ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
เจ้าฟ้ารั่ว
เป็นพระนามของเจ้าฟ้ารั่ว ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง ฯ กรุงสุโขทัยได้แผ่ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง ซึ่งได้กระทำโดยสองวิธีคือ วิธีแรก โดยทำศึกสงครามปราบปรามเมืองต่าง ๆ ที่เป็นอิสระ วิธีหลังคือ เมืองเหล่านั้นอ่อนน้อมสวามิภักดิ์พ่อขุนรามคำแหงได้อาณาจักรมอญมาเป็นประเทศราช เนื่องจากเจ้าฟ้ารั่วผู้ครองอาณาจักรมอญมาสวามิภักดิ์
เจ้าฟ้ารั่วมีนามเดิมว่า มะกะโท หลักฐานไทยไม่ตรงกับหลักฐานมอญหรือพม่าเกี่ยวกับประวัติเจ้าฟ้ารั่ว ตามหลักฐานไทยเจ้าฟ้ารั่ว มีเชื้อสายไทยใหญ่อยู่ที่เมืองเมาะตะมะ ต่อมาได้เป็นพ่อค้าเร่เดินทางไปยังกรุงสุโขทัย ส่วนหลักฐานมอญมีใจความว่า เมื่อมอญได้รวมกันเป็นอาณาจักรเดียวกันได้ การกบฏได้เกิดขึ้นในแคว้นตะนาวศรี เมื่อพระเจ้านรสีหบดีแห่งอาณาจักรพุกามขึ้นครองราชย์ มีพวกกบฎมอญพวกหนึ่งชื่อมะกะโทมีบิดาเป็นนักผจญภัยคนไทย มารดาเป็นมอญ เกิดที่เมืองสะโตง ตามหลักฐานพม่าเมื่อการกบฏล้มเหลว มะกะโทได้หนีมารับราชการในกรมช้าง ณ กรุงสุโขทัย ต่อมามีความชอบพ่อขุนรามคำแหง ฯ โปรดให้มะกะโทเข้ารับราชการในราชสำนัก และได้ผูกสมัครรักใคร่กับราชธิดาองค์หนึ่งของพระองค์ แล้วแอบหนีไปอยู่เมืองเมาะตะมะ
เมื่อมะกะโททราบว่ากองทัพพม่าพ่ายแพ้พวกมองโกล เขาได้เกลี้ยกล่อมให้เจ้าเมืองมอญที่นิยมพม่าประจำเมืองเมาะตะมะมาทำการกบฏ ครั้นถูกปฎิเสธ เขาที่ได้ปลุกระดมชาวเมืองเมาะตะมะให้ก่อการจลาจล และจับเจ้าเมืองคบนั้นฆ่าเสียแล้วยกตนเองเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า เจ้าฟ้ารั่ว ต่อมาเมื่อกรุงพุกามแตกแล้วในปี พ.ศ.1830 มะกะโทได้รวบรวมพรรคพวกสมทบกับตะระพญา ซึ่งเป็นมอญเหมือนกัน และเจ้าเมืองหงสาวดีขับไล่พม่าออกจากแคว้นหงสาวดีได้ปกครองดินแดน ทั้งหมดทางใต้เมืองแปร และเมืองตองอูคือ หัวเมืองมอญทั้งหมด มะกะโทได้เป็นกษัตริย์ครองอาณาจักรมอญ
มะกะโทได้มีสาสน์กราบทูลขอพระราชทานอภัยโทษต่อพ่อขุนรามคำแหง ฯ ในการพาพระราชธิดาไปจากกรุงสุโขทัย อาณาจักรมอญ จึงเป็นประเทศราชของกรุงสุโขทัย ตลอดรัชกาลของพระองค์
ครั้นเจ้าฟ้ารั่วสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.1839 แล้ว มีการชิงราชสมบัติในที่สุดพระเจ้าแสนเมืองมิ่งได้ขึ้นครองราชบัลลังก์มอญ และตั้งเป็นอิสระต่อกรุงสุโขทัย เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นภายหลังพ่อขุนรามคำแหง ฯ สวรรคตแล้ว (พ.ศ.1822 - 1842)
>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>