ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

ปราสาทหินพิมาย

ตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของเมืองพิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา เมืองนี้เคยเป็นเมืองมาแต่โบราณ ปัจจุบันมีฐานะเป็นอำเภอ

ลักษณะเมืองพิมายเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ 565 เมตร ยาวประมาณ 1,030 เมตร กำแพงเมืองทั้งสี่ด้านเป็นเนินดิน ประตูเมืองก่อด้วยศิลาทรายในเมืองมีสระแก้ว สระพลุ่งและสระขวัญ นอกกำแพงเมืองมีสระเพรง

ปราสาทหินพิมายเป็นพุทธสถานมีกำแพงสี่เหลี่ยมล้อมรอบมีประตูซุ้มทั้งสี่ทิศ ช่องประตูซุ้มอยู่ตรงกัน ประตูซุ้มใหญ่ที่สุดอยู่ด้านหน้าอยู่ทางทิศใต้ คงเป็นเพราะแต่เดิมมีถนนตัดจากประเทศกัมพูชาขึ้นมาทางทิศใต้

หน้าประตูซุ้มแห่งนี้ก่อเป็นสะพานนาค กว้างประมาณ 4 เมตร ยาวประมาณ 32 เมตร สูงจากพื้นดินประมาณ 2.50 เมตร มีบันไดลงสู่พื้นดินแยกเป็นสามทาง ที่เชิงบันไดตั้งรูปสิงห์ แล้วจึงถึงประตูซุ้ม ประตูซุ้มก่อแบ่งเป็นสามคูหาจากทิศใต้ไปทางทิศเหนือ

ต่อจากประตูซุ้มด้านทิศใต้ชักปีกกาเป็นกำแพงออกไปข้างละราว 80 เมตร แล้วจึงหักมุมเป็นแนวกำแพงด้านทิศตะวันออก และทิศตะวันตกต่อไป ส่วนบนหรือหลังคาของซุ้มประตูด้านทิศใต้ ตรงคูหากลางก่อสูง นอกนั้นลดหลั่นกันไปตามลำดับ การสร้างประตูซุ้มมีคูหาติดต่อกันทั้งสี่ทิศนี้ ทำให้แลดูมีลักษณะคล้ายรูปกากบาท ประตูซุ้มของกำแพงทางทิศเหนือ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ก็มีลักษณะอย่างเดียวกับประตูทางทิศใต้ ผิดแต่ไม่มีสะพานนาคข้างหน้าเท่านั้น กำแพงของปราสาทหินพิมายสร้างด้วยศิลาทรายสีแดง ทางด้านเหนือและด้านใต้ยาวประมาณ 220 เมตร ด้านตะวันออก และด้านตะวันตก ยาวประมาณ 277.50 เมตร

นอกประตูซุ้มด้านทิศใต้มีซากอาคารสร้างด้วยศิลาทราย และศิลาแลงอยู่หลังหนึ่งทางทิศตะวันตก ขนาดกว้างประมาณ 26 เมตร ยาวประมาณ 35 เมตร เดิมเรียกกันว่าคลังเงิน ปัจจุบันเปลี่ยนเรียกชื่อเป็นธรรมศาลา

ถัดประตูซุ้มด้านใต้เข้าไปเป็นลานใหญ่คือ สามชั้นนอก มีสระน้ำอยู่สี่มุม มุมละสระ บนลานชั้นนอกตอนใกล้ประตูซุ้มกำแพงทิศตะวันตก มีซากอาคารก่อด้วยศิลาหลังหนึ่ง สันนิษฐานว่า อาจเป็นพระตำหนัก หรืออาจเป็นหอไตร หรือบรรณาลัย ที่เก็บรักษาตำราทางศาสนาก็ได้

ต่อจากลานชั้นนอกเข้าไปถึงระเบียงคดก่อยกฐานมีประตูซุ้มสี่ทิศ และประตูทางทิศใต้มีขนาดใหญ่กว่า ประตูทางทิศอื่น ภายในระเบียงคด มีทางเดินทะลุถึงกันทั้งสี่ด้าน หลังคามุงด้วยแผ่นศิลาทำเป็นรูปหลังคาเรือประทุน ที่ประตูซุ้มด้านใต้ของระเบียงคดมีค่าจารึกอยู่บนแผ่นหินด้านขวามือร้าวปี พ.ศ.1651 และ 1655

ต่อจากระเบียงคดเข้าไปจะเป็นลานชั้นใน เป็นที่ตั้งของปรางค์สามองค์ และอาคารหนึ่งหลัง ปรางค์ใหญ่อยู่ตรงกลาง ปรางค์น้อยอยู่ข้างหน้าทั้งซ้าย และขวาของปรางค์องค์ใหญ่ องค์ซ้ายเรียกกันว่า ปรางค์พรหมทัต องค์ขวาเรียกว่า ปรางค์หินแดงบนทับหลังของปรางค์พรหมทัต มีภาพสลักพระพุทธรูปทรงเครื่องประทับยืน เป็นแนวมีบริวารประกอบทับหลังชิ้นนี้อยู่ในศิลปะขอมแบบบายน สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ด ด้านหลังปรางค์หินแดง มีอาคารน้อยหลังหนึ่งได้พบศิวลึงค์ขนาดย่อม สลักด้วยศิลา 2 - 3 ชิ้น เรียกอาคารหลังนี้ว่า หอพราหมณ์

ถัดปรางค์พรหมทัตกับปรางค์หินแดงเข้าไปเป็นปรางค์องค์ใหญ่ คือปรางค์องค์ประธานของปราสาทหินพิมาย ทัพสัมภาระที่ใช้ก่อสร้างมีทั้งศิลาปูนและศิลาทราย ประตูเข้าออกองค์ปรางค์มีทั้งสี่ทิศ มุขหน้าของปรางค์ใหญ่มีทางขึ้นลงสามทางคือ ซ้าย ขวาและหน้า

ทับหลังชิ้นสำคัญสี่ชิ้นที่อยู่เหนือประตูชั้นในด้านหน้ารอบปรางค์องค์กลางแสดงให้เห็นว่า ปราสาทหินพิมายสร้างขึ้นในพระพุทธศาสนาลัทธิมหายาน คือ ด้านทิศใต้จำหลักภาพเป็นสองแนว แนวบนเป็นพระพุทธรูปนาคปรกประทับอยู่ระหว่างกลางพระพุทธรูปทรงเครื่องปางสมาธิหกองค์ แนวล่างมีภาพอุบาสก อุบาสิการนำสิ่งของมาถวาย  ด้านทิศตะวันตกจำหลักเป็นสองแนวเช่นกัน แนวบนเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องประทับยืนอยู่ระหว่างต้นไม้คู่หนึ่ง มีกษัตริย์นั่งเฝ้าอยู่ข้าง ๆ พร้อมด้วยบริวาร แนวล่างเป็นรูปพนักงานชาวประโคมกับฟ้อนรำ  ด้านทิศเหนือจำหลักภาพเป็นสองแนว แนวบนเป็นภาพเทวดาสามพักตร์สี่กรห้าองค์ เข้าใจว่าคือ พระวัชรสัตว์ คือพระโพธิสัตว์ประจำองค์ พระอาทิพุทธเจ้าในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน  ด้านทิศตะวันออกจำหลักเป็นสองแนวเช่นกัน แนวบนเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางสมาธิ ประทับนั่งเรียงแถวอยู่ในเรือนแก้วสิบองค์ แนวล่างเป็นเทพบุตรและเทพธิดากำลังฟ้อนรำ

จากจารึกและศิลปะซึ่งตกอยู่ในศิลปะขอมแบบปาปวน (ราวพ.ศ.1550 - 1650)  จึงอาจกล่าวได้ว่าปราสาทหินพิมาย คงจะเริ่มสร้างในสมัยพระจ้าชัยวรมันที่หก (พ.ศ.1623 - 1650)  และสำเร็จลงในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 17

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย