ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

ชนชาติเม็ง

เม็งเป็นชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งในภาคเหนือ เชื่อกันว่าเม็งเป็นเจ้าของวัฒนธรรมอันเก่าแก่ ซึ่งได้สืบทอดมาถึงคนภาคเหนือในสมัยหลัง ปัจจุบันยังมีชนกลุ่มเม็งอาศัยในจังหวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน เม็งกลุ่มนี้มีวิวัฒนาการประวัติความเป็นมาวัฒนธรรม ประเพณีและความเชื่อของตนที่แตกต่างไปจากกลุ่มชนอื่น ๆ ในภาคเหนือ

คำว่า เม็ง เป็นคำที่ชาวภาคเหนือ หรือล้านนาเรียกชนชาติในตระกูลมอญ เขมร จากหลักฐานศิลาจารึก และศิลปกรรมที่ขุดพบ สันนิษฐานว่า ศูนย์กลางของมอญโบราณ หรือเม็งอยู่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ อาณาจักรทวารวดีในพุทธศตวรรษที่ 12 - 13 ซึ่งพบศิลาจารึกอักษรมอญที่นครปฐม ราชบุรี อู่ทอง และลพบุรี ความเจริญของเม็ง หรือมอญแบบทวารวดีได้ขยายตัวไปทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ได้พบศิลาจารึกมอญที่เมืองฟ้าแดดสูงยาว จ.กาฬิสนธุ์ และที่หริภุญชัย หรือลำพูน มีอายุเก่าถึงพุทธศตวรรษที่ 16 และต้นพุทธศตวรรษที่ 17 ต่อมาครามเจริญของเม็ง หรือมอญย้ายไปมีศูนย์กลางที่เมืองสะเทิม ในพม่าตอนใต้ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 16

เม็งจากวรรณกรรมท้าวฮุง หรือท้าวเจือง ฉบับประเทศลาวขุนเจือง เป็นวีรบุรุษของชนหลายเผ่า เช่น ลาว อีสาน ล้านน่าและเชียงตุง เชื่อว่า ขุนเจืองมีชีวิตอยู่ระหว่างปี พ.ศ.1625 - 1705 ในวรรณกรรมเรื่องนี้เขียนถึงคนเม็งว่า เม็ง มอญ และขอม เป็นชนเผ่าเดียวกัน

อาจกล่าวได้ว่าในพุทธศตวรรษที่ 13 พวกเมงคบุตร ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองของลุ่มแม่น้ำปิง ได้มีความสัมพันธ์ผสมผสานกับชนกุล่มอื่น คือ ละโว้ และลัวะ พร้อมกับพัฒนาวัฒนธรรมของตนเป็นแบบหริภุญชัย โดยได้รับอิทธิพลจากทวารวดีที่ละโว้ หรือภาคกลาง อาณาจักรทวารวดีนั้น เป็นอาณาจักรของคนที่พูดภาษามอญโบราณ ในภาคกลางได้ขยายอำนาจ หรือวัฒนธรรมของตนขึ้นไปถึงพวกเม็งที่หริภุญชัย และต่อมาได้ขยายลงมาถึงลุ่มแม่น้ำวังใน จ.ลำปางด้วย

จากการพบศิลปะสกุลหริภุญชัย หรือมอญที่พบในเมืองหริภุญชัย และเมืองบริวารได้แก่ เวียงเถาะ อ.จอมทอง เวียงท่ากาบ อ.สันป่าตองและเวียงมะโน อ.หางดง จ.เชียงใหม่ พบศิลปะวัตถุ เช่น พระพุทธรูป พระพิมพ์ ศิลาจารึกภาษามอญที่เหมือนกับที่พบในภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะศิลาจารึกภาษามอญโบราณ ที่พบนั้นมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับศิลาจารึกที่เมืองพุกาม สมัยพระเจ้าครรชิตประมาณปี พ.ศ.1628 - 1655 แสดงว่าเม็ง หรือมอญที่อาศัยอยู่ที่ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความสัมพันธ์กับมอญที่อยู่ในพม่าตอนใต้

อักษรเม็งหรือมอญโบราณได้พัฒนามาสู่อักษรพื้นเมืองในภาคเหนือคือ อักษรธรรมล้านนา ปฏิทินของเม็งได้นำมาใช้ร่วมกับปฏิทินของล้านนา ในการจดบันทึกทั้งศิลาจารึก และใบลาน

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย