ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
ทศพิธราชธรรม
เป็นกิจวัตร์ที่พระเจ้าแผ่นดินควรประพฤติ เป็นหลักธรรมประจำองค์พระมหากษัตริย์ หรือคุณธรรมของผู้ปกครองบ้านเมืองสิบอย่างคือ
1. ทาน การให้ คือ สละทรัพย์สิ่งของช่วยเหลือ สงเคราะห์ อนุเคราะห์
ประชาราษฎรและบำเพ็ญสาธารณประโยชน์
2. ศีล ความประพฤติที่ดีงาม คือ สำรวมกาย วาจา ประกอบแต่การสุจริต
รักษากิตติคุณให้ควรเป็นตัวอย่าง และเป็นที่เคารพนับถือของประชาราษฎร
มิให้มีใครจะดูแคลนได้
3. บริจาค คือ เสียสละความสุขสำราญ เป็นต้น ตลอดจนชีวิตของตน
เพื่อประโยชน์ความสุขของประชาชน และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
4. อาชวะ ความซื่อตรงคือ ซื่อตรงทรงสัตย์ไร้มารยา
ปฎิบัติภารกิจโดยสุจริต มีความจริงใจ ไม่หลอกลวงประชาชน
5. มัทวะ ความอ่อนโยนคือ มีอัธยาศัย ไม่เย่อหยิ่งหยาบคาย
กระด้างถือองค์ มีความสง่างามเกิดแต่ท่วงทีกิริยา สุภาพนุ่มนวลละมุนละไม
ให้ได้ความจงรักภักดี แต่ไม่ขาดยำเกรง
6. ตบะ ความทรงเดช คือ แผดเผากิเลสตัณหา มิให้เข้ามาครอบงำย่ำยีจิต
ระงับยับยั้งข่มใจได้ ไม่ยอมให้หลงใหลหมกมุ่น ในความสุขสำราญและความปรนปรือ
มีความเป็นอยู่สม่ำเสมอ หรืออย่างสามัญ มุ่งมั่นแต่จะบำเพ็ญเพียร ทำกิจให้บริบูรณ์
7. อักโกธะ ความไม่โกรธ คือ ไม่กริ้วกราด
ลุอำนาจความโกรธจนเป็นเหตุให้วินิจฉัยความ และการกระทำต่าง ๆ ผิดพลาดเสียธรรม
มีเมตตาประจำใจไว้ระงับความขุ่นเคือง วินิจฉัยความและการกระทำด้วยจิตราบเรียบ
เป็นตัวของตัวเอง
8. อวิหิงสา ความไม่เบียดเบียน คือ ไม่บีบคั้นกดขี่ ไม่หลงระเริงอำนาจ
ขาดความกรุณาหาเหตุเบียดเบียน ลงอาชญาแก่ประชาราษฎร เพราะอาศัยความอาฆาตเกลียดชัง
9. ขันติ ความอดทน คือ ทนต่องานที่ตรากตรำ ถึงจะลำบากกาย
น่าเหนื่อยหน่ายเพียงไรก็ไม่ท้อถอย ถึงจะถูกยั่วหยันด้วยคำเสียดสี ถากถางอย่างใด
ก็ไม่หมดกำลังใจ ไม่ยอมละทิ้งกรณียที่บำเพ็ญโดยชอบธรรม
10. อวิโรธนะ ความไม่คลาดธรรม หรือทำความไม่ผิด คือ
วางองค์เป็นหลักหนักแน่นในธรรมคงที่ ไม่มีความเอนเอียง หวั่นไหวด้วยถ้อยคำดีร้าย
ลาภสักการะ หรืออิฎฐารมณ์ และอนิฎฐารมณ์ ใด ๆ สถิตมั่นในธรรมทั้งส่วนยุติธรรม คือ
ความเที่ยงธรรม นิติธรรม คือ ระเบียบแบบแผนหลักการปกครอง
ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ไม่ประพฤติให้เคลื่อนคลาดวิบัติไป
>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>