ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ

พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 1
แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2535

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2535
เป็นปีที่ 47 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงบทบัญญัติบรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ และบทบัญญัติลักษณะ 23 สมาคม ของบรรพ 3 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและ ยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2535

มาตรา 2* พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันถัดจาก วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป *[รก.2535/42/1/8 เมษายน 2535]

มาตรา 3 ให้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 1 และบรรพ 3 ดังต่อไปนี้

(1) ให้ยกเลิกบทบัญญัติบรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งได้ใช้ บังคับโดยพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 1 และ บรรพ 2 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2468

(2) ให้ยกเลิกลักษณะ 23 สมาคม ของบรรพ 3 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ ซึ่งได้ใช้บังคับโดยพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์บรรพ 3 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2471

(3) ให้ใช้บทบัญญัติท้ายพระราชบัญญัตินี้เป็นบรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่

มาตรา 4 เอกสารที่มีการใช้ตราประทับแทนการลงลายมือชื่อตามมาตรา 9 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งได้กระทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้มีผลสมบูรณ์เสมือนกับลงลายมือชื่อต่อไป

มาตรา 5 บทบัญญัติบรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจ ชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของการให้กู้ยืมเงินที่ผู้เสมือน ไร้ความสามารถได้กระทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา 6 ผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ที่ศาลได้ตั้งขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ ใช้บังคับหากยังมิได้จัดทำบัญชีทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่หรือจัดทำยังไม่แล้วเสร็จ ให้จัดทำให้แล้ว เสร็จภายในสามเดือนนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้นำมาตรา 52 และมาตรา 53 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับ

มาตรา 7 ให้องค์กรหรือหน่วยงานที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นทบวงการเมืองตาม ความหมายของมาตรา 72 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งถูกยกเลิกโดยมาตรา 3 (1) แห่งพระราชบัญญัตินี้ คงมีฐานะเป็นนิติบุคคลต่อไป

มาตรา 8 ให้บรรดาสมาคมที่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นสมาคมตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ สมาคมใดที่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก่อนวันที่ พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มิได้ใช้ชื่อซึ่งมีคำว่า สมาคม ประกอบกับชื่อของสมาคมให้ยื่นคำขอ แก้ไขข้อบังคับของสมาคมให้ถูกต้องตามมาตรา 80 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา 9 สมาคมตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง สมาคมใด มีวิธีจัดการโดยไม่มี คณะกรรมการเป็นผู้ดำเนินกิจการของสมาคมตามมาตรา 79 (6) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ถ้าสมาคมนั้นไม่ดำเนินการยื่นคำขอแก้ไข ข้อบังคับของสมาคมและจัดให้มีคณะกรรมการเป็นผู้ดำเนินกิจการของสมาคมภายในสองปีนับแต่ วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้นายทะเบียนถอนชื่อสมาคมนั้นออกจากทะเบียน

มาตรา 10 สมาคมตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง สมาคมใด มีสมาชิกไม่ถึงสิบคน หากสมาคมนั้นไม่ได้จัดให้มีจำนวนสมาชิกตามมาตรา 81 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้นายทะเบียนถอนชื่อสมาคมนั้นออกจากทะเบียนตามมาตรา 102 (5) แห่งประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 11 ให้บรรดามูลนิธิที่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นมูลนิธิตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ และให้ถือว่าตราสารก่อตั้งมูลนิธิดังกล่าว เป็นข้อบังคับของมูลนิธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราช บัญญัตินี้

มูลนิธิใดที่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก่อนวันที่ พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มิได้ใช้ชื่อซึ่งมีคำว่า มูลนิธิ ประกอบกับชื่อของมูลนิธิ ให้ยื่นคำขอ แก้ไขข้อบังคับของมูลนิธิให้ถูกต้องตามมาตรา 113 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา 12 บรรดามูลนิธิที่มีอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและมิได้เป็น นิติบุคคลถ้าประสงค์จะจัดตั้งเป็นนิติบุคคลและใช้คำว่า มูลนิธิ ประกอบชื่อของตนต่อไป ต้อง ยื่นคำขอจดทะเบียนตามมาตรา 114 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา 13 มูลนิธิตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง มูลนิธิใด มีข้อบังคับที่กำหนดให้มี ผู้จัดการของมูลนิธิไม่ถึงสามคนในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้ามูลนิธินั้นไม่ดำเนินการยื่น คำขอแก้ไขข้อบังคับของมูลนิธิเพื่อให้มีคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยบุคคลไม่น้อยกว่าสามคน เป็นผู้ดำเนินกิจการของมูลนิธิภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้นายทะเบียนดำเนินการตามมาตรา 128 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระ ใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้เพื่อสั่งการให้แก้ไขข้อบังคับของมูลนิธิให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป ถ้าปรากฏว่ามูลนิธิใดไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ก็ให้นายทะเบียนร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่ง ให้เลิกมูลนิธิตามมาตรา 131 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้าย พระราชบัญญัตินี้

มาตรา 14 บรรดาระยะเวลาที่บัญญัติไว้ในบรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์และที่บัญญัติไว้ในลักษณะ 23 สมาคม ของบรรพ 3 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ ซึ่งใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากระยะเวลาดังกล่าวยังไม่สิ้นสุดลง ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และระยะเวลาที่กำหนดขึ้นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ แตกต่างกับระยะเวลาที่กำหนดไว้เดิม ให้นำระยะเวลาที่ยาวกว่ามาใช้บังคับ

มาตรา 15 ให้แก้เลขมาตราตามที่มีอยู่ในมาตราต่าง ๆ แห่งประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์เป็นเลขมาตราตามบรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ดังต่อไปนี้

(1) มาตรา 9 วรรคสองและวรรคสาม ในมาตรา 1666 ให้แก้เป็น มาตรา 9 วรรคสอง
(2) มาตรา 29 ในมาตรา 1464 และมาตรา 1519 ให้แก้เป็น มาตรา 28
(3) มาตรา 34 ในมาตรา 1610 และมาตรา 1611 ให้แก้เป็น มาตรา 32
(4) มาตรา 60 มาตรา 61 มาตรา 63 ในมาตรา 1577 ให้แก้เป็น มาตรา 56 มาตรา 57 มาตรา 60
(5) มาตรา 65 ในมาตรา 1602 ให้แก้เป็น มาตรา 62
(6) มาตรา 66 ในมาตรา 1602 ให้แก้เป็น มาตรา 63
(7) มาตรา 81 ในมาตรา 1676 ให้แก้เป็น มาตรา 110
(8) มาตรา 85 ในมาตรา 1677 ให้แก้เป็น มาตรา 114
(9) มาตรา 130 วรรคสอง ในมาตรา 360 ให้แก้เป็น มาตรา 169 วรรคสอง
(10) มาตรา 189 ในมาตรา 248 และมาตรา 1754 ให้แก้เป็น มาตรา 193/27

มาตรา 16 บทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นที่อ้างถึงบทบัญญัติในบรรพ 1 หรือ ลักษณะ 23 ในบรรพ 3 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้ถือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น อ้างถึงบทบัญญัติที่มีนัยเช่นเดียวกันในบรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจ ชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 17 บรรดากฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา 97 และมาตรา 1297 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคง ใช้ได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจ ชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 18 ให้นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

อานันท์ ปันยารชุน
นายกรัฐมนตรี

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

- บรรพ 1
- บรรพ 2
- บรรพ 3
- บรรพ 4
- บรรพ 5
- บรรพ 6

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย