ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
พระไตรปิฏก
คือพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มีสามหมวด หมวดหนึ่ง ๆ เรียกว่าปิฏก หนึ่งคือ พระวินัยเรียกวินัยปิฏก พระสูตรเรียกสุตตันตปิฏก พระอภิธรรมเรียกอภิธรรมปิฏก คำว่าไตรปิฏก มีปรากฎในคราวสังคยนา แสดงถึงการแบ่งพระพุทธพจน์ออกเป็นสามหมวด แต่ก่อนนั้นคือในสมัยพุทธกาล ไม่ได้ใช้คำนี้หมายถึงพุทธพจน์ ท่านใช้คำรวมว่าปาพจน์บ้าง ธรรมวินัยบ้าง โอวาทปาติโมกข์บ้าง อริยวินัยบ้าง นอกจากชื่อรวมอย่างนี้ก็ยังมีชื่อแยกระบุคัมภีร์เรียกรวมว่าองค์เช่น นวังคสัตถุศาสน์ พระพุทธพจน์มีองค์เก้า
พระไตรปิฎกนี้ลึกเป็นคัมภีรภาพคือ ลึกโดยธรรม คือพระพุทธพจน์ ลึกโดยอรรถคือเนื้อความของพระบาลี ลึกโดยเทศนาคือ พระพุทธองค์ทรงกำหนดด้วยพระทัย ลึกโดยปฏิเวธคือ ผู้มีปัญญาสามารถเข้าใจความหมายได้ คัมภีร์พระไตรปิฏก เมื่อแสดงถึงเนื้อเรื่องก็กล่าวได้ว่า เป็นคัมภีร์ที่บริสุทธิ์คือ บริสุทธิ์ทั้งอรรถทั้งพยัญชนะทั้งไวยากรณ์ และภาษาบริบูรณ์สิ้นเชิง
คัมภีร์พระไตรปิฎกเริ่มด้วยพระอรหันต์ 500 องค์ มีพระมหากัสสป เป็นประธาน รวมรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เข้าเป็นหมวดหมู่ เป็นพระวินัยส่วนหนึ่ง พระสูตรส่วนหนึ่ง พระอภิธรรมส่วนหนึ่ง ภายหลังพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานได้สามเดือน โดยได้ประชุมทำกันที่เมืองราชคฤห์ นครหลวงของแคว้นมคธ พระเจ้าอชาติศัตรู ราชาธิราชแห่งแคว้นนั้น ทรงรับเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก พระเถรานุเถระได้เล่าเรียนสั่งสอนนำสืบ ๆ กันมาถึงพุทธศตวรรษที่ห้า พระเถรานุเถระพร้อมด้วยชาวพุทธตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดิน และประชาชนได้ร่วมกันจัดการจารึกพระไตรปิฎก ลงเป็นอักษรครั้งแรกต่อจากนั้น ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาต่างก็ช่วยกันคัดลอก และชำระสะสาง สอบทานกันมาเป็นคราว ๆ จนมาถึงเมืองไทย สมัยที่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี กับสมัยที่อาณาจักรล้านนายังเป็นอิสระอยู่ ก็ได้รับคัมภีร์พระไตรปิฎกจากลังกามาคัดลอกสอบทานกัน
>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>