ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ

พระราชบัญญัติ การปฏิบัติเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินการ ตามคำพิพากษาคดีอาญา พ.ศ. 2527

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2527
เป็นปีที่ 39 ในรัชกาลปัจจุบัน

หน้า 2

หมวด 2
คณะกรรมการพิจารณาการโอนนักโทษ
_____

มาตรา 9 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมการ พิจารณาการโอนนักโทษ ประกอบด้วยปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน กรรมการ เจ้ากรมพระธรรมนูญ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา อธิบดีศาลคดีเด็ก และเยาวชนกลาง อธิบดีกรมอัยการ อธิบดีกรมตำรวจ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายเป็นกรรมการ ผู้อำนวยการกองทัณฑวิทยา กรมราชทัณฑ์ เป็นกรรมการและเลขานุการ และผู้อำนวยการกองสนธิสัญญา กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ให้คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 10 การประชุมของคณะกรรมการ ต้องมีกรรมการมาประชุม ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ให้ ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียง เท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา 11 คณะกรรมการมีอำนาจตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการ อย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย การประชุมของคณะอนุกรรมการให้นำมาตรา 10 มาใช้บังคับโดย อนุโลม

หมวด 3
การโอนนักโทษไทย
_____

มาตรา 12 นักโทษไทยซึ่งประสงค์จะขอโอนมารับโทษต่อใน ราชอาณาจักร ให้ยื่นคำขอพร้อมทั้งส่งเอกสารหลักฐานที่คณะกรรมการกำหนด ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สถานทูตไทย หรือสถานกงสุลไทยที่มีอำนาจหน้าที่ ประจำประเทศผู้โอน หรือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ กระทรวงการต่างประเทศ แล้วแต่กรณี

มาตรา 13 ถ้านักโทษไทยไม่สามารถยื่นคำขอได้ด้วยตนเอง หรือ เป็นเด็กหรือเยาวชนตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน ให้สามีหรือภริยา ญาติหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีอำนาจยื่นคำขอตามมาตรา 12 แทนนักโทษไทยได้

มาตรา 14 ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอตามมาตรา 12 หรือมาตรา 13 ไม่สามารถจัดหาเอกสารหลักฐานประกอบคำขอได้ด้วยตนเอง ให้พนักงาน เจ้าหน้าที่เป็นผู้จัดหาให้

มาตรา 15 เมื่อได้รับคำขอพร้อมด้วยเอกสารหลักฐานครบถ้วนแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งคำขอและเอกสารหลักฐานดังกล่าวต่อเลขานุการ คณะกรรมการเพื่อเสนอให้คณะกรรมการพิจารณา ให้คณะกรรมการพิจารณาและมีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้มีการ โอนนักโทษไทยโดยเร็ว แล้วแจ้งคำสั่งดังกล่าวให้ผู้ยื่นคำขอทราบโดยผ่าน กระทรวงการต่างประเทศ และในกรณีที่คณะกรรมการมีคำสั่งไม่อนุญาต เนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัตินี้ ให ้คณะกรรมการแสดงเหตุผล ของการมีคำสั่งไม่อนุญาตนั้นด้วย คำสั่งของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด

มาตรา 16 ในกรณีที่คณะกรรมการมีคำสั่งอนุญาตให้มีการโอนนักโทษ ไทย ให้คณะกรรมการส่งเรื่องไปยังกระทรวงการต่างประเทศเพื่อดำเนินการ ขอความเห็นชอบในการโอนนักโทษไทยดังกล่าวจากประเทศผู้โอน และเมื่อ ประเทศผู้โอนได้แจ้งผลการพิจารณาให้กระทรวงการต่างประเทศทราบแล้ว ให้กระทรวงการต่างประเทศแจ้งผลการพิจารณาให้คณะกรรมการและ ผู้ยื่นคำขอทราบโดยเร็ว

มาตรา 17 เมื่อคณะกรรมการได้รับแจ้งจากกระทรวงการต่างประเทศ ว่า ประเทศผู้โอนได้ให้ความเห็นชอบในการขอโอนนักโทษไทย จากประเทศผู้โอนตามมาตรา 16 แล้ว ให้คณะกรรมการดำเนินการจัดการ ให้มีการโอนนักโทษไทยผู้นั้นต่อไปโดยเร็ว

เมื่อนักโทษไทยเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรแล้ว ในกรณีที่ศาล ของประเทศผู้โอนมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ลงโทษจำคุกหรือกักขัง ให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ทำคำสั่งเป็นหนังสือส่งตัวนักโทษไทยนั้นไปคุมขังไว้ ณ สถานที่ที่ จัดไว้ ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ถ้านักโทษไทยนั้นอยู่ภายใต้เงื่อนไขตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย การคุมความประพฤติ วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน การพักการลงโทษและ การพักการกักกัน ก็ให้นำวิธีการเช่นว่านั้นตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่ใช้อยู่ในราชอาณาจักรมาใช้ตามควรแก่กรณี

มาตรา 18 เพื่อประโยชน์ในการโอนนักโทษไทยมารับโทษต่อใน ราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งลงโทษของ ศาลแห่งประเทศผู้โอนเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งลงโทษของศาลที่มีเขตอำนาจ ในราชอาณาจักร การอุทธรณ์ ฎีกา หรือการขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ในศาล ที่มีเขตอำนาจในราชอาณาจักรเกี่ยวกับคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลตาม วรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้

มาตรา 19 เมื่อได้มีการตกลงรับโอนนักโทษไทย ให้คณะกรรมการ ใช้เอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการลงโทษที่มีการรับรองเป็นทางการโดยประเทศ ผู้โอนเป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ถ้าปรากฏว่าโทษตามคำพิพากษาหรือ คำสั่งลงโทษของศาลแห่งประเทศผู้โอนตรงกับโทษตามกฎหมายที่ใช้อยู่ใน ราชอาณาจักร ให้คณะกรรมการทำคำสั่งเป็นหนังสื อส่งไปยังเจ้าพนักงาน เรือนจำหรือเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจในการปฏิบัติตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย การคุมความประพฤติ วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน การพักการลงโทษและ การพักการกักกัน แล้วแต่กรณี เพื่อดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ในกรณีที่ปรากฏว่า โทษหรือเงื่อนไขในการรับโทษตามกฎหมายของ ประเทศผู้โอนไม่ตรงกับโทษ หรือเงื่อนไขในการรับโทษตามกฎหมายที่ใช้อยู่ ในราชอาณาจักร ให้คณะกรรมการส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อ ศาลอาญาหรือศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง เพื่อพิจารณาสั่งปรับใช้โทษหรือ เงื่อนไขในการรับโทษให้เป็นไปตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในราชอาณาจักร ทั้งนี้ โทษหรือเงื่อนไขในการรับโทษที่ปรับใช้จะต้องไม่หนักกว่าโทษหรือเงื่อนไข ในการรับโทษที่นักโทษไทยจะต้องรับในประเทศผู้โอน ในกรณีที่ปรากฏว่าความผิดที่นักโทษไทยได้รับอยู่ตามคำพิพากษา หรือ คำสั่งของศาลแห่งประเทศผู้โอนไม่เป็นความผิดที่มีโทษฐานใดฐานหนึ่งตาม กฎหมายที่ใช้อยู่ในราชอาณาจักร ให้ถือว่าการที่นักโทษไทยผู้นั้นได้รับโทษ ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าวเป็นเงื่อนไขที่ศาลมีอำนาจสั่งใช้วิธีการเพื่อ ความปลอดภัยได้ และให้ศาลปรับโทษตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นเป็นวิธีการ เพื่อความปลอดภัยอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควร แต่ต้องไม่หนักกว่า โทษหรือเงื่อนไขในการรับโทษที่นักโทษไทยจะต้องรับในประเทศผู้โอน ทั้งนี้ ให้นำวิธีการตามวรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม คำสั่งของศาลอาญาหรือศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางให้เป็นที่สุด

มาตรา 20 ให้ถือว่านักโทษไทยซึ่งได้รับการโอนมารับโทษต่อใน ราชอาณาจักรเป็นนักโทษเด็ดขาด หรือเป็นผู้ถูกสั่งใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัย การคุมความประพฤติ วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน การพักการลงโทษและ การพักการกักกัน ตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในราชอาณาจักรว่าด้วยการนั้น แล้วแต่กรณี

มาตรา 21 การอภัยโทษ เปลี่ยนโทษหนักเป็นเบาและลดโทษ การพักการลงโทษ การพักการกักกัน และการลดวันต้องโทษสำหรับนักโทษไทย ซึ่งรับโทษต่อในราชอาณาจักร ให้เป็นไปตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในราชอาณาจักร ทั้งนี้ เว้นแต่ในกรณีที่ได้มีสนธิสัญญากำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้เป็นไปตามที่ กำหนดไว้ในสนธิสัญญานั้น

มาตรา 22 ในการรับโทษต่อในราชอาณาจักร ให้นักโทษไทยซึ่ง ได้รับการโอนได้รับประโยชน์จากเหตุดังต่อไปนี้

(1) การหักระยะเวลาการลงโทษที่นักโทษไทยผู้นั้นได้รับอยู่ตาม กฎหมายของประเทศผู้โอนจนถึงวันที่มีการรับมอบ

(2) การอภัยโทษ เปลี่ยนโทษหนักเป็นเบาและลดโทษของประเทศ ผู้โอนเฉพาะในส่วนที่มีผลใช้บังคับถึงนักโทษไทยผู้นั้น

(3) กรณีที่มีกฎหมายของประเทศผู้โอนออกมาภายหลังและบัญญัติว่า การกระทำตามที่นักโทษไทยผู้นั้นได้รับโทษอยู่ไม่เป็นความผิดอีกต่อไป หรือ บัญญัติให้เป็นคุณแก่นักโทษไทยผู้นั้น

(4) การแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกคำพิพากษา หรือคำสั่ง ลงโทษของศาลแห่งประเทศผู้โอน

(5) การหักระยะเวลาตั้งแต่วันที่มีการรับมอบนักโทษไทยผู้นั้นจนถึง วันที่นักโทษไทยผู้นั้นเข้ารับโทษต่อในราชอาณาจักร เมื่อความตามวรรคหนึ่งปรากฏแก่คณะกรรมการ หรือเมื่อนักโทษไทย หรือผู้มีอำนาจยื่นคำขอตามมาตรา 13 ร้องขอ ให้คณะกรรมการมีอำนาจออก คำสั่งให้นักโทษไทยผู้นั้นได้รับประโยชน์ดังกล่าวได้ คำสั่งของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด

หมวด 4
การโอนนักโทษต่างประเทศ
____

มาตรา 23 การยื่นคำขอโอนนักโทษต่างประเทศเพื่อไปรับโทษต่อ ในประเทศผู้รับโอน ให้ประเทศที่ประสงค์จะรับโอนยื่นคำขอผ่านวิถีทางการ ทูตตามแบบวิธีการและเอกสารหลักฐานที่คณะกรรมการกำหนดต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่ ณ กระทรวงการต่างประเทศ

มาตรา 24 เมื่อได้รับคำขอพร้อมด้วยเอกสารหลักฐานครบถ้วนแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาส่งคำขอและเอกสารหลักฐานดังกล่าวต่อ เลขานุการคณะกรรมการเพื่อเสนอให้คณะกรรมการพิจารณา

มาตรา 25 การโอนนักโทษต่างประเทศจะกระทำมิได้ในกรณีใด กรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(1) เมื่อโทษที่นักโทษต่างประเทศได้รับอยู่ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เป็นโทษฐานกระทำความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระราชโอรส และพระราชธิดา ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ความผิด ต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักร หรือความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวกับ การคุ้มครองสมบัติที่มีค่าทางศิลปะของชาติ

*(2)

(ก) นักโทษต่างประเทศได้รับโทษจำคุกในราชอาณาจักรแล้ว ไม่ถึงหนึ่งในสามของโทษจำคุกทั้งสิ้นตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง หรือไม่ถึงสี่ปี สุดแต่ระยะเวลาใดจะน้อยกว่า

(ข) นักโทษต่างประเทศได้รับโทษจำคุกในราชอาณาจักรแล้ว ไม่ถึงแปดปี ในกรณีที่เป็นความผิดฐานผลิต จำหน่าย นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วย ยาเสพติดให้โทษ และมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต

(3) เมื่อโทษจำคุกที่นักโทษต่างประเทศจะต้องรับต่อไปใน ราชอาณาจักรเหลืออยู่น้อยกว่าหนึ่งปีของโทษจำคุกทั้งสิ้นตามคำพิพากษาหรือ คำสั่ง *[มาตรา 25 (2) แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2530]

มาตรา 26 คณะกรรมการอาจพิจารณาไม่อนุญาตให้โอนนักโทษ ต่างประเทศ ถ้าเห็นว่าการโอนนั้นจะมีผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคง หรือความปลอดภัยแห่งราชอาณาจักรหรือต่อความสงบเรี ยบร้อยของประชาชน

มาตรา 27 ในกรณีที่นักโทษต่างประเทศผู้ใดมีหน้าที่ต้องชำระ ค่าปรับ คืนทรัพย์สินหรือชดใช้ราคาหรือค่าเสียหายตามคำพิพากษาในคดีอาญา หรือคำสั่งของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจ นักโทษต่างประเทศผู้นั้นจะต้องทำการ ชำระคืน หรือชดใช้ดังกล่าว ให้เสร็จสิ้นก่อนที่คณะกรรมการจะมีคำสั่งเห็นชอบ ในการโอน

มาตรา 28 ให้คณะกรรมการมีคำสั่งให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ในการโอนนักโทษต่างประเทศ และให้แจ้งคำสั่งนั้นให้ประเทศผู้รับโอนทราบ โดยผ่านกระทรวงการต่างประเทศ คำสั่งของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด และให้ถือว่าคำสั่งเห็นชอบของ คณะกรรมการเป็นหลักฐานในการโอนนักโทษต่างประเทศไปยังประเทศ ผู้รับโอน

« ย้อนกลับ | หน้าถัดไป »

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย