ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
จินดามณี
เป็นชื่อหนังสือสำคัญเรื่องหนึ่ง ในวรรณคดีไทยใช้เป็นตำราแบบเรียนภาษาไทย แพร่หลายมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา หนังสือจินดาฉบับพิมพ์ ที่รู้จักกันแพร่หลายมีสองฉบับคือ ฉบับกรมศิลปากร เล่ม 1 และเล่ม 2 นอกจากนั้นยังมีฉบับโรงพิมพ์หมอบรัดเล ฉบับโรงพิมพ์พาณิชศุภผล และฉบับโรงพิมพ์หมอสมิซ บางคอแหลม
จินดามณี เล่ม 1 กรมศิลปากร มีข้อความกล่าวว่า พระโหราธิบดี แต่งครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ตอนต้นมีร่ายนำ แล้วรวบรวมศัพท์ที่มีเสียงพ้องกัน แต่เขียนผิดกัน มาลงไว้เป็นตัวอย่างหัดอ่าน หัดเขียน ตอนต่อไปมีกาพย์สำหรับให้จำคณะทั้ง 8 ในการแต่งคำประพันธ์ประเภทฉันท์ จากลักษณะการแต่งหนังสือจินดามณี เห็นได้ว่าผู้แต่งมีความรอบรู้ในวิชาอักษรศาสตร์ และวรรณคดีอย่างสูง นับว่าจินดามณีเป็นตำราเรียนอันวิเศษ ในภาษาไทยเล่มหนึ่ง
จินดามณี เล่ม 2 พระนิพนธ์กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ขึ้นต้นด้วยฉันท์วสันตดิลก แล้วต่อไปแจกลูกรวมทั้งอักษรกล้ำ ในแม่ ก กา กก กด กบ กน และเกอย แล้วผันอักษรกลางทุกตัวด้วยวรรณยุกต์ เอก โท ตรี จัตวา (ห้าเสียง) ผันอักษรสูงด้วย เอก โท (สามเสียง) ผันอักษรต่ำ เอก โท (สามเสียง) รวมทั้งอักษรกล้ำทุกแม่ และอักษรต่ำที่มี ห และ อ นำ เล่ม 2 นี้ แต่งเมื่อปี พ.ศ.2393
จินดามณี ฉบับหมอบรัดเล จัดพิมพ์ เป็นฉบับสำรวมใหญ่คือ พิมพ์รวมกันไว้หลายเรื่องในเล่มเดียวกัน มีประถม ก กา แจกลูก จินดามณี ประถมมาลา และปทานุกรม นอกจากนั้นยังมีเพิ่มเติม แทรกเรื่องคำอธิบายต่าง ๆ ไว้อีก เช่น อักษรควบ ได้เอาเครื่องหมายวรรคตอน ในภาษาอังกฤษมาลงไว้ด้วย มีราชาศัพท์ ศัพท์กำพูชา คำชวา และโคลงกลบทต่าง ๆ ในจารึกวัดพระเชตุพน
จินดามณี ฉบับสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ นายขจร สุขพานิช ได้ขอถ่ายไมโครฟิลม์ มาจากต้นฉบับสมุดข่อยที่เก็บอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ นำมามอบให้กรมศิลปากร กล่าวว่าแต่งเมื่อปี พ.ศ.2275 มีแจกอักษร และผันอักษรตามวรรณยุกต์ เอก โท ตรี จัตวา และบอกฐานที่เกิดของพยัญชนะ แล้วถึงประสมอักษร และสะกดแม่ต่าง ๆ
จินดามณีฉบับความแปลก มีอยู่สองฉบับคือ ฉบับสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับฉบับที่เป็นสมบัติเดิมของหอสมุดแห่งชาติ ทั้งสองเล่มมีบานแพนก ขึ้นต้นเหมือนกันทั้งสองฉบับ แปลกจากฉบับอื่นคือ "ศักราช 645 (เข้าใจว่าเป็นจุลศักราช ตรงกับปี พ.ศ.1826 และตรงกับที่กล่าวไว้ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหง ฯ) พญาร่วงเจ้าได้เมืองศรีสัชนาไลย จึงแต่งหนังสือไทย และแม่อักษรทั้งหลายตามพาทย ทั้งปวง อันเจรจาซึ่งกัน แลครั้งนั้นแต่งแต่แม่อักษรไว้ จะได้แต่งเปนปรกติวิถารณหามิได้ แลกุลบุตรผู้อ่านเขียนเป็นอันยากนัก แลอนึ่งแม่หนังสือแก่ ก กา ถึง กน ฯลฯ จนถึงเกย นั้น เมืองขอมก็มีแต่งอยู่แล้ว พญาร่วงเจ้าจึงแต่งแต่รูปอักษรไทยต่างๆ แลอักษรขอมคำสิงหล พากยนั้น เดิมมีแต่ดั่งนี้ ฯลฯ"
>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>