ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

จีวร

คือ บริขารของพระภิกษุ และสามเณร ที่ประกอบด้วยชิ้นผ้าขนาดต่าง ๆ มาเย็บเป็นผืนใช้เป็นผ้านุ่ง ผ้าห่ม ของพระภิกษุและสามเณร คำนี้คนทั่วไปหมายเอาเฉพาะผืนที่ห่มเท่านั้น แต่ในพระวินัย หมายถึง บริขารที่จำเป็นอย่างหนึ่ง จัดเป็นปัจจัยหนึ่งในปัจจัยสี่

ผ้าที่จะทำเป็นจีวรได้ ต้องทำด้วยวัตถุหกชนิดคือ ทำด้วยเปลือกไม้ ทำด้วยฝ้าย ทำด้วยใยไหม ทำด้วยขนสัตว์ ยกเว้นผมและขนมนุษย์ ขนหางสัตว์  ขนปีกนกเค้า ทำด้วยเปลือกป่าน และผ้าที่ทำด้วยของห้าอย่างนั้น แต่อย่างใดอย่างหนึ่งเอามาปนกันทำผ้า

จำนวนจีวร สามผืนอันได้แก่ สบงผ้านุ่ง จีวรผ้าห่ม สังฆาฎิผ้าทาบ รวมเรียกว่า ไตรจีวร ผ้าไตรจีวรนั้น พระพุทธองค์ตรัสสั่งให้เป็นของตัด ถ้าทำได้ให้ตัดครบทั้งสาม ถ้าผ้าไม่พอให้ผ่อนตัดแต่สองผืน หรือผืนเดียว ตามแต่จะทำได้ ก็ยังไม่พอให้ใช้ผ้าเพลาะ เพราะแต่ครั้งปฐมโพธิกาล พระพุทธเจ้าโปรดให้ภิกษุใช้ผ้าบังสุกุลจีวร ไม่ทรงอนุญาตให้รับคหบดีจีวร ภิกษุต้องไปเก็บเอาผ้าบังสุกุล มาซักให้สะอาด แล้วเย็บประกอบเข้าเป็นจีวร จีวรจึงมีลักษณะเป็นชิ้นเล็ก ชิ้นน้อย

ต่อเมื่อเสด็จทักขิณาชนบท ได้ทอดพระเนตรอันนาของชาวมคธ จึงโปรดให้พระอานนท์ตัดจีวรแบบอันนานั้น ใช้มาจนถึงปัจจุบัน ขนาดจีวร ยาว 9 คืบ กว้าง 6 คืบ โดยสุคตประมาณ

จีวรนั้น โปรดให้ย้อมด้วยของหกอย่างคือ ราก หรือเหง้า ต้นไม้ เปลือกไม้ ใบไม้ ดอกไม้ และผลไม้ จีวรย้อมแล้วเรียกว่า กาสายะ บ้าง กาสาวะ บ้าง ที่แปลว่า ย้อมด้วยน้ำฝาด และทรงห้ามสีบางอย่างไว้คือ สีคราม สีเหลือง (เช่นสีดอกบวบ หรือดอกคูน) สีแดง สีบานเย็น สีแสด  สีชมพู และสีดำ

การครองจีวร ให้นุ่งห่มให้เป็นปริมณฑลคือ เรียบร้อย ในการแสดงความเคารพ หรือทำวินัยกรรม ให้ห่มดอง ในการเข้าบ้าน มีคำที่ใช้เนื่องด้วยจีวรอีกหลายคำมี จีวรกรรม หมายถึง การทำกิจเนื่องด้วยจีวร ซักย้อม เป็นต้น จีวรกาลสมัย คือ เวลาที่ภิกษุทำจีวร ระยะเวลาที่อนุฐาตให้ภิกษุทำจีวร จีวรทานสมัย คือ เวลาถวายจีวร

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย