ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

ปราสาทหินพนมวัน

ตั้งอยู่ที่ ต.บ้านโพธิ์  อ.เมือง ฯ จ.นครราชสีมา ในจารึกเรียกว่า เทวาศรม สร้างเป็นปรางค์ และวิหารมีฉนวน (ทางเดิน) ตัดต่อตลอดถึงกัน ภายในคูหาปรางค์ และวิหารมีพระพุทธรูปศิลาปางต่าง ๆ ขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่หลายองค์ องค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัยสูง 1.52 เมตร มีลักษณะแบบอู่ทองผสมทวารวดี ซึ่งเป็นหลักฐานอย่างดีในการศึกษาทางศิลปกรรม

ถัดตัวปราสาทหินออกมาเป็นบริเวณลาน มีระเบียงคดก่อด้วยศิลาล้อมรอบ กว้าง 45 เมตร ยาว 63.30 เมตร ที่ลานระหว่างองค์ปรางค์กับประตูระเบียงคดด้านใต้ มีอาคารก่อด้วยหินทรายเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ซึ่งทำด้วยหินทรายสีแดงทำวางอย่างตะแคงเหมือนอย่างเดียวกันในนครวัด

ที่ปราสาทหินแห่งนี้มีอักษรจารึกอยู่ตามหินกรอบประตู และเสาหลายแห่ง มีหลักหนึ่งเป็นจารึกของพระเจ้าอุทยาทิตยวรมันที่สอง (พ.ศ.1593 - 1609) เป็นภาษาสันสกฤตและเขมร ถ้าจะพิจารณาจากทางด้านศิลปะจะเห็นว่า ปราสาทนี้คงสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16 - 17 เข้าใจว่าสร้างเป็นเทวสถาน ครั้นต่อมาซึ่งอาจเป็นสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ด (พ.ศ.1724 - 1763) จึงได้ดัดแปลงเป็นพุทธสถานพระพุทธรูปที่มีอยู่ในปราสาทก็ตกอยู่สมัยอู่ทอง ซึ่งอยู่หลังสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ด

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย