ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ

พระราชบัญญัติ การทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. 2493

ในพระปรมาภิไธย
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
รังสิต กรมพระชัยนาทนเรนทร
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ให้ไว้ ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2493
เป็นปีที่ 5 ในรัชกาลปัจจุบัน

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าว พระมหากษัตริย์โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา จึงมีพระบรมราช โองการ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติการทะเบียน คนต่างด้าว พ.ศ. 2493

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่ วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป [รก.2493/62/984]

มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พุทธศักราช 2479 พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2481 พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว (ฉบับที่ 3) พุทธศักราช 2481 และ พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว (ฉบับที่ 4) พุทธศักราช 2483

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้ คนต่างด้าว หมายความว่า คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วย สัญชาติ ใบสำคัญประจำตัว หมายความว่า หนังสือประจำตัวของคนต่างด้าว ซึ่งนายทะเบียนได้ออกให้ตามพระราชบัญญัตินี้ นายทะเบียน หมายความว่า เจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งเพื่อ ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ เจ้าบ้าน หมายความถึงบุคคลซึ่งครอบครองบ้านในฐานะเป็นเจ้าของ ผู้เช่าหรือในฐานะอย่างอื่นใดก็ตาม ในกรณีที่เจ้าบ้านไม่อยู่ควบคุมบ้านเอง แต่ได้มอบหมายให้บุคคลใด ควบคุมอยู่ ในระหว่างที่ควบคุมอยู่นั้นให้ถือว่าผู้ควบคุมเท่านั้นเป็นเจ้าบ้าน รัฐมนตรี หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 5 คนต่างด้าวที่มีอายุตั้งแต่สิบสองปีบริบูรณ์ขึ้นไป ที่อยู่ใน ราชอาณาจักร ต้องมีใบสำคัญประจำตัว

มาตรา 6 การขอใบสำคัญประจำตัวให้ทำเป็นเรื่องราวพร้อมด้วย รูปถ่ายสามรูปยื่นต่อนายทะเบียนในท้องที่ที่คนต่างด้าวนั้นมีภูมิลำเนา ตามแบบ พิมพ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 7 คนต่างด้าวที่มีอายุสิบสองปีบริบูรณ์ หรือคนต่างด้าวที่ได้ รับอนุญาตให้เป็นคนเข้าเมืองตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองแล้ว ให้ไปขอ ใบสำคัญประจำตัวภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีอายุสิบสองปีบริบูรณ์ หรือวันที่ รับอนุญาตให้เป็นคนเข้าเมือง แล้วแต่กรณี เฉพาะในกรณีหลังให้แจ้งด้วยว่า ได้นำคนต่างด้าวอายุต่ำกว่าสิบสองปีมาด้วยกี่คน ถ้ามี เพื่อนายทะเบียนจะได้ จดลงไว้ในใบสำคัญประจำตัว

มาตรา 8 คนสัญชาติไทยผู้เสียไปซึ่งสัญชาติไทยไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้ไปขอใบสำคัญประจำตัวจากนายทะเบียนในท้องที่ที่ตนอยู่ภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รู้หรือควรรู้ว่าตนได้เสียไปซึ่งสัญชาติไทย

มาตรา 9 เมื่อนายทะเบียนได้ตรวจเรื่องราวขอใบสำคัญประจำตัว เห็นเป็นการถูกต้องแล้ว ให้นายทะเบียนออกใบสำคัญประจำตัวให้ ใบสำคัญประจำตัวให้มีลักษณะ ขนาด และรายการตามที่กำหนดใน กฎกระทรวงซึ่งอย่างน้อยให้มีรายการแสดงชื่อ วันเดือนปีเกิด อาชีพ สัญชาติ และที่อยู่ พร้อมด้วยรูปถ่ายของคนต่างด้าวนั้น และลงลายมือชื่อนายทะเบียน ไว้ด้วย

มาตรา 10 ใบสำคัญประจำตัวนั้น ให้มีกำหนดอายุดังนี้ (1) ชนิดที่หนึ่ง หนึ่งปี (2) ชนิดที่สอง ห้าปี ทั้งนี้ นับแต่วันออกใบสำคัญประจำตัวให้ ในการขอใบสำคัญประจำตัว ผู้ขอจะขอรับใบสำคัญประจำตัวชนิดหนึ่งชนิดใดก็ได้

มาตรา 11 ในการออกใบสำคัญประจำตัวหรือการต่ออายุใบสำคัญ ประจำตัว ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามอัตราซึ่งกำหนดในกฎกระทรวง แต่ไม่เกินปีละสี่ร้อยบาท

ในการออกใบแทนใบสำคัญประจำตัวในกรณีใบสำคัญประจำตัวชำรุด หรือสูญหาย ให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามอัตราซึ่งกำหนดในกฎกระทรวง แต่ไม่เกินสองร้อยบาท [มาตรา 11 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2495]

มาตรา 12 คนต่างด้าวคนใดย้ายภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ ให้นำ ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวไปแจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่ที่ตนมีภูมิลำเนาหรือ ถิ่นที่อยู่เดิม เพื่อจดข้อความลงไว้ในใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของผู้นั้น ก่อนที่จะย้ายไป และให้แจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่ที่เข้าไปอยู่ใหม่ภายใน สี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่วันไปถึง แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินกว่าสามสิบวันนับแต่วันแจ้ง ย้ายไป ในกรณีที่คนต่างด้าวออกนอกเขตจังหวัดที่ตนมีภูมิลำเนา หรือถิ่นที่ อยู่ไปชั่วคราวเกินเจ็ดวัน ต้องแจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่ที่ตนเข้าไปอยู่ชั่วคราว ภายในสี่สิบแปดชั่วโมง นับแต่วันที่ไปถึง การแจ้งในกรณีนี้จะไปแจ้งด้วยตนเอง หรือแจ้งเป็นหนังสือตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวงก็ได้ ในกรณีที่คนต่างด้าวตาย ให้เจ้าบ้านแห่งบ้านที่คนต่างด้าวนั้นตาย แจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่ที่คนต่างด้าวนั้นตาย ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาตาย [มาตรา 12 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2497]

มาตรา 13 ใบสำคัญประจำตัวของผู้ใดหมดอายุหรือชำรุดในส่วน สำคัญหรือสูญหาย ให้แจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่ที่ตนมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ภายใน เจ็ดวันนับแต่วันที่หมดอายุหรือทราบว่าชำรุดหรือสูญหาย เพื่อขอต่ออายุหรือ ขอใบแทนใบสำคัญประจำตัวใหม่ แล้วแต่กรณี

มาตรา 14 ผู้มีใบสำคัญประจำตัว ถ้าได้มีการเปลี่ยนแปลงสัญชาติ หรือเปลี่ยนอาชีพ ชื่อตัว ชื่อรองหรือชื่อสกุล ให้นำใบสำคัญประจำตัวแจ้งต่อ นายทะเบียนที่ตนมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ภายในเจ็ดวัน นับแต่วันเปลี่ยนแปลง ดังกล่าวนั้น แล้วแต่กรณี

มาตรา 15 ผู้ใดเป็นผู้อนุบาลคนต่างด้าวซึ่งเป็นคนไร้ความสามารถ หรือเป็นผู้ปกครองหรือผู้แทนโดยชอบธรรมของคนต่างด้าวซึ่งเป็นผู้เยาว์ที่มี อายุต่ำกว่าสิบหกปีบริบูรณ์ผู้นั้นมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามความในพระราชบัญญัตินี้ เพื่อคนต่างด้าวนั้น

มาตรา 16 พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่คนต่างด้าว ดังต่อไปนี้ (1) ผู้เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างในรัฐบาลไทย โดยมีหนังสือสัญญา ต่อกันตลอดเวลาที่หนังสือสัญญานั้นมีผลบังคับ (2) ผู้ซึ่งรัฐบาลต่างประเทศได้แจ้งแก่รัฐบาลว่า เข้ามาในราชการ และครอบครัวของบุคคลที่กล่าวนี้ ตลอดเวลาที่ผู้นั้นอยู่เพื่อปฏิบัติราชการ (3) ผู้ถือเอกสารเดินทางซึ่งออกให้โดยองค์การสหประชาชาติและ เอกสารนั้นยังสมบูรณ์อยู่ (4) บุคคลที่ไม่นับเข้าเป็นคนเข้าเมืองตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง คนต่างด้าวซึ่งได้รับความยกเว้นดังกล่าวข้างต้น ถ้าประสงค์จะขอรับ ใบสำคัญประจำตัว ก็ให้ส่งรูปถ่ายของตนต่อนายทะเบียน และให้นายทะเบียน ออกใบสำคัญประจำตัวให้ ในกรณีเช่นว่านี้คนต่างด้าวนั้นไม่ต้องเสียค่า ธรรมเนียม และไม่จำต้องปฏิบัติตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ในส่วนที่ว่าด้วย ใบสำคัญประจำตัว

มาตรา 17 คนต่างด้าวซึ่งต้องมีใบสำคัญประจำตัว ต้องมีใบสำคัญ ประจำตัวติดตัวหรือเก็บไว้ในลักษณะซึ่งจะแสดงต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจได้ เสมอในเมื่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเรียกร้องให้แสดง

มาตรา 18 ใบสำคัญประจำตัวของผู้ต้องเนรเทศออกนอกราชอาณาจักร ตามกฎหมายว่าด้วยการเนรเทศ หรือของผู้ที่ต้องถูกส่งกลับตามกฎหมายว่าด้วย คนเข้าเมือง หรือของผู้ออกไปนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ออกไปชั่วคราวโดยได้รับ อนุญาตให้กลับนั้น ให้เป็นอันเพิกถอนและให้คนต่างด้าวนั้นส่งใบสำคัญประจำตัว คืนนายทะเบียน

ใบสำคัญประจำตัวของคนต่างด้าวที่ตาย ให้ผู้ครอบครองหรือผู้พบส่งคืน นายทะเบียน

มาตรา 19 ในเขตหรือกรณีใด ซึ่งรัฐมนตรีเห็นเป็นการสมควรที่จะ ผ่อนผันหรือยกเว้นค่าธรรมเนียม หรือการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ก็ให้ รัฐมนตรีมีอำนาจที่จะผ่อนผันหรือยกเว้นได้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในกรณีพิเศษเฉพาะรายบุคคล รัฐมนตรีจะผ่อนผันหรือยกเว้นค่า ธรรมเนียมหรือการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ก็ได้ ตามแต่จะเห็นสมควร

มาตรา 20 ผู้ใดไม่มีใบสำคัญประจำตัวตามความในมาตรา 5 หรือ ไม่ต่ออายุใบสำคัญประจำตัวที่หมดอายุแล้วตามความในมาตรา13 หรือละเลย ไม่ปฏิบัติตามความในมาตรา 7 มีความผิดต้องระวางโทษปรับเป็นรายปี ปีละ ไม่เกินห้าร้อยบาทตลอดเวลาที่ไม่ปฏิบัติดังกล่าวแล้ว เศษของปีให้นับเป็นหนึ่งปี [มาตรา 20 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2495]

มาตรา 21 ผู้ใดละเลยไม่ปฏิบัติตามความในมาตรา 8 มีความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท [มาตรา 21 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2495]

มาตรา 22 ผู้ใดละเลยไม่ขอใบแทนใบสำคัญประจำตัวที่ชำรุดหรือ สูญหายตามความในมาตรา 13 หรือไม่ปฏิบัติตามความในมาตรา 12 มาตรา 14 มาตรา 17 หรือมาตรา 18 มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน หนึ่งพันบาท [มาตรา 22 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2495]

มาตรา 23 ผู้ใดมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้เพื่อคนต่างด้าว ตามความในมาตรา 15 และผู้นั้นละเลยไม่ปฏิบัติ มีความผิดต้องระวางโทษ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 20 หรือมาตรา 22 แล้วแต่กรณี ผู้ไร้ความสามารถหรือผู้เยาว์ซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบหกปีบริบูรณ์ ไม่ต้อง รับอาญาในความผิดต่อบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ เฉพาะในกรณีที่มีผู้อนุบาลหรือ ผู้ปกครองหรือผู้แทนโดยชอบธรรม

มาตรา 24 ใบสำคัญประจำตัวของคนต่างด้าวที่มีอยู่แล้วก่อนวันใช้ บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้ได้ต่อไปจนหมดอายุของใบสำคัญประจำตัวนั้น

มาตรา 25 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตาม พระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราช บัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

จอมพล ป.พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

______________

พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2495 (มาตรา 7)

มาตรา 7 ใบสำคัญประจำตัวของคนต่างด้าว ซึ่งมีอยู่แล้วก่อนวันใช้ บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้ได้ต่อไปจนหมดอายุใบสำคัญประจำตัวนั้น เว้นแต่ผู้ใดถือใบสำคัญประจำตัวชนิดที่ 2 ตามความในมาตรา 10 แห่งพระราช บัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2493 ผู้นั้นต้องนำเงินค่าธรรมเนียม ไปชำระเพิ่มเติมให้ครบจำนวนสำหรับระยะปีต่อไปที่ยังเหลืออยู่ภายหลังวันใช้ บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ และให้นำความในมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติ การทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2493 มาใช้บังคับแก่กรณีดังกล่าวนี้

______________

พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2495 (มาตรา 8)

มาตรา 8 ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หากกำหนดโทษปรับอย่างเดียว ให้อธิบดีกรมตำรวจหรือผู้แทนมีอำนาจสั่งเปรียบเทียบได้

______________

พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2497

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ คนต่างด้าวไม่สนใจในเรื่องแจ้งย้ายต่อนายทะเบียนคนต่างด้าวตามที่กฎหมาย ได้ระบุไว้ เป็นเหตุให้การควบคุมไม่รัดกุมและได้ผลเพียงพอตามความมุ่งหมาย ของทางราชการ ในระยะเวลาที่กฎหมายเดิมได้บัญญัติไว้ให้แจ้งย้ายภายใน กำหนด 7 วันนั้น เห็นว่าเป็นระยะห่างเกินไปกว่าที่จะติดตามตัวได้ทันท่วงที เมื่อจำเป็น จึงให้กำหนดแจ้งย้ายหรือแจ้งให้ทราบภายในกำหนด 48 ชั่วโมง นับแต่วันที่ไปถึงท้องที่ใหม่

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย