ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
เครื่องสาย
เป็นชื่อวงดนตรีประเภทหนึ่ง ซึ่งบรรดาเครื่องดนตรีต่าง ๆ ที่ผสมอยู่ในวงนั้นมีเครื่องดนตรี ที่มีสายเป็นประธาน เครื่องดนตรีที่เป็นประธานนี้ จะเป็นเครื่องมีสายที่สีเป็นเสียง หรือดีดเป็นเสียงก็ได้ เครื่องสายไทย มีขนาดวงและลักษณะการผสมเครื่องดนตรี แตกต่างกันไปได้หลายอย่าง และเรียกชื่อวงไปตามขนาด และสิ่งที่ผสมนั้น ๆ เช่น เครื่องสายไทยวงเล็ก เครื่องสายไทยเครื่องคู่ และเครื่องสายปี่ชวา เป็นต้น
เครื่องสายไทยวงเล็ก เป็นวงเครื่องสายที่มีเครื่องดนตรีที่ผสมเพียงอย่างละหนึ่งชิ้น จึงมักจะเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า เครื่องสายไทยเครื่องเดี่ยว เครื่องดนตรีที่ผสมอยู่ในวงซึ่งถือเป็นหลักคือ
1.
ซอด้วง เป็นเครื่องสีที่มีระดับเสียงสูง และกระแสเสียงดัง
มีหน้าที่ดำเนินทำนองเพลง เป็นผู้นำวงและเป็นหลักในการดำเนินทำนอง
2.
ซออู้ มีเสียงทุ้ม มีหน้าที่หยอกล้อยั่วเย้า
กระตุ้นเตือนให้เกิดความครึกครื้น สนุกสนาน
3.
จะเข้ เป็นเครื่องดีด ดำเนินทำนองโดยเก็บสอดแทรกแซง ไปกับทำนองเพลง
4.
ขลุ่ย เป็นเครื่องเป่า ในวงนี้ใช้ขลุ่ยขนาดกลางเรียกว่า
ขลุ่ยเพียงออ ดำเนินทำนองโดยใช้เสียงโหยหวนบ้าง เก็บบ้างตามโอกาส
5.
โทน และรำมะนา เป็นเครื่องตี ต้องตีให้สอดสลับรับกัน
เสมือนเป็นของสิ่งเดียวกัน มีหน้าที่ควบคุมจังหวะหน้าทับ
และกระตุ้นเตือนให้เกิดความสนุกสนานในทางประกอบจังหวะ
6.
ฉิ่ง มีหน้าที่ควบคุมจังหวะย่อยให้การบรรเลง
ดำเนินจังหวะไปโดยสม่ำเสมอ หรือช้าเร็ว ตามความเหมาะสม
เครื่องสายไทยเครื่องคู่ มีการเพิ่มเครื่องดนตรีขึ้นเป็นสอง แต่เพียงบางอย่างคือ ซอด้วง สองคัน ซออู้สองคัน จะเข้สองตัว ขลุ่ยสองเลา ส่วนฉาบ (เล็ก) และโหม่ง ถ้าจะใช้ก็คงมีจำนวนเท่ากับในวงเล็ก ในสมัยหลังต่อมาได้มีผู้คิดผสมวง เป็นวงใหญ่ขึ้นโดยเพิ่มเครื่องบรรเลง จำพวกดำเนินทำนอง เช่น ซอด้วย ซออู้ จะเข้ และขลุ่ย ขึ้นเป็นอย่างละสามชิ้นบ้าง สี่ชิ้นบ้าง
เครื่องสายปี่ชวา ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้มีผู้คิดผสมวงขึ้นอย่างหนึ่งคือ รวมวงกลองแขก หรือกลองปี่ชวานี้ เข้าร่วมบรรเลงกับวงเครื่องสายไทย โดยเอาโทน และรำมะนา ในวงเครื่องสายออก เพราะมีกลองแขกเป็นเครื่องขัดจังหวะหน้าทับอยู่แล้ว และขลุ่ยเพียงออ ก็ไม่ใช้ ใช้แต่ขลุ่ยขลิบอย่างเดียว ซอด้วงต้องเปลี่ยนเสียงเทียบใหม่ ให้มีเสียงเป็นทางชวา ผู้นำวงต้องโอนไปเป็นของปี่ชวา เรียกวงที่ผสมนี้ว่า กลองแขกเครื่องใหญ่ ต่อมาเรียกว่า เครื่องสายปี่ชวา
>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>