ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ

พระราชบัญญัติ การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534
เป็นปีที่ 46 ในรัชกาลปัจจุบัน

หน้า 2

หมวด 1
หน้าที่และสิทธิของผู้ขนส่ง
_______

มาตรา 8 ก่อนบรรทุกของลงเรือหรือก่อนที่เรือนั้นจะออกเดินทาง ผู้ขนส่งมีหน้าที่ต้อง

(1) ทำให้เรืออยู่ในสภาพที่สามารถเดินทะเลได้อย่างปลอดภัยใน เส้นทางเดินเรือนั้น

(2) จัดให้มีคนประจำเรือ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องอุปกรณ์ และสิ่งจำเป็นให้เหมาะสมแก่ความต้องการสำหรับเรือนั้น และ

(3) จัดระวางบรรทุกและส่วนอื่น ๆ ที่ใช้บรรทุกของให้เหมาะสม และปลอดภัยตามสภาพแห่งของที่จะรับ ขนส่ง และรักษา เช่น เครื่องปรับ อากาศ ห้องเย็น เป็นต้น ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรานี้ ผู้ขนส่งต้องกระทำการทั้งปวงเท่าที่ เป็นธรรมดาและสมควรจะต้องกระทำสำหรับผู้ประกอบอาชีพรับขนของทาง ทะเล

มาตรา 9 ถ้ามีความบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 8 เกิดขึ้นหลังจากบรรทุกของลงเรือหรือเมื่อเรือนั้นออกเดินทางแล้ว ผู้ขนส่ง จะต้องจัดการแก้ไขความบกพร่องนั้นโดยเร็วที่สุดเท่าที่อยู่ในวิสัยที่ผู้ประกอบ อาชีพรับขนของทางทะเลจะทำได้ในภาวะเช่นนั้น

มาตรา 10 ผู้ขนส่งต้องใช้ความระมัดระวังและปฏิบัติการให้ เหมาะสมในการบรรทุกลงเรือ การยกขน การเคลื่อนย้าย การเก็บรักษา การดูแลและการขนถ่ายซึ่งของที่ตนทำการขนส่ง

มาตรา 11 ผู้ขนส่งมีสิทธิบรรทุกของบนปากระวางเฉพาะในกรณี ที่ได้ตกลงกับผู้ส่งของ หรือเป็นการกระทำตามที่กฎหมายบัญญัติ หรือเป็นการ ปฏิบัติตามประเพณีทางการค้าเกี่ยวกับการบรรทุกของเช่นนั้น ถ้าผู้ขนส่งและผู้ส่งของตกลงกันให้บรรทุกหรืออาจบรรทุกของบน ปากระวางได้ผู้ขนส่งต้องจดแจ้งข้อตกลงดังกล่าวไว้ในใบตราส่งหรือ เอกสารอื่นอันเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเลในกรณีที่ไม่มีการ ออกใบตราส่ง ถ้าไม่มีการจดแจ้งข้อความในใบตราส่งหรือเอกสารอื่นตามวรรคสอง หากผู้ขนส่งอ้างว่ามีข้อตกลงกัน ให้ผู้ขนส่งมีหน้าที่พิสูจน์ถึงข้อตกลงนั้น แต่จะ ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับตราส่งหรือบุคคลภายนอกซึ่งได้ใบตราส่งหรือเอกสารอื่น มาโดยไม่รู้ถึงข้อตกลงนั้นมิได้ ถ้ามีการบรรทุกของบนปากระวางโดยขัดต่อบทบัญญัติในวรรคหนึ่งหรือ ในกรณีที่ไม่ได้จดแจ้งข้อตกลงไว้ในใบตราส่งหรือเอกสารอื่นตามวรรคสาม มิให้นำบทบัญญัติในมาตรา 51 มาตรา 52 มาตรา 53 มาตรา 54 มาตรา 55 หรือมาตรา 56 มาใช้บังคับ ในกรณีที่มีความตกลงโดยชัดแจ้งระหว่างผู้ขนส่งกับผู้ส่งของให้ บรรทุกของใดในระวาง ถ้าผู้ขนส่งบรรทุกของนั้นบนปากระวาง ให้ถือว่า ผู้ขนส่งกระทำการหรืองดเว้นกระทำการตามมาตรา 60 (1)

มาตรา 12 เมื่อผู้ขนส่งได้รับของไว้ในความดูแลแล้ว ถ้าผู้ส่งของ เรียกเอาใบตราส่ง ผู้ขนส่งต้องออกให้

มาตรา 13 เมื่อได้บรรทุกของลงเรือเสร็จแล้ว ถ้าผู้ส่งของเรียก เอาใบตราส่งชนิด บรรทุกแล้ว ผู้ขนส่งต้องออกให้

มาตรา 14 เมื่อได้ขนของไปถึงท่าปลายทางหรือที่หมายปลายทาง ตามที่ตกลงกันไว้ และพร้อมที่จะส่งมอบของนั้นแล้ว ผู้ขนส่งมีสิทธิได้รับค่า ระวางและอุปกรณ์แห่งค่าระวาง เว้นแต่จะมีข้อกำหนดในใบตราส่งหรือได้ ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญารับขนของทางทะเล

มาตรา 15 ผู้ขนส่งชอบที่จะยึดหน่วงของไว้จนกว่าจะได้รับชำระ ค่าระวางและอุปกรณ์แห่งค่าระวาง หรือจนกว่าผู้รับตราส่งจะได้จัดให้มี ประกันตามควร

มาตรา 16 เมื่อของไปถึงท่าปลายทางหรือที่หมายปลายทางตามที่ ตกลงกันไว้แล้ว ผู้ขนส่งต้องบอกกล่าวแก่ผู้รับตราส่งโดยไม่ชักช้า

มาตรา 17 ข้อกำหนดใดในสัญญารับขนของทางทะเลซึ่งมีวัตถุประสงค์ หรือมีผลไม่ว่าโดยตรงหรือโดยปริยายดังต่อไปนี้ ข้อกำหนดนั้นเป็นโมฆะ

(1) ปลดเปลื้องผู้ขนส่งจากหน้าที่หรือความรับผิดใด ๆ ตามที่บัญญัติไว้ ในพระราชบัญญัตินี้

(2) กำหนดความรับผิดของผู้ขนส่งให้น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในมาตรา 58 หรือมาตรา 60

(3) ปัดภาระการพิสูจน์ซึ่งพระราชบัญญัตินี้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของ ผู้ขนส่งไปให้ผู้ส่งของหรือบุคคลภายนอกเป็นผู้พิสูจน์

(4) ให้ผู้ขนส่งเป็นผู้รับประโยชน์ในสัญญาประกันภัยแห่งของตาม สัญญารับขนของทางทะเลอันเป็นวัตถุที่เอาประกันภัย ความเป็นโมฆะของข้อกำหนดตามวรรคหนึ่งไม่กระทบกระทั่งถึงความ สมบูรณ์ของข้อกำหนดอื่นในสัญญานั้น และให้ถือว่าคู่สัญญาได้เจตนาให้ข้อกำหนด อื่นนั้นแยกออกต่างหากจากข้อกำหนดที่เป็นโมฆะตามวรรคหนึ่ง

บทบัญญัติในมาตรานี้ไม่ตัดสิทธิคู่กรณีที่จะตกลงกันกำหนดหน้าที่และ ความรับผิดชอบของผู้ขนส่งให้มากขึ้นกว่าที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

หมวด 2
ใบตราส่ง
____

มาตรา 18 ใบตราส่งพึงแสดงรายการดังต่อไปนี้

(1) ลักษณะทั่วไปแห่งของ เครื่องหมายที่จำเป็นเพื่อบ่งตัวของ ข้อความที่แจ้งลักษณะอันตรายแห่งของ หากจะต้องมี จำนวนหน่วยการขนส่ง และน้ำหนักของหรือปริมาณอย่างอื่น ทั้งนี้ ตามที่ผู้ส่งของแจ้งหรือจัดให้
(2) สภาพแห่งของเท่าที่เห็นได้จากภายนอก
(3) ชื่อและสำนักงานของผู้ขนส่ง
(4) ชื่อของผู้ส่งของ
(5) ชื่อของผู้รับตราส่ง ถ้าผู้ส่งของระบุไว้
(6) ค่าระวางเท่าที่ผู้รับตราส่งจะต้องจ่าย หรือข้อความแสดงว่า ผู้รับตราส่งเป็นผู้จ่ายค่าระวางและค่าเรือเสียเวลาในการบรรทุกของลงเรือ ณ ท่าต้นทาง
(7) ท่าต้นทางที่บรรทุกของลงเรือตามสัญญารับขนของทางทะเล และวันที่ผู้ขนส่งรับของเข้ามาอยู่ในความดูแล
(8) ท่าปลายทางที่ขนถ่ายของขึ้นจากเรือตามสัญญารับขนของทางทะเล
(9) ข้อความแสดงว่าของนั้นให้บรรทุกบนปากระวางหรืออาจบรรทุก บนปากระวางได้
(10) วันหรือระยะเวลาส่งมอบของ ณ ท่าปลายทางที่ขนถ่ายของขึ้น จากเรือ ถ้าคู่สัญญาได้ตกลงกันไว้
(11) ข้อจำกัดความรับผิดซึ่งมากกว่าที่กำหนดไว้ในมาตรา 58
(12) สถานที่และวันที่ออกใบตราส่ง
(13) จำนวนต้นฉบับใบตราส่งที่ออก
(14) ลายมือชื่อผู้ขนส่งหรือตัวแทนผู้ขนส่ง

มาตรา 19 ใบตราส่งชนิด “บรรทุกแล้ว” ตามมาตรา 13 นอกจากจะมีรายการตามมาตรา 18 แล้ว ให้ระบุชื่อเรือที่รับบรรทุกของและวันที่บรรทุกของนั้นลงเรือเสร็จแล้วด้วย

มาตรา 20 ในกรณีที่ผู้ขนส่งได้ออกใบตราส่งหรือเอกสารสิทธิ อย่างอื่นที่เกี่ยวข้องกับของให้แก่ผู้ส่งของไว้ก่อนบรรทุกของลงเรือ ถ้าผู้ส่งของ ขอให้ผู้ขนส่งออกใบตราส่งชนิด บรรทุกแล้ว ผู้ส่งของต้องคืนใบตราส่งหรือ เอกสารดังกล่าวให้แก่ผู้ขนส่งเพื่อแลกกับใบตราส่งชนิด บรรทุกแล้ว ในการนี้ ผู้ขนส่งอาจทำให้โดยแก้ไขใบตราส่งหรือเอกสารดังกล่าวให้เป็นใบตราส่งชนิด บรรทุกแล้ว ก็ได้ ถ้าใบตราส่งหรือเอกสารที่แก้ไขแล้วนั้นมีรายการต่าง ๆ ครบถ้วนตามที่ใบตราส่งชนิด บรรทุกแล้ว จะพึงมี

มาตรา 21 ใบตราส่งที่ออกโดยผู้ขนส่งมีรายการไม่ครบตามที่ระบุไว้ ในมาตรา 18 หรือมาตรา 19 ใบตราส่งนั้นยังคงมีฐานะทางกฎหมายเป็น ใบตราส่ง ถ้ามีข้อความครบลักษณะเป็นใบตราส่งตามมาตรา 3

มาตรา 22 ใบตราส่งใดไม่มีข้อความตามมาตรา 18 (6) ให้ สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้รับตราส่งไม่ต้องจ่ายค่าระวางและค่าเรือเสียเวลา ในการบรรทุกของลงเรือ ณ ท่าต้นทาง แต่ถ้าใบตราส่งนั้นได้โอนไปยัง ผู้รับตราส่งหรือบุคคลภายนอกซึ่งได้กระทำการโดยสุจริตโดยเชื่อใบตราส่งนั้น ห้ามมิให้ผู้ขนส่งพิสูจน์เป็นอย่างอื่น

มาตรา 23 ในกรณีที่ผู้ส่งของเป็นผู้แจ้งหรือจัดให้ซึ่งข้อความใน ใบตราส่งเกี่ยวกับลักษณะทั่วไปแห่งของ เครื่องหมายที่จำเป็นเพื่อบ่งตัวของ จำนวนหน่วยการขนส่งน้ำหนักของหรือปริมาณอย่างอื่น ถ้าผู้ขนส่งหรือ บุคคลอื่นซึ่งออกใบตราส่งในนามของผู้ขนส่งทราบ หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า ข้อความดังกล่าวไม่ถูกต้องตรงกับของที่รับไว้จริง หรือไม่ถูกต้องตรงกับของ ที่ได้รับบรรทุกไว้จริงในกรณีที่มีการออกใบตราส่งชนิด บรรทุกแล้ว หรือ ไม่อาจตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของรายการดังกล่าวในใบตราส่งโดย วิธีการอันสมควรแก่วิสัยและพฤติการณ์ในภาวะเช่นนั้นได้ บุคคลดังกล่าว ต้องบันทึกเป็นข้อสงวนไว้ในใบตราส่งโดยระบุถึงข้อที่ไม่ตรงกับความจริง เหตุแห่งความสงสัย หรือพฤติการณ์ที่ไม่อาจตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงได้ แล้วแต่กรณี

มาตรา 24 ถ้าผู้ขนส่งหรือบุคคลอื่นซึ่งออกใบตราส่งในนามของ ผู้ขนส่งมิได้บันทึกสภาพแห่งของเท่าที่เห็นได้จากภายนอกไว้ในใบตราส่ง ให้ถือว่าของตามใบตราส่งนั้นมีสภาพภายนอกเรียบร้อย

มาตรา 25 ถ้ามิได้บันทึกเป็นข้อสงวนไว้ในใบตราส่งตามมาตรา 23 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ขนส่งได้รับของไว้หรือได้บรรทุกของลงเรือในกรณี ที่เป็นใบตราส่งชนิด บรรทุกแล้ว ทั้งนี้ ตามรายการที่แสดงไว้ใน ใบตราส่งนั้น แต่ถ้าใบตราส่งใดได้โอนไปยังผู้รับตราส่งหรือบุคคลภายนอก ซึ่งได้กระทำการโดยสุจริต โดยเชื่อตามข้อความในใบตราส่งนั้นแล้ว ห้ามมิให้ ผู้ขนส่งพิสูจน์เป็นอย่างอื่น

มาตรา 26 ในกรณีที่ได้ออกใบตราส่งให้แก่กันไว้ ความสัมพันธ์ ระหว่างผู้ขนส่งกับผู้รับตราส่งในเรื่องทั้งหลายเกี่ยวกับการขนส่งของที่ระบุ ไว้ในใบตราส่งนั้น ให้เป็นไปตามข้อกำหนดในใบตราส่ง

มาตรา 27 ใบตราส่งใดแม้จะได้ออกให้แก่บุคคลใดโดยนามก็ยัง อาจโอนให้กันได้โดยการสลักหลัง เว้นแต่จะมีข้อกำหนดห้ามการสลักหลังไว้ ในใบตราส่งนั้น

มาตรา 28 เมื่อได้ออกใบตราส่งให้แก่กันไว้แล้ว ผู้รับตราส่งจะ เรียกให้ส่งมอบของได้ต่อเมื่อเวนคืนใบตราส่งนั้นแก่ผู้ขนส่งหรือให้ประกัน ตามควร

มาตรา 29 ในกรณีที่ได้ออกใบตราส่งให้แก่กันไว้โดยมีต้นฉบับมากกว่า หนึ่งฉบับ และของได้ถึงท่าปลายทางหรือที่หมายปลายทางแล้ว (1) แม้ผู้รับตราส่งจะนำต้นฉบับใบตราส่งมาเวนคืนเพียงฉบับเดียว ผู้ขนส่งก็จำต้องส่งมอบของให้ และเมื่อผู้ขนส่งได้ส่งมอบของแล้ว ให้ใบตราส่ง ฉบับอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้เวนคืนเป็นอันสิ้นผล (2) ก่อนหรือในระหว่างการส่งมอบของ ถ้าปรากฏว่ามีผู้รับตราส่ง มากกว่าหนึ่งคนเรียกให้ส่งมอบของรายเดียวกันโดยแต่ละคนต่างมีต้นฉบับ ใบตราส่งมาเวนคืนให้ ให้ผู้ขนส่งนำของทั้งหมดหรือของส่วนที่ยังไม่ได้ส่งมอบ ไปฝากไว้ ณ สำนักงานวางทรัพย์และให้นำบทบัญญัติมาตรา 333 แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 30 ในกรณีที่ได้ออกใบตราส่งให้แก่กันไว้โดยมีต้นฉบับมากกว่า หนึ่งฉบับในระหว่างที่ของยังไปไม่ถึงท่าปลายทางหรือที่หมายปลายทาง ผู้ขนส่ง ไม่จำต้องส่งมอบของนั้นแก่บุคคลใด เว้นแต่จะได้รับเวนคืนต้นฉบับใบตราส่ง ทั้งหมดที่ออกให้แก่กันไว้ ถ้าผู้ขนส่งส่งมอบของไปโดยที่ยังไม่ได้รับเวนคืนใบตราส่งทั้งหมด ผู้ขนส่งต้องรับผิดต่อผู้รับตราส่งซึ่งมีต้นฉบับใบตราส่งที่ยังไม่ได้เวนคืน

« ย้อนกลับ | หน้าถัดไป »

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย