ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
คัมภีร์ธรรมศาสตร์
คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ เป็นกฎหมายที่นักปราชญ์ พราหมณ์ผู้หนึ่งในชมพูทวีปเป็นผู้แต่งไว้หลายพันปีมาแล้ว ผู้แต่งมีนามว่า "มนู" ในทางสากลเรียกกฎหมายนี้ว่ากฎหมายมนู หรือธรรมศาสตร์ฮินดู
เนื้อหาของคัมภีร์ธรรมศาสตร์ของท่านมนูนั้นกล่าวกันว่า เกี่ยวกับการสร้างโลก และสภาพของวิญญาณเมื่อมนุษย์ตายไปแล้ว และเรื่องราวอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับจารีตประเพณีและสังคมอินเดียสมัยนั้น เช่นหน้าที่ของวรรณะหรือชนชั้นต่าง ๆ การศาสนาและอื่น ๆ ซึ่งถือกันว่าเป็นกฎหมายที่ดีและมีอิทธิพลยิ่งในสมัยนั้น และสมัยต่อมา
คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ฉบับฮินดู คาดว่ามีขึ้นในระหว่างปี พ.ศ.143 - 343
ในประเทศไทยได้ใช้กฎหมายคัมภีร์พระธรรมศาสตร์สืบมาแต่โบราณ หลักกฎหมายนี้สันนิษฐานว่า เข้ามาสู่ประเทศไทยพร้อมกับพระพุทธศาสนา สมัยเมื่อชาวอินเดียได้พากันอพยพเข้ามายังสุวรรณภูมิ ระหว่างปี พ.ศ.270 - 300 ชาวอินเดียได้นำศิลปวิทยาการต่าง ๆ ตลอดจนศาสนาพราหมณ์ และหลักพระธรรมศาสตร์เข้ามาด้วย
ดังจะเห็นว่าศิลาจารึกสมัยสุโขทัย ก็มีร่องรอยวัฒนธรรมฮินดูอยู่ ในสมัยอยุธยาไทยได้ใช้กฎหมายนี้อย่างบริบูรณ์ ครั้นกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ต้นฉบับคัมภีร์พระธรรมศาสตร์สำหรับศาลหลวงก็สาบสูญไปหมด ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้รวบรวมกฎหมายขึ้นไว้เรียกว่า กฎหมายตราสามดวง พระธรรมศาสตร์เป็นลักษณะหนึ่งปรากฎอยู่ในกฎหมายดังกล่าว
>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>