ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
ตะโพน
เป็นเครื่องดนตรีไทยอย่างหนึ่งในประเภทประกอบจังหวะ จำพวกขึ้นหน้าด้วยหนังสองหน้า ตัวตะโพนเรียกว่า "หุ่น" ทำด้วยไม้สักหรือไม้ขนุนหรือไม้ที่มีน้ำหนักเบา เช่น ไม้กระท้อน ทำเป็นท่อนกลม กลางป่องตัดหัวท้าย เหมือนไข่ไก่ตัด ยาวประมาณ 45 ซม. ขุดให้เป็นโพรงภายใน ขึ้นหนังทั้งสองหน้าด้วยหนังลูกวัว ตรงขอบหนังที่ขึ้นหน้ามีหนังพันตีเกลียวเส้นเล็ก ๆ ถักโดยรอบเรียกว่า "ไส้ละมาน" มีหนังตัดเป็นเส้นเล็ก ๆ เรียกว่า "หนังเรียด" ร้อยในช่องถักของไส้ละมาน ขึงไปมาระหว่างหน้าทั้งสอง หุ้มรอบตัวตะโพนจนแลไม่เห็นเนื้อไม้ สำหรับโยงเร่งเสียง ตรงกลางตัวตะโพนใช้หนังเรียดพันหลาย ๆ รอบ พองามเรียกว่า "รัดอก" ตรงรัดอกด้านบนทำเป็นหูด้วยหนังสำหรับหิ้ว หน้าตะโพนทั้งสองข้างมีขนาดไม่เท่ากัน หน้าหนึ่งใหญ่ มีเส้นผ่าศูนย์กว้างประมาณ 25 ซม. เรียกว่า "หน้าเท่ง" อีกหน้าหนึ่งเล็กมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 22 ซม. เรียกว่า "หน้าปัด" มีเท้าทำด้วยไม้สูงพอสมควร
โดยปรกติตะโพนบรรเลงผสมอยู่ในวงปี่พาทย์ มีหน้าที่กำกับจังหวะ "หน้าทับ" และเป็นเครื่องนำให้กลองทัดตี การตีนำกลองทัดนี้เรียกว่า "ท้าว" ในการบรรเลงปี่พาทย์ประกอบการแสดงโขนละคร ตะโพนมีหน้าที่สำคัญมาก จะเป็นหัวใจของการรำ จะต้องตีให้เข้ากับท่ารำอย่างสนิทสนมทุก ๆ ท่า
ตะโพนมอญ รูปร่างลักษณะเหมือนกับตะโพน (ไทย) ทุกประการ แต่มีขนาดใหญ่กว่า ตัวหุ่นไม่ป่องตรงกลาง เพียงแต่ป่องนิด ๆ ตรงใกล้หน้าใหญ่
>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>