ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่สอง แห่งราชวงศ์จักรี เป็นพระราชโอรสองค์ที่สอง ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ทรงพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ.2310 ทรงพระนามเดิมว่า ฉิม เมื่อพระชนมายุ 16 พรรษา ทรงได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร

พ.ศ.2332 ทรงผนวช และประทับอยู่ที่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) ต่อมาได้รับพระราชทานอุปราชาภิเษกเป็น พระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าฟ้าบุญรอด เมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว ได้ทรงสถาปนาเป็น พระอัครมเหสี มีพระราชโอรสด้วยกันสามองค์ องค์ที่หนึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์  องค์ที่สองคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ และองค์ที่สามคือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ ส่วนพระราชโอรสองค์ใหญ่คือ พระองค์เจ้าทับ ประสูตแต่เจ้าจอมมารดาเรียม ได้รับสถาปนาเป็น กรมหมื่นเจษฎาบดินทร ภายหลังได้ครองราชย์ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ

พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.2352 เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.2367 ในการพัฒนาบ้านเมือง พระองค์ทรงมีความมุ่งหมายที่จะเสริมสร้างการป้องกันเมืองหน้าด่านไว้ โปรดให้สร้างเมืองขึ้นที่ปากลัด สำหรับสกัดกั้นข้าศึกที่อาจจะมาทางทะเล มีป้อมและเครื่องป้องกันข้าศึกทุกปราการ พระราชทานนามว่า เมืองนครเขื่อนขันธ์ โปรดให้สร้างเมืองสมุทรปราการขึ้น ให้มีป้อมปราการและเครื่องป้องกันข้าศึก ที่จะมารุกรานทางทะเล

กรุงรัตนโกสินทร์ได้ธงชาติประจำประเทศไทย ในรัชสมัยของพระองค์เป็นครั้งแรก โดยโปรดให้ทำรูปช้างสี่ขาว อยู่กลางวงจักร ติดในธงพื้นแดง เมื่อปี พ.ศ.2360 ต่อมาให้มีรูปช้างสีขาว ในธงแดงเท่านั้น เพื่อใช้เป็นธงสำหรับชักบนเรือกำปั่นหลวง ที่แต่งไปค้าขายกับนานาประเทศ

พระองค์ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี ทรงให้สร้างวัดสุทัศน์ ต่อจนเสร็จทรงให้บูรณะปฎิสังขรณ์วัดแจ้ง แล้วพระราชทานนามว่า วัดอรุณราชวราราม โปรด ฯ ให้สร้างพระมณฑปพระพุทธบาท ต่อจนเสร็จ พระองค์ได้มีพระราชกำหนดห้ามการสูบฝิ่น และการซื้อขายฝิ่น เมื่อปี พ.ศ.2354 ผู้ใดฝ่าฝืนต้องได้รับโทษรุนแรง

พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถทางวรรณกรรมและศิลปกรรม วรรณคดีของชาติเจริญรุ่งเรืองมากในรัชสมัยของพระองค์ ทรงชำนิชำนาญลักษณะโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน พระราชนิพนธ์ที่สำคัญคือ บทละครเรื่องอิเหนา รามเกียรติ์ ไชเชษญ์ คาวี ไกรทอง มณีพิชัย และสังข์ทอง เสภาเรื่องขุนช้าง - ขุนแผน กาพย์เห่เรือ

ในด้านการต่างประเทศ พม่าได้ยกำลังทางบกและทางเรือ มาตีหัวเมืองไทยทางปักษ์ใต้ ฝ่ายทะเลตะวันตก เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์ได้เพียงสองเดือน พม่าตีได้เมืองตะกั่วป่า และตะกั่วทุ่ง แล้วข้ามไปล้อมเมืองถลาง พอทราบว่ากองทัพไทยยกมาใกล้เมืองถลาง จึงกวาดต้อนผู้คนริบทรัพยสมบัติเอา จุดไฟเผาเมืองถลาง แล้วยกทัพกลับไป ส่วนกองทัพพม่าที่ยกมาตีเมืองชุมพร ต้านทานกองทัพไทยไม่ได้ก็แตกหนีกลับไป  ต่อมาในปี พ.ศ.2362 พระเจ้าจักกายแมง ได้เกลี้ยกล่อมพระยาไทรบุรีเข้าเป็นพวก ชุมนุมกองทัพที่เมืองเมาะตะมะ ฝ่ายไทยจัดกำลังสี่กองทัพ กองทัพที่หนึ่งไปตั้งที่เมืองกาญจนบุรี เพื่อต่อสู้ข้าศึกที่จะเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ กองทัพที่สอง ตั้งอยู่ที่เมืองพชรบุรี เพื่อต่อสู้ข้าศึกที่จะยกเข้ามาทางด่านสิงขร กองทัพที่สาม ยกไปทางเมืองถลาง กองทัพที่สี่ คอยต่อสู้ข้าศึกที่จะยกเข้ามาทางหัวเมืองปักษ์ใต้ แต่ทัพพม่าไม่ยกเข้ามาเพราะต้องเผชิญศึกกับอังกฤษ

เกี่ยวกับเขมรและญวน เมื่อตอนต้นรัชกาลเขมรเป็นประเทศราชของไทย ญวนเป็นไมตรีกับไทย ต่อมาเขมรมักไม่เชื่อฟังไทย และส่งเครื่องราชบรรณาการไปให้ญวนทุกปี ในด้านสัมพันธภาพกับจีนในปี พ.ศ.2353 โปรดให้ทูตานุทูตเชิญพระราชสาสน์ไปถวายพระเจ้าเกียเข่ง ณ กรุงปักกิ่ง เพื่อทรงทราบที่ได้มีการเปลี่ยนรัชกาลใหม่ พร้อมกับการเจริญทางพระราชไมตรีที่ได้มีมาแต่ก่อน ต่อมาในปี พ.ศ.2363 พระเจ้าเต้ากวางราชโอรสได้ขึ้นครองราชย์ ได้มีพระราชสาสน์มาแจ้งว่า จีนได้เปลี่ยนรัชกาลทางไทย ได้ให้พระยาสุวัสดิสุนทรเป็นราชทูต เชิญพระราชสาสน์ไปถวายบังคมพระศพพระเจ้าเกียเข่ง และแสดงความยินดีกับพระเจ้าเต้ากวาง พร้อมถวายเครื่องราชบรรณาการ การเจริญทางพระราชไมตรีระหว่างไทยกับจีน มีลักษณะเป็นพระราชไมตรี เพื่อขอความสะดวกในการค้าขายกับจีน

โปร์ตุเกสเป็นประเทศในทวีปยุโรปที่ไทยได้เปิดความสัมพันธ์เป็นประเทศแรก เมื่อปี พ.ศ.2054 ต่อมาในปี พ.ศ.2361 เจ้าเมืองหมาเก๊าได้ให้ชาวโปร์ตุเกสผู้หนึ่ง เดินทางเข้ามาขอความสะดวกในการค้าขาย และการต่อเรือ ฝ่ายไทยได้ในการต้อนรับในฐานะเป็นพ่อค้าชาวต่างประเทศ และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงอภัยวานิช พร้อมกับที่ดินและบ้าน ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสถานเอกอัครราชทูตโปร์ตุเกส หลวงอภัยวานิชได้นำปืนมาขายให้แก่รัฐบาลไทย และต่อมาก็ได้เป็นกงสุลโปร์ตุเกสประจำกรุงเทพ ฯ

อังกฤษได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับไทยภายหลังโปร์ตุเกส รัฐบาลอังกฤษมอบให้ผู้สำเร็จราชการอินเดีย แต่งทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศต่าง ๆ ในแหลมอินโดจีนในปี พ.ศ.2365 ฝ่ายจอห์นครอเฟิร์ดได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูตมาเจรจาขอให้ไทยยกเลิก หรือลดหย่อนการเก็บภาษี และวิธีการค้าขายสินค้าบางอย่างเป็นของหลวง และต้องการเจรจาเรื่องเมืองไทรบุรีกับไทยด้วย โดยประสงค์จะให้เจ้าพระยาไทรบุรีพ้นจากอำนาจเมืองนครศรีธรรมราช แต่การเจรจาประสบความล้มเหลวเนื่องจากอุปสรรคทางภาษา

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย