ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

สงครามครูเสด

เป็นสงครามศาสนาระหว่างชนชาวยุโรป ซึ่งเป็นคริสต์ศาสนิกชนกับพวกมุสลิม ในดินแดนตะวันออกกลาง สาเหตุเนื่องมาจากว่า ในสมัยที่พวกมุสลิมทำการเผยแพร่ศาสนาอิสลามนั้น ในตอนกลางพุทธศตวรรษที่ 17 (คริสตศตวรรษที่ 11)  พวกเซลจุก เตอร์ก ยิวเข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม พวกเหล่านี้เป็นนักรบที่เข้มแข็ง ทำการแพร่ศาสนาอิสลามเข้มงวดขึ้น และได้เข้ารุกรานครอบครองดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของคริสตศาสนา อันมีกรุงเยรูซาเลม ในประเทศปาเลสไตน์ หรือประเทศอิสราเอลปัจจุบัน ทำให้ชาวยุโรปซึ่งเดินทางไปนมัสการปูชนียสถานในกรุงเยรูซาเลม ประสบความลำบาก และได้นำข่าวความโหดร้ายทารุณ ที่พวกคริสเตียรในแดนนั้นได้รับ จากพวกเตอร์ก

เหตุนี้ชาวยุโรปจึงมีใจเป็นศัตรูกับพวกเตอร์ก เมื่อมีเหตุจูงใจคือ จักรพรรดิโรมันตะวันออก หวังจะป้องกันและกู้ดินแดนของจักรวรรดิ์จากพวกมุสลิม ได้ยื่นถวายคำต้องต่อสันตปาปา ขอให้ช่วยกีดกันมิให้พวกนอกศาสนา เข้ารุกรานกรุงคอนสแตนติโนเปิล พระสันตปาปาจึงเชิญคณะบาทหลวงเจ้านาย และขุนนางทั้งปวงมาประชุมกัน ณ เมืองหนึ่งในประเทศฝรั่งเศส ชักนำให้ไปทำการรบเพื่อเทิดทูนศาสนาของตน สันตปาปาได้จัดทำธงเขียนรูปกางเขน ให้ผู้ที่จะไปสงครามศาสนาถือ ด้วยเหตุที่รูปกางเขนนี้ ภาษาลาตินว่า ครูส จึงเกิดคำว่า ครูเสด คือ สงครามเพื่อไม้กางเขน

สงครามครูเสดนี้ มีหลายครั้งหลายหนด้วยกัน ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ที่ถือว่าสำคัญมีอยู่ 8 ครั้ง

ครั้งที่ 1 พ.ศ.1639 - 1642  แบ่งออกเป็นสองตอน ตอนแรกพวกชาวยุโรปออกเดินทางไป โดยไม่รู้ทิศทาง ไปทางยุโรปภาคตะวันออกเฉียงใต้ มุ่งจะไปรบคนนอกศาสนาซึ่งยังไม่รู้แน่ว่า เป็นผู้ใดจึงไปรบพุ่งกับพวกคริสเตียนด้วยกัน ตามทางผ่านเสียก็มาก พวกที่เหลือไปถึงกรุงคอนสแตนติโนเปิล จักรพรรดิ์ได้ช่วยพวกที่มาให้เข้าไปถึงแดนทวีปเอเชีย พวกเหล่านี้ถูกฆ่าฟันล้มตายเงียบหายไป

ตอนที่สอง  พวกที่ยกไปเป็นพวกนักรบจากฝรั่งเศสเป็นส่วนใหญ่ มีนักรบจากเยอรมัน และอิตาเลียน รวมไปด้วยบ้าง พวกนี้ยกไปจนถึงกรุงเยรูซาเลม และยึดได้ดินแดนบางส่วนของปาเลสไตน์ ซีเรีย และเอเชียไมเนอร์ แล้วจัดตั้งเป็นราชอาณาจักรของพวกคริสเตียนขึ้นให้ชื่อว่า ราชอาณาจักรแห่งกรุงเยรูซาเล็ม ได้รักษาตัวต่อมาถึงปี พ.ศ.1687 (ค.ศ.1144)  ก็ต้องเสียดินแดนส่วนใหญ่ไปแก่พวกมุสลิม ซึ่งกลับรวบรวมกันแข็งขันขึ้นอีก

ครั้งที่ 2 พ.ศ.1690 - 1692  เป็นสงครามเพื่อจะกู้ดินแดนของราชอาณาจักรละตินแห่งกรุงเยรูซาเลมกลับคืน บุคคลสำคัญที่นำทัพไปคือ พระเจ้าหลุยส์ที่ 7 แห่งประเทศฝรั่งเศส และจักรพรรดิ์คอนราดที่สาม แห่งจักรวรรดิ์โรมันอันศักดิ์สิทธิ์ แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ

ครั้งที่ 3 พ.ศ.1732 - 1735  ระยะนี้ฝ่ายมุสลิมมีประมุขใหม่ ผู้สามารถมีนามว่า ซาละดิน ได้รบพุ่งชิงดินแดนที่ยังคงเหลือ เป็นของพวกคริสเตียนอยู่ไปได้อีกเป็นอันมาก เมื่อข่าวไปถึงยุโรปกษัตริย์หลายองค์ ถือเป็นหน้าที่ที่จะช่วยกู้ดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์กลับคืนมา จึงจัดเป็นทัพกษัตริย์ยกไปรบ ประกอบด้วย เฟรเดอริก บาร์บารอสสา เป็นกษัตริย์เยอรมันและจักรวรรดิ์โรมันอันศักดิ์สิทธิ์ แต่ได้ประสบอุบัติเหตุจมน้ำสิ้นพระชนม์ ในดินแดนเอเชียไมเนอร์ ทัพเยอรมันจึงยกกลับ ฝ่ายทัพฝรั่งเศสมีกษัตริย์ฟิลิป ออกัสตัส เป็นแม่ทัพยกไป ทัพอังกฤษมีพระเจ้าริชาร์ด ใจสิงห์ เป็นแม่ทัพ ไปรบอยู่ไม่นานสองกษัตริย์เกิดวิวาทกัน พระเจ้าฟิลิป ออกัสตัส ยกทัพกลับ พระเจ้าริชาร์ดใจสิงห์ ได้ต่อสู้ไปตามลำพัง ในที่สุดทั้งสองฝ่ายได้เจรจาพักรบและสงบศึกต่อกัน ในระหว่างนี้พวกคริสเตียนได้เป็นรับอนุญาตให้ตั้งถิ่นฐาน ครอบครองดินแดนเล็ก ๆ ชายฝั่งทะเล และได้เข้านมัสการสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในกรุงเยรูซาเล็มได้ด้วยความสะดวก เป็นที่พอใจของพวกคริสเตียนมาก

ครั้งที่ 4 พ.ศ.1745 - 1747  เริ่มจากการที่ได้มีชนชั้นสูงชาวยุโรป เดินทางไปถึงเมืองเวนิส เพื่อขอจ้างเรือขนทหารไปรบอิจิปต์ เพื่อตัดกำลังพวกมุสลิมทางด้านนั้นก่อน แต่ชาวเวนิสเรียกค่าจ้างแพงมาก ชาวเวนิสกลับขอให้พวกนักรบไปช่วยตีเมืองหนึ่ง ที่เป็นคู่แข่งทางการค้าของเวนิสให้ก่อน จึงจะขนส่งทหารให้นักรบครูเสด ก็ทำตามทั้งที่ไปรบกับผู้ที่เป็นคริสเตียนด้วยกัน นอกจากนั้นยังชวนให้ไปช่วยจักรพรรดิ์แห่งกรุงคอนสแตนติโนเปิล ไปปราบคู่แข่งของพระองค์ ทั้งนี้เพื่อเวนิสจะได้รับรางวัลเป็นผลประโยชน์ทางการค้า ในจักรวรรดิ์โรมันตะวันออก

ครั้งที่ 5 พ.ศ.1761 - 1764  สันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 3 ได้ชักชวนในชาวยุโรปไปรบพวกมุสลิมทางอิจิปต์ไปยึดเมืองแดมิเอตตา ในอิจิปต์ได้ในปี พ.ศ.1762 แต่รักษาไว้ไม่ได้ถูกมุสลิมชิงกลับไป

ครั้งที่ 6 พ.ศ.1771-1772  จักรพรรดิเฟรเดอริกที่ 2  ผู้ครองจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นผู้นำทัพ สงครามครั้งนี้ไม่มีการรบพุ่งกันเลย พระองค์ได้เปิดเจรจากับสุลต่านแห่งอีจิปต์ เป็นผลให้พวกคริสเตียนไดรับอนุญาตให้เข้าตั้งอยู่ในดินแดนบางส่วนได้ โดยสะดวกสบาย แม้ว่าดินแดนนั้นยังเป็นของมุสลิม

ครั้งที่ 7 พ.ศ.1791 – 1797  พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 แห่งประเทศฝรั่งเศส ได้รับข่าวพวกมุสลิมกลับยึดครองกรุงเยรูซาเล็มได้อีก จึงนำทัพไปแต่เมื่อไปถึงอีจิปต์เรือก็อับปาง ต้องเสด็จกลับ

ครั้งที่ 8 พ.ศ.1813  พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 พยายามไปทำสงครามครูเสดอีก โดยไปทางตูนิส หรือคาร์เธจ เดิม บนฝั่งทะเลภาคเหนือของอัฟริกา แต่ไปสิ้นพระชนม์ที่เมืองนั้น ด้วยแรงศรัทธาดังกล่าว ทางการศาสนาจึงถวายพระเกียรติยศ และยกย่องพระองค์เป็น เซนต์ หลุยส์
                    ระยะเวลาทำสงครามครูเสด เป็นเวลาทั้งสิ้นประมาณ 200 ปี และสิ้นสุดลงด้วยการประนีประนอม ให้พวกคริสเตียนได้รับความสะดวกในการเข้านมัสการปูชนียสถาน แต่ดินแดนยังอยู่ในครอบครองของพวกมุสลิม

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย