ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
ราชนีติ
คัมภีร์ราชนีติ นับว่าเป็นปรัชญาการปครองที่มีความสำคัญต่อการศึกษา ทางด้านการเมืองและการปกครองมาก ราชนีติ มีทั้งเป็นพากย์ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต ราชนีติ มีผู้รจนาร่วมกันอยู่สองคืนคือ สันนิษฐานว่าได้รจนาขึ้นภายหลังพุทธกาล เพราะปรากฎว่ามีหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาปะปนอยู่หลายแห่ง บางแห่งก็ระบุว่า เป็นคำสอนทางพระพุทธศาสนา
หลักคำสอนในราชนีติปกรณ์ นี้พอจะแยกออกได้เป็นสี่ประเภท ด้วยกันคือ
1. คำสอนทั่ว ๆ ไป
2. คุณสมบัติของพระราชาธิบดี หรือนักปกครอง
3. การพิจารณาแต่งตัวบุคคลให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ
4. กลวิธีในการที่จะเอาชนะข้าศึก
1. คำสอนทั่ว ๆ ไป ไม่เจาะจงว่าจะต้องเป็นของบุคคลใด หรือเหล่าใดโดยเฉพาะ เช่น ข้อความในคาถาที่สามมีความว่า "พึงทราบว่าใครจะมีความรู้ ก็ด้วยการเจรจา พึงทราบว่าใครจะมีศีลธรรมจรรยา ก็ด้วยการอยู่ร่วม พึงทราบว่าใคร จะมีมือสะอาด ก็ด้วยการดำเนินในราชกิจทุกอย่าง พึงทราบว่าใคร จะเป็นลูกผู้ชายจริง ก็ในเวลามีอันตรายเกิดขึ้น"
2. ส่วนที่เกี่ยวกับคุณสมบัติของพระราชาธิบดี ในส่วนที่เกี่ยวกับคุณสมบัติ หรือคุณธรรมของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น พระราชาธิบดี หรือ นักปกครอง ทั่ว ๆ ไปนั้น แต่ละคาถาล้วนให้หลักปรัชญาและคติธรรม ที่ควรแก่การที่ผู้ปกครองบ้านเมือง จะนำไปประพฤติปฎิบัติ หรือเสริมสร้างให้มีอยู่ในตน เช่น คาถาที่ 28 มีความว่า "พระเจ้าอยู่หัวต้องทรงปรารถนารักษาคุณธรรม ทรงทำพระองค์ตามคุณธรรมก่อน แค่นั้นจึงทรงวิจารณ์ถึงส่วนที่เหลือ
ในคาถาที่ 48 - 53 ได้สอนให้พระราชาธิบดี หรือ นักปกครอง สำเหนียกเยี่ยง ราชสีห์ นกยาง ไก่ กา สุนัข และ ลา นอกจากนั้น ยังมีอีกเป็นจำนวนมาก เช่น ในคาถาที่ 74 - 75 มีความว่า " พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใด ไม่มีนักปราชญ์เป็นที่ปรึกษา ไม่ทรงเชื่อคำของปุโรหิต ข้าเฝ้าผู้ภักดี และพระสหายร่วมพระทัย พระองค์ก็เป็นเหมือนคนตาบอด ที่ไม่มีคนจูง ไม่นานก็จะถึงความพินาศ
3. ส่วนที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งตัวบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งต่าง ๆ พระราชาธิบดี หรือผู้ปกครองประเทศจะต้องรู้จัก แต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตามความรู้ความสามารถของเขา ดังในคาถาที่ 5 - 22 เช่น "ข้าเฝ้า ผู้มีคุณสมบัติคือ มีตระกูล และศีลาจารวัตร มีสัตย์ มีธรรม มีปัญญาดี มีศีลดี มีหลักดี เป็นคนขยัน ควรตั้งข้าเฝ้าเช่นนี้ไว้ในตำแหน่งผู้พิพากษา" และ "ข้าเฝ้า ที่รู้ตำราพิชัยสงคราม รู้จักผ่อนปรนพาหนะมิให้ลำบาก มีความแกล้วกล้า อาจหาญ ควรตั้งให้เป็นแม่ทัพ"
4. ส่วนที่เกี่ยวกับการที่จะเอาชนะข้าศึกศัตรู ได้มีคำแนะนำเกี่ยวกับการบำรุงมิตร และทำลายศัตรูไว้ หลายสิบคาถา เช่น ในคาถาที่ 97 - 98 ได้กล่าวถึงการบำรุงมิตร มีความว่า " ความเป็นมิตรทำได้ง่าย แต่การรักษาความเป็นมิตรนั้น ทำได้ยาก เหตุนั้นใครมีลักษณะมิตรแท้ พระเจ้าอยู่หัวผู้ฉลาดเฉียบแหลมย่อมทรงบำรุงมิตรนั้นไว้ "
ในส่วนที่เกี่ยวกับศัตรูได้มีคำแนะนำไว้มากมาย โดยเฉพาะตั้งแต่คาถาที่ 99 - 117
มีความบางตอนดังนี้
99. พึงแบกศัตรูไว้บนบ่า ตราบเท่าที่ยังไม่ได้โอกาส แต่พอได้โอกาส
ก็ต้องรีบทำลายเหมือนทุบหม้อดินที่หิน ฉะนั้น
108. กลางคืนกาแพ้นกเค้า กลางวันนกเค้าแพ้กา จระเข้อยู่บนบก
ก็ตกอยู่ในอำนาจของราชสีห์ ราชสีห์ตกน้ำ ก็ตกอยู่ในอำนาจของจระเข้
>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>