ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
หลวงพิบูลสงคราม
เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ยาวนานเป็นประวัติการณ์คือ ระยะแรก ระหว่างปี พ.ศ.2482 - 2487 ระยะที่สองระหว่างปี พ.ศ.2491 - 2500 รวมเวลาถึง 16 ปี
หลวงพิบูลสงคราม (แปลก) เกิดเมื่อปี พ.ศ.2440 เข้าเรียนที่โรงเรียนนายทหารบก เมื่อปี พ.ศ.2452 ออกเป็นนักเรียนทางการนายร้อย เมื่อปี พ.ศ.2458 อยู่เหล่าทหารปืนใหญ่ ได้รับพระราชทานยศเป็นนายร้อยตรี เมื่อปี พ.ศ.2460 เข้าเรียนในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก เมื่อปี พ.ศ.2464 และได้รับทุนไปศึกษาวิชาทหารปืนใหญ่ เมื่อปี พ.ศ.2467 ได้พบปะกับเพื่อนนักเรียนไทยในฝรั่งเศสหลายคน นัดพบกันในกรุงปารีส เพื่อวางแนวทางเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อเรียนจบหลักสูตรในปี พ.ศ.2470 แล้วก็เดินทางกลับประเทศไทย ได้รับพระราชทานยศเป็นนายร้อยเอก ได้รับตำแหน่งหน้าที่ราชการสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปี พ.ศ.2475 ได้รับพระทานยศเป็นนายพันตรี และบรรดาศักดิ์เป็นหลวงพิบูลสงคราม ประจำกรมจเรทหารปืนใหญ่ และเป็นนายทหารประจำพระองค์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์อีกตำแหน่งหนึ่ง สมัยนั้นนายพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นจเรทหารปืนใหญ่
ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี พ.ศ.2475 นายพันตรีหลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้มีบทบาทสำคัญคนหนึ่งในฝ่ายทหาร และได้รับแต่งตั้งจากคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวคนหนึ่ง ในจำนวน 70 คน และได้เป็นกรรมการราษฎรคนหนึ่งในจำนวน 14 คน ซึ่งมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นประธาน และต่อมาก็ได้เป็นรัฐมนตรีคนหนึ่งในคณะรัฐมนตรี
ในปี พ.ศ.2476 ได้เป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีชุดที่สาม มียศเป็นนายพันโท ตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารฝ่ายยุทธการ ต่อมาในปี พ.ศ.2477 ได้รับพระราชทานยศเป็นนายพันเอกและได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นครั้งแรก และเป็นรองผู้บัญชาการทหารบก และเป็นผู้บัญชาการทหารบกในปี พ.ศ.2478
ในปี พ.ศ.2481 ได้เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกและได้รับพระราชทานยศเป็นนายพลตรี ในการสร้างชาติให้เจริญก้าวหน้ารัฐบาลของนายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม ได้ประกาศใช้รัฐนิยมรวม 12 ฉบับ ในฉบับที่หนึ่ง ได้เปลี่ยนชื่อประเทศสยาม เป็นประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2482 และเพื่อให้มีการปฏิบัติตามรัฐนิยมกันอย่างแพร่หลายรัฐบาลจึงได้ตรา พ.ร.บ.บำรุงวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2483 ขึ้น ต่อมาได้มีประเทศพระบรมราชโองการ กำหนดวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่แทนวันที่ 1 เมษายน โดยเริ่มปีใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2484 แทนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2483
ในด้านการต่างประเทศรัฐบาลจัดให้มีการฉลองสนธิสัญญากับนานาประเทศ เมื่อปี พ.ศ.2482 สนธิสัญญาชุดนี้ให้เอกราชโดยสมบูรณ์แก่ประเทศไทย แต่ต่อมาประเทศไทยต้องเผชิญกับกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส เนื่องจากไทยได้เสนอขอปรับปรุงเขตแดนตามลำแม่น้ำโขง โดยอาศัยร่องน้ำลึกเป็นเกณฑ์กับปรับปรุงเขตแดน ให้เป็นไปตามธรรมชาติ คือให้ถือว่าแม่น้ำโขงเป็นเขตแดนระหว่างประเทศไทย กับอินโดจีนของฝรั่งเศส ตั้งแต่ทิศเหนือลงมาทางใต้จนถึงเขตแดนกัมพูชา โดยให้ฝ่ายไทยได้รับดินแดนทางฝรั่งขวาแม่น้ำโขงตรงข้ามกับหลวงพระบางและตรงข้ามปากเซคืนมา นอกจากนี้ยังขอคำมั่นว่า ถ้าหากอำนาจอธิปไตยของฝรั่งเศสในอินโดจีนเปลี่ยนไปแล้ว ขอคืนแคว้นลาว และกัมพูชาให้แก่ประเทศไทย ฝ่ายปฏิเสธข้อเสนอของไทย จึงเกิดกรณีพิพาทอินโดจีน ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2483 ถึงวันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2484 ในการทำสงครามนี้ พลตรีหลวงพิบูลสงครามได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด
ฝ่ายญี่ปุ่นได้เข้ามาแก้ไขกรณีพิพาทจัดให้มีการประชุมสันติภาพ ณ กรุงโตเกียว และนำไปสู่การลงนามในอนุสัญญาโตเกียว เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2484 ไทยได้ดินแดนอินโดจีนคืนมารวมสี่จังหวัดคือ พระตะบอง พิบูลสงคราม จัมปาศักดิ์และลานช้าง
ต่อมาได้มีการยกเลิกประเพณีพระราชทานบรรดาศักดิ์ และให้ใช้ราชทินนามเป็นนามสกุลได้ ในระหว่างนั้นฝรั่งเศสเป็นฝ่ายปราชัยเยอรมนี เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2484 ญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรของเยอรมนี ได้ฉวยโอกาสขยายตัว เข้ามายึดครองอินโดจีนของฝรั่งเศส กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกในอินโดจีน ครั้นถึงวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484 ญี่ปุ่นประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกา และบริเตนใหญ่ (อังกฤษ) และขอเดินทัพผ่านประเทศไทยไป เพื่อรุกเข้าสู่มลายูและพม่า อันเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ประเทศไทยต้องยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทยได้ และไทยจำต้องเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น และต้องปฏิบัติตามข้อเสนอของญี่ปุ่น ประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกา และบริเตนใหญ่
ญี่ปุ่นเสนอว่าภาษาไทยเรียนได้ยาก ควรใช้ภาษาญี่ปุ่นแทน จอมพล ป.พิบูลสงคราม หาทางออกโดยจะปรับปรุงภาษาไทย ให้เรียนได้ง่ายกว่าแต่ก่อน ได้มีการปรับปรุงเสร็จ และประกาศใช้เป็นทางราชการ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2485 ให้งดใช้สระห้าตัว คือ ใจ ฤ ฤา ฦ ฦา และงดใช้พยัญชนะ 13 ตัว ที่จะซ้ำกัน คือ ฃ ต ฆ ฌ ฎ ฏ ฐ ฒ ณ ศ ษ ฬ ส่วน ญ ให้ตัดเชิงออก
จอมพล ป.พิบูลสงครามพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ.2487 เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.อนุมัติ พ.ร.ก. ระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบุรี พ.ศ.2487 ในบริเวณรอบรอยพระพุทธบาท จ.สระบุรี
ครั้นถึงวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2488 จอมพล ป. พิบูลสงครามถูกจับในข้อหาตามกฎหมายอาชญากรรมสงคราม แต่พ้นข้อกล่าวหา เมื่อปี พ.ศ.2489 ภายหลังรัฐประหารวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 จอมพล ป. พิบูลสงครามได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาแห่งประเทศไทยต่อมาในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2491 ท่านได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง สืบต่อมาจนถึงวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 ท่านต้องพ้นตำแหน่งไปเนื่องจากเกิดรัฐประหาร ท่านต้องไปพำนักอยู่ต่างประเทศ และถึงแก่อสัญกรรม เมื่อปี พ.ศ.2507
>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>