ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
หนังตะลุง
เป็นมหรสพอย่างหนึ่ง ที่แสดงรูปด้วยหนัง เป็นที่นิยมกันมาก ในจังหวัดภาคใต้ของไทย จนถือได้ว่าเป็นมหรสพประจำภาคใต้ เช่นเดียวกับมโนราห์ มีแบบแผนการแสดงดังนี้
ตัวหนัง ใช้หนังวัว และฉลุสลักให้เป็นตัวแสดงในเรื่อง เช่น
พระราม พระลักษณ์ ทศกัณฐ์ และอุปกรณ์ประกอบเรื่อง เช่น ต้นไม้ ราชรถ
มีลายกระหนกสอดแทรก
คนเชิดหนัง โดยปรกติเป็นเจ้าของคณะซึ่งเชิดหนังเอง
ร้องและเจรจาเอง เรียกกันว่า นายหนัง
โรง ปลูกยกพื้นสูงพอเหมาะกับสายตาคนอื่นดู เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
ด้านหน้าขึงจอซึ่งทำด้วยผ้าขาว ทาบริมแดงโดยรอบ
ด้านข้างและด้านหลังกั้นฝามิดชิด คนเชิดหนัง นักดนตรี
และคณะผู้แสดงอยู่ในโรงทั้หมด
ดนตรี มีปี่ 1 เลา ทับ (หรือโทน) 1 คู่ ฆ้องคู่
(ภาคใต้เรียกโหม่ง) กลอง (ขนาดย่อม) ฉิ่งและฉาบ โทน
(ปัจจุบันทางภาคใต้ทำเป็นรูปคล้ายกลองแขกแต่ขนาดสั้น) ฆ้องคู่
อุปกรณ์การแสดง
มีต้นกล้วยตัดหัวท้ายวางทอดภายในด้านล่างของจอต้นหนึ่ง สำหรับปักธูปเวลาแสดง
และอีกสองต้นวางชิดฝาผนังด้านข้างทั้งสอง สำหรับมัดรูปที่เตรียมไว้แสดง
โคมไฟสองดวงห้อยห่างจากจุดประมาณ 30 ซม.
เรื่องที่แสดง สมัยโบราณแสดงแต่เรื่องรามเกียรติ์เรื่องเดียว
ปัจจุบันในภาคใต้แสดงเรื่องประเภทเทพนิยายที่แต่งขึ้นใหม่
แต่ในภาคกลางแสดงแต่เรื่องรามเกียรติ์เรื่องเดียว
วิธีแสดง
ภาคใต้เริ่มเอาหนังตัวใดตัวหนึ่งหรือรูปต้นไม้ ภูเขา เป็นต้น ปักทาบจอไว้
แล้วดนตรีก็บรรเลงโหมโรง จนกว่าจะถึงเวลาแสดง จึงเอารูปตัวนั้นเข้า
เริ่มแสดงด้วยออกรูปฤษีซึ่งถือเป็นครู จากนั้นจึงออกรูปพระอิศวร ทรงโคอุสุภราช
ต่อไปเปลี่ยนเป็นตัว "หน้าบท" เป็นภาพมนุษย์หนุ่มแต่งกายอย่างละครรำ
สวมกรอบหน้า ผู้เชิดกล่าวคำบูชาครูบาอาจารย์ ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธ์ เป็นคำกลอน
จากนั้นหนังตัวอำมาตย์ตัวหนึ่ง โดยมากมักจะใช้ตัวที่มีชื่อเมือง
หรือขวัญเมืองออกมาบอกเรื่องราวที่จะแสดงตอนเหล่านี้เรียกว่าเป็นตอนเบิกโรง
จากนั้นจึงจะเริ่มแสดงเรื่องต่าง ๆ โดยจับเรื่องตั้งแต่ตั้ง "เมือง" เป็นต้นไป
หากจะแสดงเรื่องรามเกียรติ์ก็มีวิธีเบิกโรงอยู่สองแบบแบบหนึ่ง อย่างที่กล่าวมาแล้ว อีกแบบหนึ่ง เบิกโรงด้วยแสดงชุด จับลิงหัวค่ำ คือการต่อสู้ระหว่างลิงขาวกับลิงดำ สำหรับทางภาคกลางเบิกโรงด้วย "เบิกหน้าพระ" และ "จับลิงหัวค่ำ" เริ่มต้นด้วยปักหนังตัวฤาษีไว้กลาง มีภาพพระอิศวร พระนารายณ์ ท่าแผลงศรอยู่สองข้างแล้วผู้เชิดจึงพากย์ไว้เทพเจ้าและเอาหนังตัวพระอิศวร พระนารายณ์ ประลองฤทธิ์กัน ตอนนี้เรียกว่า เบิกหน้าพระ ต่อจากนั้นจึงแสดงชุดจับสิงหัวค่ำโดยเชิดตัวลิงดำ และลิงขาว ออกกันคนละทีแล้วจีงพบและรบกัน ลิงขาวจับลิงดำได้ จะนำไปฆ่า ไปพบพระฤษีได้ขอชีวิตไว้แล้วปล่อยตัวไป
หนังตลุงภาคใต้ในจังหวัดที่เป็นไทยอิสลามเรียก "วายังกุลิต" การแสดงก็คล้ายคลึงกันหากแต่ใช้ภาษามลายู เป็นพื้นและเครื่องดนตรีบางอย่างก็มีรูปร่างลักษณะผิดแปลกกันไปบ้าง ส่วนหนังตลุงของมลายูนั้น การแสดงก็คล้ายคลึงกับของไทย และแสดงเรื่องรามเกียรติ์ซึ่งเข้าใจว่าจะถอดแบบไปจากไทย จึงเรียกว่า "วายังเซียม"
คำว่าตะลุง นี้นอกจากจะเป็นชื่อหนัง ซึ่งเป็นมหรสพอย่างหนึ่งแล้ว ในสมัยโบราณยังมักเรียกอาณาจักรภาคใต้ว่า "เมืองตะลุง"
>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>