ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

ดาไล ลามะ

ดาไล เป็นภาษามองโกล แปลว่า กว้างใหญ่ มหาสมุทร คำ ลามะ เป็นภาษาทิเบต แปลว่า ทรงศักดิ์ ยิ่งใหญ่ เป็นชื่อของนักบวชในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน อันเนื่องด้วยลัทธิพุทธตันตระ (ดู พุทธตันตระ - ลำดับที่ 2205, 2206) คำว่า ดาไล ลามะ เป็นคำเรียกนามนักพรต ผู้เป็นหัวหน้าใหญ่ในประเทศทิเบต

องค์ดาไล ลามะ ทรงมีฐานะทางศาสนาเท่ากับสกลมหาสังฆปรินายก และฐานะทางอาณาจักรเท่ากับ พระราชา จึงทรงดำรงศักดิ์เป็นทั้งพระสังฆราช และพระราชา ความเป็นไปทางศาสนา มีพระเถระชาวอินเดียรูปหนึ่งชื่อ คุรุปัทมสมภพ เป็นอาจารย์ ฝ่ายนิกายพุทธตันตระโยคาจาร อยู่ในมหาวิทยาลัยนาลันทา เดินทางเข้าไปเผยแผ่พุทธศาสนา ณ ประเทศทิเบต ตามคำอาราธนาของพระเจ้าแผ่นดินทิเบต เมื่อประมาณปี พ.ศ.1290 ได้นำหลักคำสอนเกี่ยวกับสาธยายเวทมนต์ ไล่ภูตผีปีศาจ การบำเพ็ญญาณ ใช้อำนาจลึกลับทางจิตแสดงอิทธิอำนาจ นอกระบบพุทธศาสนาดั้งเดิม เข้าผสมกับลัทธิชามาน หรือลัทธิบอนปะ คือ การนับถือภูตผีปีศาจ อันเป็นลัทธิพื้นเมือง กลายเป็นลัทธิลามะ ขึ้นในครั้งนั้น

ต่อมาในปี พ.ศ.1749  เจงกิสข่าน มหาราช ชาวมองโกล มีอำนาจในแผ่นดินจีน และทิเบต เลื่อมใสในลัทธิลามะ และค้ำชูนักบวชในนิกายนี้ ลัทธิลามะมาความเจริญเฟื่องฟูมากขึ้นในสมัยกุบไลข่าน (พ.ศ.1803 - 1837)  ได้ทรงเลือกเอาพุทธศาสนานิกายลามะ ยกขึ้นเป็นสรณะ ยกย่องลามะไว้ในตำแหน่งอาจารย์ทางศาสนา และมอบหน้าที่ให้เป็นผู้ทำพิธีราชาภิเษก ให้แก่พระเจ้าแผ่นดิน (มองโกลต่อมา)

นิกายลามะ ที่ได้รับการยกย่องอย่างสูงในสมัยนั้นคือ นิกายเกลุกปะ แปลว่า ธรรมนิกาย ได้แก้ไขลัทธิเดิมคือ นิกายกาดัมปะ แปลว่า วินัยนิกาย เมื่อปี พ.ศ.1950 เศษ  นิกายนี้รวมอำนาจการปกครอง และการปฎิบัติธรรมไว้ได้ทั่วประเทศ เดิมชาวทิเบต เรียกประมุขลามะของตนว่า กยัลวา รินโปเจ สืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน จนถึงปี พ.ศ.2193  นักวันโลสัง ลามะ ประมุขลามะนิกายเกลุกปะ ได้รับพระราชทานฐานะและศักดิ์ จากพระเจ้ากรุงจีนว่า ดาไล ลามะ มีพระราชวังโปตาละ เป็นที่ประทับ ณ กรุงลาซา เมืองหลวงของทิเบต ดาไล ลามะ ได้รวบรัดเอาวัดวาอารามของนิกายอื่น เข้ามาไว้ในครอบครอง แล้วประกาศคำสอนอันศักดิ์สิทธิ์ และลึกลับขึ้นใหม่ว่า ดาไล ลามะ เป็นอวตารจากพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ หรือกวนอิม

ดาไล ลามะ ได้มอบให้ลามะชั้นผู้ใหญ่ ในเมืองทาษิ มณชิกัตเส ดำรงตำแหน่ง ปันเชน ลามะ มีอำนาจอยู่ในมณฑลอื่น เป็นที่สองรองลงมา ต่อมา ปันเชนลามะ ได้ยกตนเองเป็นอวตารของพระอมิตาภะโพธิสัตว์ อันเป็นพระโพธิสัตว์สำคัญ อีกองค์หนึ่งของลัทธิมหายาน

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย