ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

ฟาเหียน

เป็นชื่อพระธรรมจารึกชาวจีน ผู้ปรากฏชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานหนึ่งในจำนวนสามรูป คือฟาเหียน ถังซัมจั๋ง (หยวนจั้ง ฮวนฉ่าง หรือเซียนจัง) และอีจิ้ง (หงี่เจ๋ง)

พระธรรมจาริกชาวจีนทั้งสามรูปได้เดินทางจากประเทศจีนไปสืบพระศาสนายังประเทศอินเดีย เล่าเรื่องการเดินทางของท่านไว้ทุกรูปเป็นศาสนประวัติ แสดงเรื่องพระพุทธศาสนา วรรณคดีและโบราณคดีเป็นประโยชน์แก่การศึกษาอย่างกว้างขวาง

ฟาเหียน (พ.ศ.917 - 1103) เกิดที่ตำบลบู๊เอี๋ยง จังหวัดเพ่งเอี๋ยง มณฑลเชนสี คำว่า ฟาเหียนเป็นชื่อฉายา เมื่ออุปสมบทเป็นสมณะจีนรูปแรก ที่ได้เดินทางไปสืบพระศาสนา เมื่อปี พ.ศ.942 ก่อนพระถังซัมจั๋งราว 230 ปี

ฟาเหียนบรรพชนเป็นสามเณรแต่ยังเล็กเติบโตอยู่ในวัดจนได้อุปสมบทเป็นคนมีวิริยะกล้า ศึกษาพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนา เห็นความประพฤติของพระภิกษุมหายานวิปริตไม่ลงรอยกัน ต่างฝ่ายอ้างว่าฝ่ายตนปฏิบัติถูกต้องไม่มีครูบาอาจารย์คนใดตัดสินได้ จึงตั้งจิตอธิษฐานเดินทางไปสืบหาพระคัมภีร์พระพุทธศาสนาที่ถูกต้องยังประเทศอินเดีย

ฟาเหียนกับสหายอีกหลายรูปออกเดินทางจากประเทศจีน โดยทางบกไปยังชมพูทวีป ดูการพระศาสนาไปตลอดทาง นัยว่าใช้เวลาถึงหกปีอยู่ศึกษา และคัดลอกพระคัมภีร์อยู่อีกสี่ปี ออกจากชุมพูทวีปข้ามไปแสวงหาพระคัมภีร์ที่เกาะลังกาอีกสามปี จึงเดินทางกลับประเทศจีนใช้เวลาทั้งหมดสิบห้าปี

เมื่อกลับถึงประเทศจีนได้พระภิกษุชาวอินเดียรูปหนึ่งผู้เป็นสหายใกล้ชิดชื่อ พุทธภัทสะ มาช่วยแปลคัมภีร์ที่เป็นภาษาสันสกฤตออกเป็นภาษาจีน และได้ช่วยบันทึกเรื่องการเดินทางตามคำบอกของตนด้วย การเดินทางของฟาเหียน มีสมณทูตร่วมทางแบ่งเป็นสองคณะละห้ารูป ก่อนออกเดินทางฟาเหียนปรารภว่าเห็นพระวินัยปิฎกไม่มีระเบียบเป็นแบบปฏิบัติ ในหมู่สงฆ์มีความวิปลาสคลาดเคลื่อนไม่มีผู้ใดตัดสิ้นว่าผิดถูกจึงปรึกษากับเพื่อนภิกษุพร้อมใจกันออกเดินทางไปสืบพระศาสนา เฟ้นหาคัมภีร์พระวินัยปิฎกที่ถูกต้องสมบูรณ์

คณะธรรมจาริกออกจากเมืองเชียงอาน มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก ผ่านด่านชายแดนหลายด่าน คณะธรรมจาริกทั้งสองคณะ แยกกันออกเดินทางแล้วนัดพบ
กันข้างหน้าที่ด่านตุนกวนตรงสุดกำแพงใหญ่ นายด่านนิมนต์คณะธรรมจาริก นักสอนธรรมอยู่เดือนเศษ แล้วจัดพาหนะคนนำทาง และเสบียงเดินทางเตรียมตัว ข้ามทะเลทรายโกบี อันเป็นเส้นทางวิบากทางเดียว ที่ชาวอินเดียกับชาวจีน ใช้ติดต่อกันมาแต่โบราณ โกษีเป็นทะเลทรายกว้างใหญ่กลางทวีปเอเชียมีพายุร้อน ภูตผีปีศาจ ผู้เดินทางต้องล้มตายเป็นอันมาก เบื้องบนไม่มีนกบิน เบื้องล่างไม่มีสัตว์ออกหากินมองสุดสายตาไม่เห็นเส้นทางมองเห็นแต่กระดูกมนุษย์เป็นระยะ ๆ คณะของฟาเหียนผ่านไปได้แต่มีบางรูปเลิกล้มความตั้งใจ เดินทางกลับ

พ้นทะเลทรายแล้วต้องขึ้นเขาสูงผ่านแม่น้ำลึกไปตลอดแนว เดินไปหลายวันจึงพบบ้านผู้คน ตลอดทางที่ผ่านไปบางวัดมีภิกษุฝ่ายเถรวาท มีวินัยเคร่งครัดจำนวนหลายพันรูป บางวัดเป็นมหายาน เฉพาะที่เมืองโขตานทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศทิเบต มีภิกษุฝ่ายมหายานเป็หมื่น มีวัดใหญ่ 14 วัด เป็นเมืองพระพุทธศาสนาภิกษุฝ่ายเถรวาท และมหายานต่างฝ่ายต่างอยู่ศึกษาบำเพ็ญสมณธรรม ไม่มีการวิวาทกัน คณะธรรมจาริกพักที่เมืองโขตานสามเดือน เพื่อรอดูงานแห่พระพุทธรูป

ฟาเหียนเหยียบแผ่นดินชมพูทวีปทางเมืองตักกสิกา แคว้นคันธาระได้พบวัดและเจดีย์ที่มีความสวยงาม ทุกเวลาเช้าพระเจ้าแผ่นดิน เสด็จบูชาพระเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุ และมีพระเจ้าแผ่นดินในเมืองอื่นส่งช่างมาวาดรูปพระพุทธฉายาอยู่ไม่ขาด

จากเมืองอุทยานผ่านไปถึงราชอาณาจักรมัธยะ (มัธยมประเทศ) เป็นใจกลางของจักรวรรดิ์ ราชวงศ์คุปตะ อากาศร้อนประชาชนส่วนมากประกอบอาชีพการเกษตร ยึดมั่นในศีลธรรมต่างเคร่งครัดไม่มีใครเลี้ยง หมู เป็ด ไก่ เป็นอาหารไม่มีการขายวัว ควายให้เป็นอาหาร และไม่มีโรงต้มกลั่นสุรา

ในเวลานั้นพระพุทธศาสนาในอาณาจักรมัธยะเสื่อมโทรมมาก ยากแก่การแสวงหาพระคัมภีร์ที่สมบูรณ์ ฟาเหียนต้องจาริกไปตามเมืองต่าง ๆ เพื่อศึกษาภาษาสันสกฤต บาลีและต้องปลีกเวลาออกแสวงหาพระคัมภีร์ด้วย เมืองต่าง ๆ ดังกล่าวได้แก่ เมืองสังกัสสะ กันยากพย์ (กาโนช) สาเกต สาวัตถี กบิลพัสดุ เวสาลี ปาตลีบุตร นาลันทา ราชคฤห์ คยา พาราณสีโกสัมพี

ที่เมืองปาตลีบุตรหวังจะได้คัดลอกคัมภีร์พระวินัยปิฎก หรือพระปาติโมกข์ ฉบับดั้งเดิมกลับได้แต่คัมภีร์วินัยหมวดมหาสังคีติและอีกสิบแปดหมวด ทุกหมวดมีมติของอาจารย์ (ฝ่ายมหายาน) ปะปนอยู่ แต่หลักปฏิบัติส่วนใหญ่ไม่แตกต่างกัน ต่อจากนั้นได้คัดลอกพระวินัยอีกหมวดหนึ่งประมาณเจ็ดพันคาถา เป็นวินัยของสงฆ์นิกายสรวาสติวาท หมวดนี้พระสงฆ์ในประเทศจีนปฏิบัติอยู่ แต่ไม่ได้จารึกไว้เป็นลายลักษณอักษรที่แห่งเดียวกันนี้ ได้คัมภีร์สังยุตตอภิธัมมหทัย เป็นหนังสือประมาณหกพันคาถา กับได้พระสูตรอีกหมวดหนึ่งประมาณสองพันห้าร้อยคาถา ได้คัมภีร์ปรินิพพานสูตร คัมภีร์อภิธรรม และมหาสังคีติด้วย ฟาเหียนพักอยู่ที่สังฆารามแห่งนี้สามปี ศึกษาภาษาสันสกฤต และคัดลอกคัมภีร์ต่าง ๆ ได้มากกว่าที่อื่น

ในที่สุดฟาเหียนได้คัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับสมบูรณ์ชุดหนึ่งที่มีผู้เก็บซ่อนไว้ในเจดีย์วัดมหายานในสุวรรโณทยาน เมืองสาวัตถีเป็นพระไตรปิฎก มีข้อความถูกต้องครบถ้วน ตามที่พระมหาเถระร่วมกันร้อยกรองเป็นหมวดหมู่ไว้ตั้งแต่สังคายนาครั้งแรก พระไตรปิฎกฉบับนี้เป็นของฝ่ายเถรวาท แสดงว่าในสมัยนั้นพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในอินเดียหาผู้เอาใจใส่เกือบไม่ได้ เมื่อได้พระไตรปิฎกฉบับนี้แล้ว ฟาเหียนพยายามแสงหาคัมภีร์พระสูตรฝ่ายมหายานต่อไป ได้เดินทางไปอยู่ที่แคว้นจัมปาตามลำน้ำคงคา ไปทางทิศตะวันออกพักคัดลอกคัมภีร์พระสูตรภาษาสันสกฤต (ของมหายาน) รวบรวมพระพุทธรูปหล่อ และภาพเขียนเท่าที่หาได้ใช้เวลาที่เมืองนี้สองปี เตรียมตัวเดินทางไปเกาะลังกา เพื่อสืบศาสนาที่เกาะนั้นแล้วจะกลับประเทศจีนทางทะเล

มาตอนหลังฟาเหียนศึกษาคัดลอกพระคัมภีร์อยู่ผู้เดียว รวมเวลาตั้งแต่เดินทางจากเมืองเชียงอานมาเป็นเวลาสิบสองปี ฟาเหียน อาศัยเรือสำเภาออกจากชมพูทวีปสิบสี่วันถึงเกาะลังกา พักอยู่ที่มหินตเลได้เข้าบูชาพระทันตธาตุ จาริกบูชาตามสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา คัดลอกคัมภีร์ที่ต้องการอยู่อีกสองปี ได้คัมภีร์พระวินัยปิฎกฉบับของนิกายมหิสาสกะ คัมภีร์ทีรฆาคม (ทีฆนิกาย) สัมยุตาคม (สังยุตนิกาย) และคัมภีร์ปกรณ์วิเสส จนเป็นที่พอใจแล้ว อาศัยเรือสำเภาจากเกาะลังกา หมายใจจะกลับประเทศจีน

ฟาเหียนรอนแรมไปกลางทะเลถูกพายุหนักอยู่สิบห้าวัน ต้องทิ้งสัมภาระหนักลงทะเลเหลือไว้แต่คัมภีร์ และพระพุทธรูป สำเภาลอยอยู่ในทะเลถึงเก้าสิบวัน คลื่นซัดเข้าสู่ฝั่งประเทศชวา ซึ่งเป็นเกาะใหญ่เห็นประชาชนนับถือศาสนาพราหมณ์ มีผู้เข้าพุทธรรมบ้างแต่เพียงเล็กน้อย ต้องอาศัยรอหาเรือใหญ่เตรียมเสบียงอาหาร อยู่บนเกาะนี้ห้าเดือน

สำเภาบรรทุกผู้โดยสารสองร้อยคน มุ่งหน้าไปทางทิศอีสานตรงไปมณฑลกวางตุ้ง แล่นไปได้เดือนเศษ บังเกิดพายุพัดอย่างหนัก พวกคนเรือส่วนใหญ่นับถือศาสนาพราหมณ์ ต่างเห็นกันว่าเพราะมีนักบวชในพระพุทธศาสนา อาศัยมาเป็นกาลกิณี  ควรจะส่งขึ้นเกาะ บังเอิญผู้โดยสารคนหนึ่งนับถือพระพุทธศาสนา เป็นอุปัฎฐากฟาเหียนมาแต่เกาะลังกาคัดค้าน ยอมให้ส่งตัวเองขึ้นเกาะแทน แล้วขู่ว่าถ้าไปถึงแผ่นดินจีน จะนำเรื่องไปฟ้องพระเจ้าแผ่นดินจีน ผู้เป็นอัครศาสนูปถัมภกพระพุทธศาสนา คนเรือจึงไม่กล้าส่งฟาเหียนขึ้นเกาะ สำเภาแล่นต่อไปอีกสิบสองวัน ก็ถึงยังเมืองเชียงกวาง มณฑลซิงจิว ลีอี้ผู้รักษาการจังหวัดเป็นชาวพุทธเคร่งครัด ทราบว่ามีสมณะนำพระสูตรและพระปฎิมา มาจากชมพูทวีปก็ออกมาต้อนรับ ให้พักอยู่ตลอดพรรษา เมื่อออกพรรษา ฟาเหียนก็ลาเดินทางต่อไปเมืองเชียงอาน นำพระคัมภีร์ และพระพุทธรูปตรงไปเมืองหลวง (นานกิง) เข้าหาพระเถระผู้ใหญ่ รวบรวมสมณะน้อยใหญ่ ร่วมกับพระเถระพุทธภัทระ ชาวอินเดีย ตั้งกองแปลคัมภีร์ออกเป็นภาษาจีน รวมเวลาตั้งแต่ออกจากเมืองเชียงอาน (อายุ 25 ปี) ศึกษาคัดลอกคัมภีร์รวมเวลาสิบห้าปี

พระจักรพรรดิ์ผู้ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ให้ตั้งกองนักปราชญ์พระพุทธศาสนามหายานของจีนขึ้น และให้รวบรวมพระคัมภีร์ทั้งหลาย ที่ฟาเหียนนำมาจากชมพูทวีปไว้เป็นคัมภีร์ในชุดพระไตรปิฎกมหายานของจีนทั้งหมด

ฟาเหียนมีชีวิตต่อมาอีกสี่สิบปี ถึงมรณภาพ เมื่ออายุแปดสิบปี

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย