ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
องค์การสหประชาชาติ
องค์การระหว่างประเทศ ที่มีกำเนิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อแทนองค์การสันนิบาตชาติ และเพื่อทำหน้าที่หลักอันได้แก่ การธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ และความมั่นคงปลอดภัยระหว่างประเทศ โดยอาศัยความยุติธรรม และกฎหมายระหว่างประเทศเป็นหลัก
องค์การสหประชาชาติ ก่อตั้งเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2488 ประเทศสมาชิกผู้ริเริ่ม 51 ประเทศ การประชุมเตรียมการก่อตั้งองค์การระหว่างประเทศ เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2484 เมื่อผู้แทนฝ่ายพันธมิตร ได้ประชุมในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีการออกแถลงการณ์กฎบัตรแอตแลนติก ระหว่างสหรัฐอเมริกา กับอังกฤษ เพื่อเป็นแนวทางก่อตั้งองค์การระหว่างประเทศ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ต่อมาในปี พ.ศ.2485 ผู้แทนประเทศพันธมิตร 26 ประเทศ ได้มาประชุมกันที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และร่วมลงนามในคำประกาศ แห่งสหประชาชาติ ที่ประชุมให้คำมั่นว่า จะปฎิบัติตามจุดมุ่งหมาย และหลักการแห่งกฎบัตรแอตแลนติก
ในปี พ.ศ.2488 ที่ประชุมผู้แทน 51 ประเทศ รับรองร่างกฎบัตรสหประชาชาติ ซึ่งมีทั้งหมด 111 มาตรา แบ่งเป็น 19 หมวด ระบุวัตถุประสงค์สำคัญ ๆ ขององค์การไว้หลายประการ
องค์การสหประชาชาติ มีหน่วยงานหกองค์กรคือ สมัชชา คณะมนตรีความมั่นคง คณะมนตรีเศรษฐกิจ และสังคม คณะมนตรีภาวะทรัสตี ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และสำนักเลขาธิการ
ทั้งหกองค์กรของสหประชาชาติ ต่างมีองค์กรรองเพื่อช่วยปฎิบัติงาน เช่น กองทุนสงเคราะห์เด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และสำนักงานข้าหลวงใหญ่ เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)
นอกเหนือจากองค์กรหลักและองค์กรรองแล้ว ยังมีทบวงการชำนาญพิเศษจำนวน 17 ทบวง เป็นองค์กรอิสระมีคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยประสานงาน
กฎบัตรสหประชาชาติเรื่องสมาชิกภาพ กำหนดให้รัฐที่ยอมรับข้อผูกพันของกฎบัตร สมัครเข้าเป็นสมาชิกได้ แต่ต้องได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 9 ใน 15 เสียง และคะแนนเสียงข้างมาก สองในสาม ของสมาชิกสมัชชาที่เข้าร่วมประชุม
ในปี พ.ศ.2548 องค์การสหประชาติมีสมาชิก 191 ประเทศ การหมดสมาชิกภาพมีสองลักษณะคือ การระงับสมาชิกภาพชั่วคราว โดยคณะมนตรีความมั่นคง ใช้อำนาจบังคับให้ประเทศสมาชิก ให้ประเทศสมาชิกใดประเทศหนึ่ง งดใช้เสียงเป็นรายกรณี กับการให้ออกจากสมาชิกภาพโดยมติสมัชชา ตามคำแนะนำของคณะมนตรีความมั่นคง แต่ประเทศนั้นอาจกลับเข้าเป็นสมาชิก โดยวิธีการขอเข้าเป็นสมาชิกใหม่
>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>