ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
โคตรบูร
เป็นชื่อเมืองและอาณาจักรอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ปรากฏในกฎมณเฑียรบาลสมัยแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.1991 - 2031) ว่าเป็นเมืองท้าวพระยาประเทศราชในจำนวน 20 เมืองที่ถวายราชบรรณาการดอกไม้เงินดอกไม้ทองแก่กรุงศรีอยุธยา
จากตำนานและพงศาวดารปรากฏว่าโคตรบูรได้ย้ายฐานที่ตั้งธานีอยู่ 3 - 4 คราวคือ
ครั้งที่หนึ่ง ตั้งเมืองอยู่ที่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงบริเวณเมืองท่าแขกเก่าในประเทศลาวปัจจุบัน มีกษัตริย์ทรงพระนามว่า พระยาศรีโคตรบูรณ์ เมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว พระยานันทเสนผู้เป็นราชอนุชาได้ขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ร่วมสร้างพุทธเจดีย์เป็นที่บรรจุพระอุรังคธาตุของพระพุทธเจ้า
ครั้งที่สอง หลังพระยานันทเสนสิ้นพระชนม์แล้ว นครโคตรบุรเกิดโรคระบาดใหญ่ ต้องย้ายข้ามแม่น้ำโขงมาสร้างเมืองใหม่ ที่ป่าไม้รวกทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงเรียกชื่อว่า มรุกขนคร อนุชาของพระยานันทเสนได้ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า พระยาสมิตตธรรมิกราช ในรัชกาลนี้มีแคว้นน้อยใหญ่มานอบน้อมเป็นเมืองขึ้นมากหลาย พระองค์ได้ร่วมสร้างเสริมพระอุรังคธาตุเจดีย์ให้สูงขึ้นกว่าเมื่อแรกสถาปนา ต่อมาได้ย้ายไปครองเมืองสาเกดนคร (เมืองร้อยเจ็ดประตูก็เรียก) ส่วนเมืองมรุกขนคร มีผู้ครองเมืองต่อมาอีกสามองค์ องค์สุดท้ายมีพระนามว่า พระยานิรุฏฐราช เป็นมิจฉาทิฐิ ไม่เลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนา เกิดอุทกภัยท่วมเมืองมรุกขนครถล่มกลายเป็นบึงร้างไป
ครั้งที่สาม ปรากฎในพงศาวดารเมืองหลวงพระบางว่า เมื่อพระยาฟ้างุ้มได้ขึ้นครองราชย์ประเทศล้านช้าง ณ เมืองดงเชียงทอง (ประมาณปี พ.ศ.1884) แล้ว ได้ยกกองทัพมาปราบปรามหัวเมืองฝ่ายใต้เช่น เวียงจันทน์ เมืองไผ่หนาม เมืองห้วยหลวง เป็นต้น มีชื่อเมืองโคตรบุรหรือโคตรบองรวมอยู่ในกลุ่มหัวเมืองที่ถูกปราบปรามด้วย
เมื่อพระยาไชยเชษฐาธิราช ย้ายราชธานีจากเมืองดงเชียงทอง (หลวงพระบาง) ลงมาตั้งอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ ได้สร้างเจดีย์ไว้ที่เมืองโคตรบุรองค์หนึ่งเรียกพระธาตุศรีโคตรบุร ต่อมาพระยานครหลวงพิชิต ฯ ได้เป็นผู้ครองเมือง และทำการปฏิสังขรณ์พระอุรังคธาตุเจดีย์ เมื่อปี พ.ศ.2157 และปรากฎชื่อเมืองนครพนมขึ้นในปี พ.ศ.2197 พระอุรังคธาตุเจดีย์นั้นก็คือ พระธาตุพนม
อาณาจักรโคตรบูรโบราณ จะมีมาแต่สมัยใดไม่ทราบชัดเจน แต่ลวดลายในแผ่นอิฐยังมีลักษณะศิลปอมรวดีอย่างยิ่ง
ที่ตั้งของโคตรบุรในจดหมายเหตุจีน สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ในหนังสือ แสดงบรรยายพงศาวดารสยามว่า โคตรบุรหรือพนม เป็นอาณาจักรหนึ่ง ตั้งราชธานีอยู่ ณ เมืองนครพนม ประชาชนพลเมืองเป็นพวกลาวเดิม และคำ "พนม" มีเชิงอรรถอธิบายว่าจีนเรียก "ฟูนัน"
ในพงศาวดารสมัยราชวงศ์จิ้น (พ.ศ.808 - 962) กล่าวว่า ฟูนันเป็นอาณาจักรหนึ่ง ตั้งอยู่ที่อ่าวใหญ่แห่งหนึ่ง ไกลจากอาณาจักรจามปา ไปทางตะวันตกไม่น้อยกว่า 3,000 ลี้ และมีอาณาเขตกว้างกว่า 3,000 ลี้ แม่น้ำใหญ่ของอาณาจักรนี้ไหลมาจากทิศตะวันตกหรือทิศตะวันตกเฉียงเหนือไปลงทะเล
ต่อมาในสมัยราชวงศ์เหลียง (พ.ศ.1045 - 1088) กล่าวว่านครหลวงฟูนัน อยู่ห่างทะเล 500 ลี้ เข้าไปในแม่น้ำใหญ่ไหลมาแต่ตะวันตก ต่อมาประมาณพุทธศตวรรษที่ 13 ฟูนันได้พ่ายแพ้แก่ประเทศราชของตนคือ เจนละ ต่อมาอีกประมาณ 2 - 3 ศตววรรษชื่อของฟูนันก็สูญหายไป
ฟูนันตามภูมิศาสตร์โบราณ ตำนานอุรังคธาตุ กล่าวเนื้อความตอนหนึ่งว่า "สวนสุกขรนาคหัตถีนั้นอยู่ที่เวินหลอด (บริเวณที่ตั้งธาตุโพนแพง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย) พวกนาคที่กลัวผียิ่งกว่านาคทั้งหลายเหล่านั้นพากันไปสู่ที่อยู่ธนะมูลนาคใต้คอยกัปบนคีรีคือ ภูกำพร้า ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุพนมทุกวันนี้ หนีไปจนถึงน้ำสมุทร แต่นั้นไปเรียกน้ำลี่ผี"
เมื่อกำหนดว่าฝั่งทะเลอยู่แถวลี่ผีหรือดอนโขง ระยะ 500 ลี้ (160 กม.) ตามหมายเหตุจีนขึ้นไปตามน้ำโขงจะไปถึงปากน้ำมูลที่ อ.พิบูลมังสาหาร ณ จุดนี้จะพบแม่น้ำใหญ่ซึ่งเป็นลำน้ำร่วมสองสายคือแม่น้ำมูลกับแม่น้ำชี ในพงศาวดารจีนกล่าวว่าฟูนันอยู่ห่างจามปามาทางทิศตะวันตก 3,000 ลี้ (960 กม.) อาณาจักรจามปา ตอนนั้นมีนครหลวงอยู่แถวเมืองดองหอย (กวางบิน) หรือเมืองเว้ (หื่อเทียน) พบเส้นทางสายหนึ่งจากเมืองเว้ถึงเมืองร้อยเอ็ด มีระยะ 950 - 960 กม. ฉะนั้นเมืองโบราณร้างแห่งใดแห่งหนึ่งใกล้ ๆ เมืองร้อยเอ็ดปัจจุบัน เช่นที่ตำบลดงข้าวสาร อาจจะเป็นราชธานีของอาณาจักรโครบุรหรือฟูนัน
ที่ตั้งของโคตรบุรในจดหมายเหตุกรีก จดหมายเหตุภูมิศาสตร์ฉบับหนึ่งอายุประมาณปี พ.ศ.650 - 750 คือจดหมายเหตุปโตเลอมี ชาวเมืองอเล็กซานเดรีย กล่าวถึงดินแดนแคว้นหนึ่ง มีอาณาเขตตั้งแต่ราวอ่าวไทย เหยียดตรงไปทางทิศตะวันออกถึงประเทศเขมร และปากแม่น้ำโขงที่เมืองไซ่ง่อน กับภูมิภาคทางเหนือขึ้นไป ดินแดนนี้เรียกว่าเลสไท เลสไทกับฟูนัน หรือโคตรบูร เป็นอาณาจักรในรุ่นราวคราวเดียวกัน และมีอาณาเขตทับรอยกัน
วัฒนธรรมและศาสนาในโคตรบูร จดหมายเหตุจีนเล่าว่า มีเงิน ทองคำ และแพร เป็นสินค้า ชนชั้นสูงมีเครื่องนุ่งห่ม ทอด้วยไหมยกเงินยกทอง คนจนมีผ้านุ่ง พวกผู้หญิงใช้ผ้าคลุมศีรษะ ภาชนะต่าง ๆ ทำด้วยเงิน กษัตริย์ประทับอยู่ในพลับพลาหลายชั้น มีเสาระเนียดกั้นล้อม บ้านเรือนอยู่ยกสูงจากพื้นดิน กษัตริย์ทรงใช้ช้างเป็นพาหนะ เรือสำหรับใช้ ยาว 80 - 90 ฟุต กว้าง 6 - 7 ฟุต หัวท้ายเรือทำรูปหัวและหางปลา ประชาชนนับถือเทวะ รูปเทวะเหล่านั้นหล่อสร้างด้วยสำริด มีสอง7/สี่มือบ้าง มีสี่7/แปดมือบ้าง ในมือถือวัตถุต่าง ๆ
>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>