ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
ตำราพิชัยสงคราม
เป็นตำราว่าด้วยวิธีการเอาชนะข้าศึกในสงคราม ซึ่งนักปราชญ์ทางทหารสมัยโบราณ ได้แต่งขึ้นจากประสบการณ์ และจากการทดลอง เพื่อให้แม่ทัพนายกองใช้ศึกษา และเป็นคู่มือในการอำนวยการรบให้หน่วยทหารมีชัยชนะแก่ข้าศึก
ประเทศต่าง ๆ มีตำราพิชัยสงครามเท่าที่หาได้ในปัจจุบันคือ
ตำราพิชัยสงครามฮินดูโบราณ เมื่อปี พ.ศ.2437 นายร้อยเอกยีอี เยรินีนายทหารชาวอิตาลี ภายหลังได้เป็นนายพันเอกพระสารสาสน์พลขันธ์ ได้เรียบเรียงตำราพิชัยสงครามฮินดูโบราณขึ้น อ้างว่าเก่าแก่มีอายุถึง 2,500 ปี คือ คัมภีร์ นีติศาสตร์ไม่ทราบผู้แต่งกับคัมภีร์นิติประกาศิกา แต่งโดยไวคัมปายัน อาจารย์สอนวิชาทหารกรุงตักสิลา และได้นำเรื่องราวจากเรื่องนางนพมาศ ราชาธิราชและพระราชพงศาวดารมาอธิบายประกอบ
ตำราพิชัยสงครามจีน นักปราชญ์จีนได้แต่งตำราพิชัยสงครามไว้ในสมัยต่าง ๆ มากมาย ที่ยังมีต้นฉบับครบถ้วนรวมเจ็ดฉบับ แต่ที่สำคัญและดีเด่นมีอยู่สองฉบับคือ ตำราพิชัยของซุนวู หรือตำราพิชัยสงครามสิบสามบท แต่งขึ้นปี พ.ศ.43 เป็นปรัชญาในการป้องกันประเทศ และรวมเอาวิถีการดำรงชีวิตในชั้นเชิงที่แยบคาย ซึ่งไม่มีในตำราอื่น ๆ จึงถือกันว่าเป็นตำราพิชัยสงครามที่สมบูรณ์ยอดเยี่ยมที่สุด โดยได้กล่าวถึงการวางแผนสงคราม การดำเนินสงคราม ยุทโธบาย ความตื้นลึกหนาบาง การสัปยุทธ์ชิงชัย นานาวิการ การเดินทัพ ลักษณะพื้นภูมิ นวภูมิ พิฆาติด้วยเพลิงและการใช้จารกรรม
ตำราพิชัยสงครามพม่า มีอยู่สองฉบับในหอสมุดแห่งชาติแปลเป็นภาษาไทย เมื่อปี พ.ศ.2341 เนื้อหามีเรื่องการจัดบ้านเมืองให้พร้อมรบ สาเหตุที่ทำให้บ้านเมืองสงบสุข และเกิดยุคเข็ญ สาเหตุที่จะเกิดสงคราม การหาข่าวข้าศึก บุคคลและตระกูลที่หายาก ลักษณะของผู้ที่จะเป็นแม่ทัพ ลักษณะที่จะชนะสงคราม การจัดขบวนรุก ตั้งรับและถอย ฤกษ์ยามต่าง ๆ ในสงคราม
ตำราพิชัยสงครามไทย พระราชพงศาวดารกล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ.2041 สมเด็จพระรามาธิบดี 2 (พ.ศ.2041 - 2072) "แรกให้ทำตำราพิชัยสงคราม" โดยโปรดให้นำเอาตำราพิชัยสงคราม ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายฉบับมาชำระ และเรียบเรียงให้ถูกต้องครบถ้วนเป็นหมู่เหล่า แล้วคัดเป็นฉบับหลวง ครั้นกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่สอง ต้นฉบับที่มีบริบูรณ์เช่นฉบับหอหลวง ก็เลยสูญเหลือแต่ฉบับที่มีผู้คัดลอกไว้ได้แห่งละเล็กละน้อย มักเป็นตำราที่แต่งใหม่ในปลายสมัยอยุธยาเป็นพื้น
สมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่หนึ่งและที่สอง ได้มีการคัดลอกตำราพิชัยสงครามฉบับปลีกของปลายสมัยอยุธยาซึ่งเหลืออยู่ได้หลายสิบเล่มสมุดไทย โดยยังคงรักษาคำร้อยกรองของเดิมไว้ครบถ้วน ในปี พ.ศ.2368 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ กรมพระราชวังสถานมงคลได้ให้ชำระตำราพิชัยสงครามให้ถูกต้องครบถ้วน ได้เชิญพระตำรับพิชัยสงครามจากข้างที่ (ฉบับหลวง) มาชำระสอบสวนถึง 14 เล่มสมุดไทย เมื่อชำระเสร็จแล้วได้คัดลงสมุดไทยได้สิบเล่ม (สองชุด) ถือเป็นตำราพิชัยสงครามฉบับสุดท้ายที่ชำระอย่างสมบูรณ์ในสมัยรัตนโกสินทร์
ในรัชกาลที่สี่ ได้ทรงเริ่มปฏิรูปกองทัพไทยเข้าสู่แบบตะวันตก ในรัชกาลที่ห้า ทางการทหารได้ใช้ตำรายุทธศาสตร์แทนตำราพิชัยสงคราม ผู้เป็นเจ้าของตำราพิชัยสงคราม จึงนำมามอบให้ หรือขายให้หอสมุดแห่งชาติ เป็นจำนวนมาก ตามบัญชีมีอยู่ 219 เล่ม ส่วนมากเป็นคำร้อยกรองแบบฉันท์ โคลง กลอน และร่ายบ้าง แต่งเป็นคำร้อยแก้วบ้าง
เมื่อดูจากตำราเดิมจะแบ่งออกเป็นสามแผนก คือว่าด้วยเหตุแห่งสงครามว่าด้วยอุบายสงคราม และว่าด้วยยุทธศาสตร์และยุทธวิธี ส่วนการถือนิมิตฤกษ์ยามและเลขยันต์อาถรรพศาสตร์ก็จะมีมาบ้างแล้วแต่โบราณมาเชื่อถือแก่กล้าขึ้นในตอนปลายสมัยอยุธยา
>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>