ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ

พระราชบัญญัติ การพิมพ์ พุทธศักราช 2484

ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร
ลงวันที่ 4 สิงหาคม พุทธศักราช 2480)
อาทิตย์ทิพอาภา
พล อ. พิชเยนทรโยธิน

ตราไว้ ณ วันที่ 26 กันยายน พุทธศักราช 2484
เป็นปีที่ 8 ในรัชกาลปัจจุบัน

โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วย การพิมพ์ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำ และยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า พระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช 2484

มาตรา 2* ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้เมื่อพ้นกำหนดหกสิบวัน นับแต่วัน ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป *[รก.2484/-/1228/30 กันยายน 2484]

มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช 2476 และบรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราช บัญญัตินี้ หรือซึ่งแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้

ส่วนที่ 1
บททั่วไป
_____

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้ พิมพ์ หมายความว่า ทำให้เป็นตัวหนังสือหรือรูปรอยอย่างใด ๆ โดยการกด หรือการใช้พิมพ์หิน เครื่องกล วิธีเคมี หรือวิธีอื่นใดอันอาจให้เกิด เป็นสิ่งพิมพ์ขึ้นหลายสำเนา สิ่งพิมพ์ หมายความว่า สมุด แผ่นกระดาษหรือวัตถุใด ๆ ที่พิมพ์ขึ้น รวมตลอดทั้งบทเพลง แผนที่ แผนผัง แผนภาพ ภาพวาด ภาพระบายสี ใบประกาศ แผ่นเสียง หรือสิ่งอื่นใดอันมีลักษณะเช่นเดียวกัน หนังสือพิมพ์ หมายความว่า สิ่งพิมพ์ซึ่งมีชื่อนำหน้าเช่นเดียวกัน และออก หรือเจตนาจะออกตามลำดับเรื่อยไป มีกำหนดระยะเวลาหรือไม่ก็ตาม มีข้อความต่อเนื่องกันหรือไม่ก็ตาม ผู้พิมพ์ หมายความว่า บุคคลซึ่งจัดการและรับผิดชอบในการพิมพ์ ผู้โฆษณา หมายความว่า บุคคลซึ่งรับผิดชอบในการผลิตสิ่งพิมพ์ และจัดให้สิ่งพิมพ์นั้นแพร่หลายด้วยประการใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นโดยการขาย เสนอขาย จ่ายแจก หรือเสนอจ่ายแจก และไม่ว่าการนั้นจะเป็นการให้เปล่า หรือไม่

บรรณาธิการ หมายความว่า บุคคลซึ่งรับผิดชอบในการจัดทำ ตรวจแก้ คัดเลือก หรือควบคุมบทประพันธ์ หรือสิ่งอื่นในหนังสือพิมพ์ เจ้าของหนังสือพิมพ์ หมายความว่า บุคคลซึ่งเป็นเจ้าของ กรรมสิทธิ์หนังสือพิมพ์ รัฐมนตรี หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการให้เป็นไปตาม พระราชบัญญัตินี้

มาตรา 5 บุคคลผู้เดียวจะเป็นผู้พิมพ์และผู้โฆษณาสิ่งพิมพ์นอกจาก หนังสือพิมพ์ หรือเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ และเจ้าของหนังสือพิมพ์ ในขณะเดียวกันก็ได้ บุคคลดั่งระบุไว้ในวรรคก่อน เว้นแต่บรรณาธิการ จะเป็นนิติบุคคล ก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ให้ถือว่า หุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ หรือหุ้นส่วน หรือกรรมการใดซึ่งได้รับมอบหมายเพื่อการนี้ เป็นผู้แทนของนิติบุคคลนั้นเพื่อ ความประสงค์แห่งพระราชบัญญัตินี้ แต่ผู้แทนนั้นต้องมีคุณสมบัติและไม่เป็นผู้ไม่มี สิทธิหรือขาดสิทธิดั่งกำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ในอันที่บุคคลธรรมดาจะ เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ ผู้พิมพ์ หรือผู้โฆษณา

มาตรา 6 พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่สิ่งพิมพ์ ดังต่อไปนี้ คือ (1) สิ่งพิมพ์ของรัฐบาลหรือเทศบาล (2) สิ่งพิมพ์ซึ่งรัฐมนตรีกำหนด (3) บัตร ตราสาร แบบพิมพ์ และรายงานซึ่งใช้กันตามปกติในการ ส่วนตัว การสังคม การเมือง การค้า หรือกิจธุระ

มาตรา 7 บุคคลใดประสงค์จะตรวจดู คัดสำเนา หรือให้เจ้าหน้าที่ รับรองสำเนา สมุดทะเบียน ใบอนุญาตหรือเอกสารใดเกี่ยวกับสมุดทะเบียน หรือใบอนุญาต นอกจากส่วนซึ่งเป็นความลับ มีสิทธิที่จะทำได้ในเมื่อได้เสีย ค่าธรรมเนียมดังต่อไปนี้แล้ว

(1) ค่าตรวจดู และหรือคัดสำเนา แผ่นละสิบสตางค์ แต่รวมทั้ง เรื่องครั้งหนึ่งไม่เกินกว่าหนึ่งบาท (2) ค่าเจ้าหน้าที่รับรองสำเนา แผ่นละยี่สิบสตางค์ แต่รวมทั้ง เรื่องครั้งหนึ่งไม่เกินกว่าสองบาท แต่ถ้ากระทำในหน้าที่ราชการ ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม

มาตรา 8 อธิบดีกรมตำรวจหรือผู้รักษาการแทนมีอำนาจออกคำสั่ง โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ห้ามการสั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งสิ่งพิมพ์ใด ๆ อันระบุชื่อไว้ในคำสั่งนั้นโดยมีกำหนดเวลาหรือไม่ก็ได้

มาตรา 9 เมื่อปรากฏว่าได้มีการโฆษณา หรือเตรียมการโฆษณา สิ่งพิมพ์ใด ๆ ซึ่งเจ้าพนักงานการพิมพ์เห็นว่าอาจจะขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เจ้าพนักงานการพิมพ์อาจมีคำสั่งเป็นหนังสือ แก่ผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ หรือมีคำสั่งทั่วไปโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือหนังสือพิมพ์รายวัน ห้ามการขายหรือจ่ายแจกสิ่งพิมพ์นั้น ทั้งจะให้ยึด สิ่งพิมพ์และแม่พิมพ์นั้นด้วยก็ได้ ถ้าผู้มีส่วนได้เสียร้องขอให้แยกยึดแต่เฉพาะส่วนของสิ่งพิมพ์หรือ แม่พิมพ์เท่าที่จำเป็น และการแยกเช่นนี้อาจทำได้ ก็ให้แยกยึดได้ แต่ค่าใช้จ่าย ในการแยกนี้ให้ผู้ร้องขอเป็นผู้เสีย ถ้าพ้นกำหนดสามปีแล้ว เจ้าพนักงานการพิมพ์มิได้ถอนการยึดสิ่งพิมพ์ หรือแม่พิมพ์ซึ่งได้ยึดไว้ เจ้าพนักงานการพิมพ์อาจสั่งให้ทำลายสิ่งพิมพ์นั้นเสียได้ แต่ต้องแจ้งให้เจ้าของทราบ ส่วนแม่พิมพ์นั้นอาจสั่งให้รื้อ หรือทำโดยประการ อื่นมิให้ใช้พิมพ์ต่อไป แต่ต้องคืนตัวพิมพ์และวัตถุแห่งแม่พิมพ์ทั้งสิ้นที่เหลืออยู่ให้แก่ ผู้เป็นเจ้าของ

มาตรา 10 คำสั่งของเจ้าพนักงานการพิมพ์ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง มาตรา 21 (2) และ (3) มาตรา 27 มาตรา 28 มาตรา 36 เฉพาะที่ให้พักใช้ หรือถอนใบอนุญาต หรือให้งดการเป็นผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของหนังสือพิมพ์ และมาตรา 37 เฉพาะที่เกี่ยวกับผู้โฆษณานั้น ให้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีได้ภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันได้ทราบคำสั่งนั้น แต่การ อุทธรณ์ไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำสั่งของเจ้าพนักงานการพิมพ์ คำสั่งของรัฐมนตรีให้ถือเป็นเด็ดขาด เมื่อคำสั่งของเจ้าพนักงานการพิมพ์เป็นไปโดยสุจริต แม้รัฐมนตรี จะสั่งยกหรือแก้ไขประการใดก็ตาม เจ้าพนักงานการพิมพ์ไม่ต้องรับผิดใน ค่าเสียหายอันเกิดแต่คำสั่งนั้น

มาตรา 11 ให้ผู้พิมพ์ทำทะเบียนสิ่งพิมพ์ที่ตนได้พิมพ์ขึ้น และให้ ผู้โฆษณาทำทะเบียนสิ่งพิมพ์ที่ตนได้โฆษณาหรือมีไว้เพื่อโฆษณาโดยทำตามแบบ ของเจ้าพนักงานการพิมพ์ และต้องแสดงต่อเจ้าหน้าที่ในเมื่อเจ้าหน้าที่ต้องการ ตรวจ

มาตรา 12 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการให้ เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานการพิมพ์กับ เจ้าหน้าที่อื่น และออกกฎกระทรวงวางระเบียบเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตาม พระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

ส่วนที่ 2
สิ่งพิมพ์นอกจากหนังสือพิมพ์
______

มาตรา 13 สิ่งพิมพ์ซึ่งพิมพ์ขึ้นในราชอาณาจักร ต้องมีผู้พิมพ์และ ผู้โฆษณา

มาตรา 14 บุคคลใดจะเป็นผู้พิมพ์หรือผู้โฆษณา ต้องมีคุณสมบัติตาม มาตรา 15 และไม่เป็นผู้ไม่มีสิทธิหรือขาดสิทธิตามมาตรา 16 ทั้งได้ปฏิบัติ ตามมาตรา 17 แล้ว

มาตรา 15 คุณสมบัติของผู้พิมพ์และผู้โฆษณา คือ (1) เป็นผู้บรรลุนิติภาวะ และ (2) มีถิ่นที่อยู่ประจำในราชอาณาจักร

มาตรา 16 บุคคลย่อมไม่มีสิทธิหรือถ้ามีสิทธิอยู่แล้วย่อมขาดสิทธิ เป็นผู้พิมพ์และผู้โฆษณาในระหว่างเวลาที่ (1) ถูกจำคุกอยู่ตามคำพิพากษาของศาลในคดีซึ่งมิใช่ความผิดฐาน ลหุโทษ หรือความผิดฐานประมาท หรือ (2) ถูกงดการเป็นผู้พิมพ์หรือผู้โฆษณา หรือเป็นผู้พิมพ์ที่ถูกงดใช้ เครื่องพิมพ์ซึ่งตนใช้พิมพ์ตามมาตรา 21 หรือถูกพักใช้ หรือถอนใบอนุญาต หรือถูกงดการเป็นบรรณาธิการ ผู้โฆษณา หรือเจ้าของหนังสือพิมพ์ตาม มาตรา 36 หรือ (3) ไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ

มาตรา 17 ผู้ที่จะเป็นผู้พิมพ์หรือผู้โฆษณา ต้องปฏิบัติดังนี้ (1) แจ้งความแก่เจ้าพนักงานการพิมพ์ โดยใช้แบบพิมพ์ของ เจ้าพนักงานการพิมพ์ซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้ (ก) ชื่อ สัญชาติ อายุ อาชีพ ถิ่นที่อยู่ และการงานที่ทำหรือ เคยทำ (ข) คำรับรองว่ามีคุณสมบัติตามมาตรา 15 และไม่เป็น ผู้ไม่มีสิทธิ หรือขาดสิทธิตามมาตรา 16 (ค) เป็นผู้พิมพ์หรือผู้โฆษณา (ง) ในกรณีที่จะเป็นผู้พิมพ์ ชื่อและที่ตั้งโรงพิมพ์ หรือ สถานที่พิมพ์ ในเมื่อไม่มีที่ตั้งโรงพิมพ์ จำนวน ชนิด และลักษณะของเครื่องพิมพ์ และชื่อผู้เป็นเจ้าของเครื่องพิมพ์ (จ) ในกรณีที่จะเป็นผู้โฆษณา ที่ตั้งสำนักงานของตนและชื่อของ สำนักงาน ถ้ามี (2) ในกรณีที่จะเป็นผู้พิมพ์ ถ้าเครื่องพิมพ์มิใช่ของตน ต้องส่ง หนังสืออนุญาตให้ใช้เครื่องพิมพ์ของเจ้าของไปพร้อมกัน

มาตรา 18 ถ้าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายละเอียดตามรายการ ในมาตรา 17 (1) (ก) เฉพาะชื่อ สัญชาติ ถิ่นที่อยู่ (ง) หรือ (จ) ได้เปลี่ยนแปลงไป ผู้พิมพ์และผู้โฆษณาต้องแจ้งความแก่เจ้าพนักงานการพิมพ์ โดยใช้แบบพิมพ์ของเจ้าพนักงานการพิมพ์ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วัน เปลี่ยนแปลง

มาตรา 19 ในสิ่งพิมพ์ทุกฉบับที่พิมพ์ขึ้นในราชอาณาจักร ให้แสดง ปีที่พิมพ์ ชื่อผู้พิมพ์ ชื่อและที่ตั้งโรงพิมพ์ หรือสถานที่พิมพ์ในเมื่อไม่มีที่ตั้ง โรงพิมพ์ ชื่อผู้โฆษณา และที่ตั้งสำนักงานของผู้โฆษณาไว้ที่ปกหน้าหรือหน้า สำหรับบอกชื่อสิ่งพิมพ์นั้น บรรดาชื่อซึ่งต้องแสดงตามวรรคก่อน ให้ใช้ชื่อเต็ม

มาตรา 20 ให้ผู้โฆษณาส่งสิ่งพิมพ์ที่พิมพ์ขึ้นในราชอาณาจักร สองฉบับให้หอสมุดแห่งชาติภายในกำหนดเจ็ดวัน นับแต่วันพิมพ์เสร็จโดย ไม่คิดราคาและค่าส่ง

มาตรา 21 เมื่อได้มีการโฆษณาสิ่งพิมพ์ซึ่งเจ้าพนักงานการพิมพ์ เห็นว่าอาจจะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เจ้าพนักงานการพิมพ์อาจดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(1) ให้คำตักเตือนเป็นหนังสือแก่ผู้พิมพ์ และหรือผู้โฆษณา และ ในการให้คำตักเตือนนี้ จะเรียกผู้พิมพ์ และหรือผู้โฆษณาไปรับคำอธิบายด้วย วาจาและให้ลงลายมือชื่อรับทราบด้วยก็ได้

(2) สั่งเป็นหนังสือให้งดการเป็นผู้พิมพ์ และหรือผู้โฆษณา และ หรือสั่งให้งดใช้เครื่องพิมพ์ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของผู้พิมพ์นั้นมีกำหนด เวลาไม่เกินสามสิบวัน แต่การสั่งเช่นนี้จะทำได้ต่อเมื่อได้ให้คำตักเตือน ตามอนุมาตรา 1 แล้ว และผู้ถูกตักเตือนไม่สังวรในคำตักเตือนนั้น

(3) ในคราวที่มีเหตุฉุกเฉินในราชอาณาจักร หรือมีเหตุคับขัน ระหว่างประเทศหรือมีการสงคราม สั่งเป็นหนังสือให้งดการเป็นผู้พิมพ์ และ หรือผู้โฆษณา หรือสั่งให้งดใช้เครื่องพิมพ์ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ ผู้พิมพ์นั้นทันที โดยมีกำหนดเวลาหรือไม่ก็ได้ และจะสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลง คำสั่งนั้นภายหลังก็ได้ตามแต่เห็นสมควร

มาตรา 22 ผู้พิมพ์หรือผู้โฆษณาคนใดเลิกเป็นผู้พิมพ์หรือผู้โฆษณา หรือขาดคุณสมบัติตามมาตรา 15 (2) หรือขาดสิทธิตามมาตรา 16 (1) ต้องแจ้งความแก่เจ้าพนักงานการพิมพ์โดยใช้แบบพิมพ์ของเจ้าพนักงานการพิมพ์ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเลิกหรือขาดคุณสมบัติหรือขาดสิทธิ

| หน้าถัดไป »

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย