ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

พายุ

คือ ลมที่พัดแรง ส่วนมากมักจะเกิดในขณะที่เป็นลมแรง พัดเรียบเข้าหาบริเวณศูนย์กลางที่มีความกดอากาศต่ำกว่าความกดอากาศในบริเวณโดยรอบมาก เรียกกันว่า "พายุหมุน" แต่ก็มีลมแรงที่ไม่เกี่ยวกับพายุหมุนก็มี เช่น ลมแรงบริเวณพายุ ฝน ฟ้าคะนองและบริเวณด้านหน้าของแนวปะทะอากาศเย็น

พายุหมุน 

มักจะก่อตัวในบริเวณพื้นน้ำที่อุ่น และกว้างใหญ่ ตามข้อตกลงขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ได้กำหนดให้เรียกชื่อตามขนาดกำลังความเร็วของลม ใกล้บริเวณศูนย์กลางพายุ ซึ่งแบ่งไว้เป็นสามขนาดคือ

1. พายุดีเปรสชั่น  มีความเร็วลมสูงสุดใกล้บริเวณศูนย์กลางต่ำกว่า 34 นอต หรือ 63 กม.ต่อชั่วโมงเป็นพายุมีกำลังอ่อน

2. พายุโซนร้อน  มีความเร็วลมรอบบริเวณศูนย์กลางตั้งแต่ 34 นอต หรือ 63 กม.ต่อชั่วโมง แต่ไม่ถึง 64 นอต หรือ 118 กม.ต่อชั่วโมง เป็นพายุที่มีกำลังปานกลาง แรงกว่าพายุดีเปรสชั่นที่เรียกว่า พายุโซนร้อน เพราะมีต้นกำเนิดคือ ก่อตัวขึ้นในบริเวณทะเล หรือมหาสมุทรในโซนร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร เมื่อเคลื่อนที่ไปที่เส้นรุ้งสูง ๆ นอกโซนร้อนหรือพายุที่เกิดขึ้นนอกโซนร้อนจะเรียกว่า พายุนอกโซนร้อน

3. พายุไต้ฝุ่น  มีความเร็วลมรอบบริเวณศูนย์กลางตั้งแต่ 64 นอต หรือ 118 กม.ต่อชั่วโมง ไต้ฝุ่นเป็นคำภาษาจีน แปลว่า ลมใหญ่ เป็นพายุที่มีความุรนแรงมากใช้เรียกพายุหมุนที่เกิดในแถบภาคกลาง และภาคตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ รวมทั้งทะเลญี่ปุ่น ทะเลเหลือง ทะเลจีนตะวันออก ทะเลจีนใต้และอ่าวไทย พายุเช่นเดียวกันนี้ถ้าเกิดในแถบมหาสมุทรอินเดีย ทะเลอาหรับและอ่าวเบงกอลเรียกว่า พายุไซโคลน ถ้าเกิดในแถบมหาสมุทรแอดแลนติก ทะเลแคริเบียน อ่าวเมกซิโก และภาคตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือเรียกว่า พายุเฮอริเคน เป็นการเรียกชื่อต่างกันตามที่เกิดในประเทศฟิลิปปินส์เรียกว่า บาเกียว ในประเทศออสเตรเลียเรียก วิลลี - วิลลี่ เป็นพายุที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 100 - 1,000 กม.หรือมากกว่านั้น

พายุทอร์นาโด 

เป็นพายุประจำถิ่นขนาดเล็กมีความรุนแรงมากมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 - 3 กม. บริเวณศูนย์กลางมีความกดอากาศต่ำมาก จึงทำให้อากาศรอบนอกที่พัดเข้าหาศูนย์กลางมีความเร็วลมสูงมาก จะเริ่มก่อตัวในระดับสูงจากพื้นดินหลายพันฟุต สังเกตได้จากเมฆที่ม้วนตัวเป็นรูปกรวยหรืองวง ยื่นออกมาจากฐานของเมฆ พายุฟ้าคะนองลงมายังพื้นดิน พายุนี้มีสีเทาหรือสีดำมีเสียงฟ้าคะนองดังมาก เกิดขึ้นได้ในหลาย ๆ บริเวณของโลก แต่ที่เกิดมากที่สุดคือ บริเวณตอนกลางของสหรัฐอเมริกา และทางตะวันตกของทวีปออสเตรเลีย

พายุฟ้าคะนอง 

ซึ่งเกิดจากเมฆคิวมูโลนิมบัส มีทั้งฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ลมกระโชกแรง มีฝนตกหนักและบางครั้งอาจมีลูกเห็บตกลงมาด้วย พายุนี้เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาอันสั้น และเกิดเนื่องจากมีอากาศยกตัวขึ้นสู่เบื้องบนอย่างรุนแรงในระยะแรกของการก่อตัวของเมฆ และมีการจมตัวลงของอากาศอย่างรุนแรง พร้อมกับมีน้ำฟ้าตกลงมาในชั้นเจริญเติบโตเต็มที่และชั้นสลายตัวของเมฆ อากาศที่จมตัวลงมาพร้อมกันกับฝนนี้ จะมีอัตราเร่งอันเกิดจากเม็ดฝนที่ตกลงมาช่วย ทำให้อากาศที่เคลื่อนตามลงมาแรงขึ้นและจะมีกำลังแรงมาก เมื่อลงมาใกล้พื้นดิน เมื่อลงมาสู่พื้นดินก็จะยังคงพัดแรงไปรอบ ๆ เป็นระยะไกล ๆ ได้

พายุฝุ่น 

เกิดขึ้นจากการยกตัวของกระแสอากาศขึ้นสู่เบื้องบน และมวลอากาศที่อยู่ข้างเคียงเคลื่อนตัวเข้ามาแทนที่ มีสาเหตุเกิดเนื่องจากแผ่นดินที่ร้อนจัด เช่น บริเวณที่เป็นทะเลทราย ทำให้อากาศที่อยู่เหนือขึ้นไปมีอุณหภูมิสูงขึ้น และมีน้ำหนักเบากว่าอากาศรอบ ๆ บริเวณมาก จึงเกิดการยกตัวของอากาศร้อนนั้น และอากาศที่เย็นกว่ารอบนอก จะพัดเข้ามาแทนที่ มีกำลังแรงขนาดพายุได้ และจะพัดเอาฝุ่นผงลอยตัวขึ้นไปในบรรยากาศ ตามทางที่พายุฝนผ่านไปได้ ฝุ่นในอากาศรวมตัวกันมีบริเวณสูงขึ้น ครามคละคลุ้งมืดดำของฝุ่นหมุนวนเป็นความชัน สูงถึงประมาณ 30 เมตร หมุนตัวผ่านไปยังบริเวณต่าง ๆ อย่างไม่มีทิศทางแน่นอน เมื่อความรุนแรงลดน้อยลงฝุ่นจะจมตัวลง และส่วนที่ยังคลุคลุ้งอยู่จะมีลักษณะคล้ายหมอก

พายุหมุน ลูกสำคัญ ๆ ที่ก่อความเสียหายแก่ประเทศไทยเป็นอย่างมากมีดังนี้

ในเดือนกันยาน พ.ศ.2485 พายุหมุนโซนร้อนเข้าสู่ประเทศไทย โดยผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นจำนวนสองลูกติดต่อกัน เป็นผลให้มีฝนตกหนักหลายแห่ง ในบริเวณตั้งแต่ภาคกลางขึ้นไป ทำให้เกิดอุทกภัยทั่วไป โดยเฉพาะภาคกลางมีระดับน้ำสูงมาก และน้ำได้ท่วมเป็นระยเวลานานรวมเดือน

ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2495 มีพายุหมุนโซนร้อนสองลูก เคลื่อนที่เข้าสู่ประเทศไทยเกิดน้ำท่วม และพายุแรง แต่ความเสียหายมันดีกว่าปี พ.ศ.2485

ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2505 มีพายุหมุนโซนร้อนชื่อ ฮาเรียต ได้ก่อตัวขึ้นในแหลมญวน แล้วเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวไทย และขึ้นฝั่งภาคใต้ของประเทศไทย บริเวณแหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราชแล้วผ่านไปสู่อ่าวอันดามันแล้วเคลื่อนตัวลงไปยังอ่าวเบงกอล พายุลูกนี้สร้างความเสียหายแก่ประเทศไทยมาก มีผู้เสียชีวิตประมาณ 1,000 คน บ้านเรือนปรักหักถึงประมาณ 40,000 หลัง รวมค่าเสียหายประมาณ 120 ล้านบาท

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย