ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

สมาธิ

มีบทนิยามว่า "ความตั้งมั่นแห่งจิต ; ความสำรวมใจให้แน่วแน่เพื่อให้จิตใจสงบ เพื่อให้เกิดปัญญาเห็นแจ้ง" บทนิยามของสมาธิที่พบเสมอในพระไตรปิฎกคือ ภาวะที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง หมายถึง การที่จิตกำหนดแน่วแน่อยู่กับสิ่งใดได้นาน ไม่ฟุ้งซ่าน หรือซัดส่าย ไปอื่น

พระพุทธเจ้า ทรงอธิบายสมาธิไว้ในคัมภีร์อัฎฐกนิบาต ตอนหนึ่งว่า
"เพราะฉะนั้นแล ภิกษุ เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักเป็นจิตที่ตั้งมั่น ดำรงแน่วเป็นอย่างดีภายใน และธรรมทั้งหลายที่ชั่วร้ายเป็นอกุศล จักไม่เกาะกุมจิตตั้งอยู่ได้ ภิกษุ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล
"เมื่อใดแล จิตของเธอ เป็นจิตตั้งมั่นดำรงแน่วเป็นอย่างดีแล้ว ในภายในและธรรมทั้งหลายที่ชั่วร้ายเป็นอกุศล ไม่เกาะกุมจิตตั้งอยู่ได้ เมื่อนั้นเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเจริญ จักทำให้มากซึ่งเมตตาเจโตวิมุตติ ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้งให้มั่นคง สั่งสมจัดเจน ทำให้สำเร็จได้เป็นอย่างดี ภิกษุ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล
"เมื่อใดแล สมาธินี้เป็นธรรมอันเธอได้เจริญ ได้กระทำให้มากอย่างนี้แล้ว เมื่อนั้นเธอพึงเจริญสมาธินี้ อันมีทั้งวิตก ทั้งวิจาร บ้าง อันไม่มีวิตก มีแต่วิจาร บ้าง อันมีปิติ บ้าง อันไม่มีปิติ บ้าง อันประกอบด้วยความฉ่ำชื่น บ้าง อันประกอบด้วยอุเบกขา บ้าง ฯลฯ "

จิตที่เป็นสมาธิ จะมีลักษณะสำคัญ ดังนี้
1. แข็งแรง มีพลังมาก เปรียบเหมือนกระแสน้ำที่ถูกควบคุมให้ไหลพุ่งไปในทิศทางเดียว ย่อมมีกำลังแรงกว่าน้ำที่ถูกปล่อยให้ไหลพร่า กระจายออกไป
2. ราบเรียบ สงบซึ้ง เหมือนสระ หรือบึงน้ำใหญ่ ที่มีน้ำนิ่งไม่มีลมพัดต้อง ไม่มีสิ่งรบกวนให้กระเพื่อมไหว
3. ใสกระจ่าง มองเห็นอะไร ๆ ได้ชัดเหมือนน้ำสงบนิ่ง ไม่เป็นริ้วคลื่น และฝุ่นละออง ที่มีก็ตกตะกอน นอนก้นหมด
4. นุ่มนวล ควรแก่งาน หรือเหมาะแก่การใช้งาน เพราะไม่เครียด ไม่กระด้าง ไม่วุ่น ไม่ขุ่นมัว ไม่สับสน ไม่เร่าร้อน ไม่กระวนกระวาย

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย