึกษาและคำแนะนำแก่เลขาธิการในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติ นี้
(8) แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
(9) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้เป็น อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร หรือตามที่คณะกรรมการมอบหมาย ระเบียบหรือข้อบังคับตาม (5) และ (6) เมื่อได้รับความเห็นชอบจาก คณะกรรมการแล้วให้ใช้บังคับได้

มาตรา 22 กรรมการและกรรมการบริหารอาจได้รับเบี้ยประชุม ค่าพาหนะ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก และค่าใช้จ่ายอย่างอื่นในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยให้จ่ายจากเงินกองทุนตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวง การคลัง

หมวด 4
สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
__________

มาตรา 23 ให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานครและอาจตั้งสาขา ณ ที่อื่นใดตาม ความจำเป็นก็ได้

มาตรา 24 สำนักงานมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการและคณะกรรมการ บริหาร ศึกษาและรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของคณะกรรมการ และคณะกรรมการบริหาร
(2) ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรได้ทราบถึงนโยบาย ระเบียบ และ หลักเกณฑ์ในการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
(3) พิจารณาเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการบริหาร ในการพิจารณา แผนหรือโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
(4) ให้การสนับสนุน ปรึกษาหารือ และแนะนำแก่องค์กรเกษตรกร เกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนหรือโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรตามความ จำเป็น หรือตามที่องค์กรเกษตรกรร้องขอ
(5) ติดตามและประเมินผลการดำเนินการตามแผนหรือโครงการฟื้นฟู และพัฒนาเกษตรกรที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุน และรายงานผลต่อคณะกรรมการ บริหาร
(6) จัดทำงบดุลและรายงานการรับจ่ายเงินของกองทุน และรายงานผล การปฏิบัติงานประจำปีของสำนักงานเสนอต่อคณะกรรมการ
(7) ดำเนินการอื่นใดตามที่คณะกรรมการหรือคณะกรรมการบริหาร มอบหมาย

มาตรา 25 ให้เลขาธิการเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน และรับผิดชอบการบริหารกิจการของสำนักงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน และตาม กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และนโยบายที่คณะกรรมการและคณะกรรมการบริหารกำหนด ให้เลขาธิการมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานของสำนักงานเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อ ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 26 ให้คณะกรรมการคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการจาก ผู้ซึ่งมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(1) มีสัญชาติไทย
(2) มีอายุไม่เกินหกสิบห้าปีบริบูรณ์
(3) มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีผลงาน และประสบการณ์ที่จะปฏิบัติงานให้แก่ กองทุนได้
(4) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 14
(5) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิด ที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
(6) ไม่เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย
(7) ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญากองทุนหรือในกิจการที่กระทำให้แก่ กองทุนไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม

มาตรา 27 การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และการกำหนดเงื่อนไข ในการทดลองปฏิบัติงาน การปฏิบัติงานในหน้าที่เลขาธิการ และการประเมินผลการ ปฏิบัติงานให้เป็นไปตามสัญญาจ้างที่คณะกรรมการบริหารกำหนด โดยให้มีกำหนด ระยะเวลาการจ้างคราวละไม่เกินสี่ปี เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้างตามวรรคหนึ่งแล้ว คณะกรรมการ บริหารโดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการอาจมีมติให้ทำสัญญาจ้างเลขาธิการให้ปฏิบัติงาน ต่อไปอีกก็ได้ ให้เลขาธิการได้รับเงินค่าจ้าง ค่าตอบแทน และเงินอื่น ตามที่คณะกรรมการ กำหนด

มาตรา 28 นอกจากพ้นจากตำแหน่งตามกำหนดระยะเวลาการจ้าง เลขาธิการ พ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 26
(4) คณะกรรมการมีมติให้เลิกจ้าง

มาตรา 29 ให้เลขาธิการเป็นผู้แทนของกองทุนในกิจการของกองทุนที่เกี่ยวกับ บุคคลภายนอก นิติกรรมที่กระทำโดยฝ่าฝืนข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด ย่อมไม่ผูกพันกองทุน เว้นแต่คณะกรรมการจะให้สัตยาบัน

« ย้อนกลับ | หน้าถัดไป »

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย