ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
พระเจ้าทรงธรรม
เป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา องค์ที่ 21 ประสูติเมื่อปี พ.ศ.2134 ทรงเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเอกาทศรถ ที่ประสูติแต่พระสนม เมื่อเสวยราชย์แล้วทรงพระนามว่า "สมเด็จพระอินทราชาธิราช" แต่อาจเนื่องมาจากก่อนเสวยราชย์ ได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุอยู่ และในระหว่างครองราชย์ พระองค์ได้ทรงทำนำบำรุงบ้านเมือง และการศาสนามาก ทั้งได้พบรอยพระพุทธบาทที่เมืองสระบุรีอีกด้วย ประชาชนจึงได้ถวายพระนามเป็นการยกย่องว่า "สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม" พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ.2171 ครองราชย์ได้ 19 ปี
ทหารญี่ปุ่นขบถ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ครองราชย์ได้ไม่นานกำลังทหารญี่ปุ่น ที่เคยอยู่ใต้บังคับบัญชาของออกญากรมนายไวย ได้รวบรวมกำลังประมาณ 180 คน ยกจู่โจมเข้าไปในพระราชวัง จับสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมไว้ แต่เมื่อเห็นกองทหารกรุงศรีอยุธยารวบรวมกำลังกัน เตรียมจะขับไล่พวกตน จึงลงเรือสำเภาล่องลงไปจากกรุงศรีอยุธยา และได้นำพระสงฆ์สี่รูปไว้เป็นตัวประกัน ระหว่างทางได้ขึ้นปล้นบ้านริมแม่น้ำ แล้วไปยึดเมืองเพชรบุรีไว้ และขึ้นครองเมืองอยู่หนึ่งปีเต็ม
ต่อมา สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมส่งกองทหารออกไปขับไล่ได้ในปี พ.ศ.2154 แต่พวกญี่ปุ่นกลับมายึดเมืองบางกอก (ต่อมาเรียก เมืองธนบุรี) สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดให้ชาวญี่ปุ่นในกรุงศรีอยุธยา ออกไปเจรจาให้พวกที่ยึดบางกอกอยู่ออกไปได้
การสงคราม
ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม กรุงศรีอยุธยาต้องทำสงครามถึงห้าครั้งด้วยกันคือ
1. การขับไล่กองทัพล้านช้าง
พ.ศ.2155 ในระหว่างที่พวกชาวญี่ปุ่นได้จับกุมสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
พระเจ้ากรุงล้านช้างทราบข่าว จึงยกทัพเข้ามานัยว่าจะมาช่วยขับไล่พวกญี่ปุ่นออกไป
ได้เคลื่อนทัพมาดูชั้นเชิงอยู่ที่เมืองละโว้ (ลพบุรี) ถึงสี่เดือน
เมื่อทราบว่าเหตุการณ์ภายในกรุงศรีอยุธยาสงบลงแล้ว จึงทรงส่งราชทูตเชิญพระราชสาสน์
มาถวายสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
มีความว่าที่ยกทัพลงมาครั้งนี้ก็เพื่อจะช่วยขับไล่พวกญี่ปุ่น
แต่สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมไม่ทรงเชื่อ จึงทรงเคลื่อนทัพจากพระนครไปยังเมืองละโว้
แต่กองทัพล้านช้างได้ชิงถอยหนีไปก่อนแล้วถึงสี่วัน
จึงทรงส่งกองทหารออกไล่ติดตามไปทัน แล้วเข้าโจมตีทัพล้านช้างแตกกลับไป
2. การแย่งเมืองทวาย
พ.ศ.2156 พระเจ้าอังวะ ยกกองทัพมีกำลัง 40,000 มาตีเมืองทวายได้
และยกทัพเลยลงมาจะตีเมืองตะนาวศรี แต่เมื่อพบกองทัพไทยสองกองทัพ
ตั้งสกัดอยู่ที่ท่าจะข้ามไปเมืองตะนาวศรีก็ชะงักอยู่ พอดีถูกกองทัพพระยาสวรรคโลก
กับกองทัพพระยาพิไชย ยกอ้อมมาล้อมด้านหลัง พระเจ้าอังวะจึงถอยหนีไปยังเมืองเมาะตะมะ
3. การเสียเมืองเชียงใหม่ให้กับพม่า
พ.ศ.2158 พระเจ้าอังวะพักพลอยู่ที่เมาะตะมะได้ไม่นาน ก็ทรงทราบข่าวว่า
เมืองเชียงใหม่ได้เกิดความไม่เรียบร้อยขึ้นภายใน
ทรงเห็นว่าชาวเชียงใหม่คงจะแตกกันเป็นสองฝ่าย
จึงยกทัพจากเมืองเมาะตะมะไปยังเมืองเชียงใหม่ ในปลายปี พ.ศ.2157
เมื่อยกมาถึงเมืองลำพูน ทรงทราบว่า
พระเจ้าเชียงใหม่ได้กวาดต้อนผู้คนไปตั้งมั่นอยู่ในเมืองลำปาง
จึงยกทัพติดตามไปล้อมเมืองไว้ ชาวเมืองเชียงใหม่และลำปางรักษาเมืองอยู่ได้นาน
จนกองทัพพม่าขาดเสบียง เกือบจะถอยทัพกลับ พอดีพระยาน่านคุมเสบียงมาส่งทัน
และพระเจ้าเชียงใหม่พิราลัยลง ชาวเมืองจึงยอมอ่อนน้อมแก่พม่า
พระเจ้าอังวะตั้งให้พระยาน่าน เป็นพระเจ้าเชียงใหม่
ต่อมาไทยกับพม่าได้ทำสัญญาเลิกสงครามต่อกันในปีต่อมา ในสัญญานั้น มีข้อความสำคัญว่า
เมืองเชียงใหม่เป็นของไทย และเมืองเมาะตะมะเป็นของพม่า
4. การสงครามกับเขมร
พ.ศ.2164 ในปี พ.ศ.2162 สมเด็จพระไชยเชษฐา กษัตริย์เขมรองค์ใหม่
ได้ย้ายราชธานีไปอยู่ที่เมืองอุดมลือไชย
ทรงคิดแข็งเมืองไม่ยอมส่งเครื่องราชบรรณาการแก่ไทย
สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงให้เตรียมกองทัพบก และกองทัพเรือไปตีเขมร
กองทัพเรือขาดเสบียงและน้ำต้องถอยกลับก่อน
สมเด็จพระไชยเชษฐายกทัพเข้าโจมตีทัพบกไทยแตก
กรุงศรีอยุธยาต้องปล่อยให้เขมรเป็นอิสระภาพ อยู่ตลอดรัชกาลของพระองค์
5. สงครามเสียเมืองทวาย
พ.ศ.2165 พม่าส่งกองทัพมาตีเมืองทวาย
ทางกรุงศรีอยุธยาส่งกองทัพไปป้องกันไม่ทัน จึงเสียเมือง
ด้านสังคมและวัฒนธรรม
สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมได้ทรงดำรงตำแหน่งศาสนูปถัมภกทุกศาสนา ที่มีผู้นำเข้ามาในพระราชอาณาจักรตามพระราชประเพณี เฉพาะพระพุทธศาสนาได้ทรงส่งเสริมไว้หลายอย่างคือ ในปี พ.ศ.2156 โปรดให้ชักชลอพระมงคลบพิตรจากที่ตั้งเดิม ด้านทิศตะวันออกของพระราชวัง มาไว้ด้านตะวันตกแล้วสร้างพระมณฑปขึ้นครอบ และในปี พ.ศ.2161 มีผู้พบรอยพระพุทธบาทอยู่บนไหล่เขาสุวรรณบรรพต แขวงเมืองสระบุรี จึงทรงถวายที่ดินเป็นพุทธมณฑล กว้าง 1 โยชน์ โดยรอบพระพุทธบาท นอกจากนั้น ยังโปรดให้แต่งมหาชาติคำหลวงและทรงสร้างพระไตรปิฎกขึ้นไว้
>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>