ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

ต้นสน

เป็นพืชพวกไม้เนื้ออ่อน หรือพืชเมล็ดเปลือย หรือพืชใบเรียวแคบ คล้ายเข็ม หรือเส้นลวด หรือเป็นเกร็ด นอกจากนี้ ยังใช้เรียกพืชพวกไม้เนื้อแข็งที่ออวุล  มีผิวรังไข่ห่อหุ้มมิดชิดบางชนิด ที่มีรูปทรงของใบคล้ายรูปเข็ม หรือเส้นลวด หรือคล้ายเหล็กหมาด อีกด้วย

ไม้ถิ่นเดิมในประเทศไทย ได้แก่

1. สนสองใบ สนหางม้า สนหางหมา หรือสนเขา  เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูงถึง 30 เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดรูปกรวย หรือกลม กิ่งมักคดงอ เป็นข้อศอก ลำต้นเปลาตรง ใบเรียว แข็งออกเป็นกระจุก กระจุกละสองใบ และติดเป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง ดอกแยกเพศอยู่ต่างช่อ ในต้นเดียวกัน ผลหรือโคน เป็นรูปกรวยค่อนข้างยาว รูปไข่ พบขึ้นเป็นกลุ่มทั่วไปทั่วทุกภาค ยกเว้น ภาคตะวันออกและภาคใต้ สนสองใบให้ปริมาณยางสนสูงกว่าสนสามใบ เนื้อไม้มีสีเหลืองอ่อน ถึงสีน้ำตาลอมชมพู มีวงปีเห็นชัด และมีน้ำมันหรือยางสีเหลืองอ่อนซึมอยู่ในส่วนที่เป็นกระพี้ ใช้ทำสิ่งปลูกสร้างภายในร่ม และไม่ต้องรับน้ำหนักมากนัก

2. สนสามใบ หรือสนเขา  เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูงถึง 30 เมตร ไม่ผลัดใบ ลักษณะต่าง ๆ คล้ายสนสองใบ ต่างกันที่สนสามใบ มีใบออกเป็นกระจุก กระจุกละสามใบ ผลหรือโคนมีลักษณะป้อม หรือรูปกรวยคว่ำ ขึ้นเป็นกลุ่มในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามป่าสนเขา ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 - 1,600 เมตร ใช้ประโยชน์เช่นเดียวกับสนสองใบ

3. สนสามพันปี สนสร้อย หรือสนหางกระรอก  เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูงถึง 35 เมตร ไม่ผลัดใบเรือนยอดรูปทรงกลม ปลายกิ่ง ห้อยลู่ลง ลำต้นค่อนข้างเปลาตรง ใบเดี่ยวมีสองรูป ใบตามกิ่งอ่อน จะเรียวเป็นรูปเข็ม หรือรูปเหล็กหมาด ใบงุ้มเข้าติดเรียงกันเป็นพวง ดอกแยกเพศอยู่ต่างช่อในต้นเดียวกัน ผลหรือเมล็ดเล็ก รูปไข่ ผิวเกลี้ยงเป็นมัน สีแสด การขยายพันธุ์นิยมใช้เมล็ดเพาะ พบขึ้นกระจายทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ ตามป่าดิบเขา สูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 - 1,300 เมตร  เนื้อไม้สีน้ำตาลปนแดง ใช้ทำสิ่งปลูกสร้างในร่ม ทำเครื่องตกแต่งบ้าน เครื่องกลึง เครื่องแกะสลัก และทำเยื่อกระดาษได้ดี น้ำมันที่กลั่นได้จากเนื้อไม้ ทำน้ำมันชักเงา และผสมสี

4. สนใบพาย หรือสนใบเล็ก  เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูงถึง 8 เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดรูปกรวย หรือรูปทรงกลม ลำต้นค่อนข้างเปลาตรง ใบเดี่ยวติดเวียนถี่ ตามปลายกิ่ง ใบรูปขอบขนาน หรือรูปหอกแคบ ๆ ดอกแยกเพศอยู่ต่างช่อ และต่างต้นกัน ผลหรือเมล็ดเล็กรูปไข่ การขยายพันธุ์ใช้เมล็ดเพาะ พบขึ้นกระจายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามป่าดิบ สูงจากระดับน้ำทะเล 800 - 1,000 เมตร เนื้อไม้สีเหลืองอ่อน ถึงสีน้ำตาล ใช้ทำเครื่องกลึง เครื่องแกะสลัก และด้ามเครื่องมือเกษตรกรรม

5. สนแผง หรือสนใบต่อ  เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูงถึง 30 เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดรูปพิรามิด หรือกลม ปลายกิ่งห้อยลู่ลง ลำต้นค่อนข้างเปลาตรง ใบเดี่ยวเป็นเกล็ด ติดตรงข้ามและสลับทิศทางกัน ติดลู่แนบไปกับกิ่งคล้ายลายกนก ดอกแยกเพศอยู่ต่างช่อในต้นเดียวกัน ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก  การขยายพันธุ์นิยมใช้เมล็ดเพาะ พรรณไม้ต้นแบบได้จากภาคใต้ของจีน พบขึ้นกระจายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามป่าดิบเขาสูงจากระดับน้ำทะเล 800 - 1,300 เมตร เนื้อไม้สีเหลืองอ่อน ถึงสีน้ำตาลแดง กลิ่นหอมอ่อน ใช้ต่อเรือ ทำเครื่องตกแต่งบ้าน สิ่งปลูกสร้างภายในร่ม และใช้เป็นไม้หุ้มแกนดินสอ

6. สนกระ  เป็นพุ่ม สูง 2 เมตร ไม่ผลัดใบ ใบเดี่ยวออกตรงข้ามเป็นคู่ แต่ละคู่สลับทิศทางกัน ใบรูปรีแกมหอก ดอกรูปแจกันสีขาว กลิ่นหอมอ่อน เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ออกเดี่ยว ๆ หรือรวมกันเป็นกระจุกตามปลายกิ่ง ผลเล็กกลม เป็นชนิดผลเมล็ดแข็ง  การขยายพันธุ์นิยมใช้เมล็ดเพาะชำ หรือตอนกิ่ง พบขึ้นทั่วทุกภาคตามป่าดิบ เขาสูง จากระดับน้ำทะเล 50 - 1,200 เมตร ปลูกเป็นไม้ดอก และไม้ประดับ

7. สนทราย สนนา  สนแดงสนสร้อยไก่ สนหางไก่ สนเทศ สนสร้อยหรือ สนหอม เป็นไม้พุ่ม สูงไม่เกิน 5 เมตร ไม่ผลัดใบ ใบเดี่ยว ติดตรงข้ามกันเป็นคู่ ทำให้เกิดเป็นพวง ใบรูปเข็ม หรือรูปเหล็กหมาด ยาวไม่เกิน 1 ซม. ผิวใบมีต่อมน้ำมันทั่วไป ใบแห้งมีกลิ่นหอมอ่อน ดอกสีขาวมีกลิ่นหอมอ่อน ออกเดี่ยว ๆ ตามง่ามใบ ผลกลมเล็ก การขยายพันธุ์ใช้เมล็ดเพาะ พบตามที่โล่งหรือป่าหญ้า ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ สูงจากระดับน้ำทะเล 20 - 1,200 เมตร ปลูกเป็นไม้ประดับ กิ่งเล็ก ใบและดอกมีกลิ่นหอม ใช้ชงน้ำแทนชาดื่ม เพื่อลดไข้

8. สนทะเล  เป็นไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ สูง 30 เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดรูปเจดีย์ หรือรูปกรวย กิ่งชี้ขึ้นแต่ปลายกิ่งจะลู่ลงเล็กน้อย กิ่งอ่อนเรียวคล้ายเส้นลวด และต่อเป็นปล้อง ๆ ออกรวมกันเป็นกลุ่มคล้ายแส้ม้า ลำต้นเปลาตรง มักแตกกิ่งต่ำ ใบเดี่ยวคล้ายเกล็ดแหลม ติดรอบข้อของกิ่งอ่อน ดอกสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน เป็นดอกแยกเพศ อยู่ต่างช่อในต้นเดียวกัน ผลเป็นชนิดผลแห้ง แตกออกรมกันเป็นก้อนกลม การขยายพันธุ์นิยมใช้เมล็ดเพาะ พบตามชายฝั่งทะเล ทั้งด้านอ่าวไทย และมหาสมุทรอินเดีย ตามป่าชายหาด เนื้อไม้มีสีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลแดง มีเสี้ยน แปรรูปยากใช้ทำเสา คานที่รองน้ำหนักมาก ๆ เปลือกให้น้ำฝาด และสี ใช้ย้อมแห อวน หรือตาข่ายจับปลา นิยมปลูกเป็นไม้กำบังลม เป็นไม้แต่งกิ่ง และให้ร่มเงา

พรรณไม้ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ได้แก่

1. สนประดิพัทธ์  เป็นไม้ต้น มีขนาดลักษณะรูปทรงคล้ายสนทะเล แต่เรือนยอดชะลูดไม่แตกกิ่งใหญ่ ใบตามข้อกิ่งอ่อน มีข้อละ 9 - 11 ใบ ช่อดอกเพศตัวผู้และเพศตัวเมีย อยู่ต่างต้นกัน นิยมปลูกเป็นสวนป่า ปลูกสองข้างถนน และปลูกประดับ เนื้อไม้มีสีน้ำตาลแดง เหนียวและแข็งมาก ใช้ทำเสากระโดงเรือ เสาโป๊ะ เสาเข็ม ทำด้ามเครื่องมือทางเกษตรกรรม เครื่องกลึงและเครื่องแกะสลัก

2. สนปัตตาเวีย  เป็นไม้ต้น มีขนาดลักษณะและรูปร่างคล้ายสนประดิพัทธ์ หรือสนทะเล แต่ใบตามช่อกิ่งอ่อนมีข้อละสี่ใบ ช่อดอกเพศผู้ และเพศเมียอยู่ต่างต้นกัน ใช้ประโยชน์เช่นเดียวกับสนทะเล และสนประดิพัทธ์

3. สนก้างปลา  เป็นไม้เถาล้มลุก ทุกส่วนมียางเหนียว ใบเดี่ยว รูปไข่แกมรูปขอบขนาน ดอกรูปแตร สีแดงเข้ม เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ผลเป็นชนิดแห้ง แตกรูปทรงกลม นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ

4. สนราชินี  เป็นไม้เถาล้มลุก มีเหง้า และรากเป็นพวงใต้ดิน ลำต้นหรือเถามีหนามสั้น ๆ ใบเดี่ยวรวมเป็นกระจุก รอบกิ่งย่อย ใบรูปเข็ม หรือรูปเหล็กหมาด ดอกสีขาว สมบูรณ์เพศออกเดี่ยว ๆ ไม่เกินสองดอก ตามง่ามใบ ผลเล็กกลม เป็นชนิดเมล็ดแข็ง ปลูกเป็นไม้ประดับ

5. สนอินเดีย  เป็นไม้ต้น สูงถึง 20 เมตร ไม่ผลัดใบ ลำต้นเปลาตรง เรือนยอด รูปเจดีย์ หรือรูปกรวย ใบเป็นช่อเรียงเวียนตามปลายกิ่ง ดอกสมบูรณ์เพศ สีเหลืองหรือสีแสด ออกรวมเป็นช่อ ผลกลม เป็นชนิดผลแห้งแตก ปลูกเป็นไม้ประดับ และให้ร่มเงา

6. สนปอย หรือสนหมอก  เป็นไม้พุ่มเตี้ยไม่ผลัดใบ กิ่งย่อยออกเวียนลำต้น ใบเดี่ยว คล้ายเกร็ดแหลม ๆ ติดเรียงสลับ ดอกเล็กสีขาวหรือขาวอมชมพู ดอกสมบูรณ์เพศ ออกรวมกันเป็นช่อ ตามปลายกิ่งหรือง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ผลเล็กกลมมีสามพู นำมาปลูกเป็นไม้กระถาง และไม้ประดับสวน

กลุ่มพืชเมล็ดเปลือย

1. สนจีน  สนข้าวเปลือก สนหนามจีน สนญี่ปุ่น หรือสนหูเสือ เป็นไม้ต้นสูงถึง 20 เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดรูปเจดีย์ หรือค่อนข้างกลม กิ่งชูตั้งขึ้น ใบเดี่ยวติดตรงข้ามเป็นคู่ ทรงใบคล้ายเกล็ด หรือรูปเหล็กหมาดสั้น ๆ ดอกเล็กแยกเพศอยู่ต่างช่อ ในต้นเดียวกัน ผลกลมแข็ง ปลูกเป็นไม้ประดับ

2. สนทอง  ลักษณะต่าง ๆ เช่นเดียวกับสนจีน แต่สนทอง ออกสีเหลืองอ่อน และเป็นไม้พุ่มเตี้ย

3. สนหางสิงห์สนเทศ หรือสนแผง  เป็นไม้พุ่ม หรือไม้ต้นเล็ก สูงถึง 10 เมตร ไม่ผลัดใบ มักแตกกิ่งต่ำ เรือนยอดรูปพีระมิด หรือค่อนข้างกลม ใบเดี่ยว ออกตรงข้ามและสลับทิศทางกัน ใบรูปสามเหลี่ยมคล้ายเกล็ด แนบกับกิ่ง ดอกแยกเพศอยู่ต่างช่อ ในต้นเดียวกัน ผลกลมหรือรูปไข่ ปลูกเป็นไม้ประดับ

4. สนข้าวเม่า  เป็นไม้ต้น สูงถึง 20 เมตร ไม่ผลัดใบ ลำต้นเปลาตรง ใบเดี่ยวติดตรงข้าม หรือเยื้องกันเล็กน้อย ใบรูปรีแกมรูปหอก ดอกแยกเพศอยู่ต่างช่อและต่างต้นกัน ผลรูปไข่มีกาบเรียงซ้อนกัน หุ้มคล้ายเกล็ด ปลูกเป็นไม้ประดับ เนื้อไม้ใช้ทำสิ่งปลูกสร้างทั่ว ๆ ไป น้ำมัน หรือชัน ทำน้ำมันชักเงาที่มีคุณภาพสูง

5. สนหนาม  เป็นไม้ต้นสูงถึง 30 เมตร ไม่ผลัดใบ กิ่งอ่อนมักแยกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลำต้นเปลาตรง ใบเดี่ยวเรียงเวียนไปตามกิ่ง ใบรูปหอก แกมรูปขอบขนาน ปลายเป็นหนามแหลม โคนใบสอบ ไม่เห็นก้านใบ ดอกแยกเพศอยู่ต่างช่อและต่างต้นกัน ผลรูปไข่หรือรูปกรวย มีกาบเรียงซ้อนเกยกัน คล้ายเกล็ด นำมาปลูกเป็นไม้ประดับ เนื้อไม้ใช้ทำสิ่งปลูกสร้างทั่วไป

6. สนหนาม  เป็นไม้ต้นสูงถึง  40 เมตร  ไม่ผลัดใบ กิ่งอ่อนมักแยกตรงกันข้าม ใบเดี่ยวเรียงเวียนถี่ ๆ ใบรูปเข็ม หรือรูปเหล็กหมาดงุ้มเข้า ดอกแยกเพศอยู่ต่างช่อและต่างต้นกัน ผลเป็นรูปไข่หรือรูปกรวย มีกาบเรียงซ้อนเกยกันคล้ายเกล็ด นำมาปลูกเป็นไม้ประดับ เนื้อไม้ใช้ทำสิ่งปลูกสร้างทั่วไป

7. สนฉัตร  ลักษณะทั่ว ๆ ไปคล้ายสนหนาม แต่ผลมีขนาดใหญ่กว่า ปลูกเป็นไม้ประดับ เนื้อไม้ใช้ทำสิ่งปลูกสร้าง

8. สนฉำฉา  เป็นไม้ต้นสูงถึง 20 เมตร ไม่ผลัดใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ ใบรูปหอก แกนขอบขนาน ดอกแยกเพศอยู่ต่างช่อและต่างต้นกัน ผลเป็นเมล็ด มีลักษณะกลม นำมาปลูกเป็นไม้ประดับ หรือไม้กระถาง

9. สนญี่ปุ่น  หรือ สนใบพาย  ลักษณะทั่ว ๆ ไป คล้ายสนฉำฉา แต่สนญี่ปุ่นเป็นไม้พุ่ม ใบมีขนาดเล็ก ติดกิ่งดูเป็นพวงตามปลายกิ่ง ปลูกเป็นไม้ประดับ

10. สนญี่ปุ่น  เป็นไม้ต้นสูงถึง 50 เมตร ไม่ผลัดใบ ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดรูปเจดีย์ ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่ ๆ ตามกิ่งอ่อน ใบรูปเข็ม หรือเหล็กหมาด ปลายใบงุ้มเข้าแข็ง และแหลมคล้ายหนาม ดอกแยกเพศแต่อยู่ในต้นหรือกิ่งเดียวกัน ดอกเพศผู้สีเหลืองอ่อน ออกรวมกันเป็นช่อเล็ก ๆ รูปไข่ และมีมากช่อ เป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง หรือตามง่ามใบ ใกล้ปลายกิ่ง และอยู่เหนือกลุ่มช่อดอกเพศเมีย ผลหรือโคน มีลักษณะกลมแข็งประกอบด้วย กาบปลายแหลม ชอบขึ้นตามภูเขา เนื้อไม้สีขาว มีความแข็งแรง และทนทานสูงมาก

11. สนหนามจีน  เป็นไม้ต้น สูงถึง 30 เมตร ไม่ผลัดใบ ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดรูปกรวย หรือค่อนข้างกลม ดอกแยกเพศ แต่อยู่ในต้นและกิ่งเดียวกัน ผลเป็นรูปทรงกลม หรือป้อม ประกอบด้วยกาบที่มีปลายแหลม คล้ายหนาม ปลูกเป็นไม้ประดับ

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย