ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

คณะสงฆ์

ได้แก่องค์คณะของภิกษุสงฆ์ ซึ่งได้รับการบรรพชาอุปสมบทตามพระวินัยพุทธบัญญัติ ในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท มีจำนวนตั้งแต่สองรูปขึ้นไป ประพฤติพรหมจรรย์ในพระธรรมวินัย อันเดียวกัน

คณะสงฆ์แต่เดิมนั้น เมื่อพระพุทธเจ้ารับผู้ที่เลื่อมใสในสัจธรรมของพระพุทธศาสนา และประสงค์เข้าเป็นพวก พระพุทธองค์ก็ทรงรับไว้ด้วยพระองค์เอง ผู้ที่สมัครเข้ามามีสองประเภทด้วยกัน ประเภทหนึ่งเป็นผู้เห็นธรรมแต่ยังไม่สิ้นกิเลส พระองค์จะทรงอนุญาตด้วยพระวาจาว่า "ท่านจงเป็นพระภิกษุเถิด ธรรมเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด"  อีกประเภทหนึ่งเป็นผู้เห็นธรรมทั่วถึง สิ้นกิเลสเป็นพระอรหันต์แล้ว พระองค์จะทรงอนุญาตด้วยพระวาจาว่า   "ท่านจงเป็นภิกษุเถิด ธรรมเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด"

คำว่าสงฆ์เมื่อกำหนดในสังฆรัตนะได้แก่ภิกษุตั้งแต่หนึ่งรูปขึ้นไป เมื่อกำหนดตามพระวินัยเนื่องด้วยการปกครองได้แก่ ภิกษุตั้งแต่สี่รูปขึ้นไปบ้าง ห้ารูปบ้าง สิบรูปบ้าง ยี่สิบรูปบ้าง ตามจำนวนองค์ประชุมอย่างต่ำในกิจนั้น ๆ ที่เรียกว่า สังฆกรรม

การปกครองคณะสงฆ์  เมื่อมีผู้สมัครเข้ามาบวชเป็นพระภิกษุ  ในระยะแรก ๆ พระภิกษุสงฆ์ก็จะพามาเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วพระพุทธเจ้า ก็ประทานอุปสมบทเป็นคราว ๆ ไป  เมื่อขยายวงกว้างออกไป การพามาเฝ้าเช่นนั้นย่อมเป็นการลำบาก จึงทรงอนุญาตให้พระสาวก รับผู้สมัครเข้าบวชได้ด้วยวิธี ให้ผู้สมัครนั้นปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสวะตามธรรมเนียมของพระภิกษุแล้วให้รับสรณะคมณ์ถึงพระรัตนตรัย เป็นสรณะด้วยความเคารพอย่างแท้จริง แล้วก็เป็นอันสำเร็จความเป็นพระภิกษุ วิธีนี้เรียกว่า ติสรณคมนูปสมบท

ในยุคต้นแห่งปฐมโพธิกาลนี้ การรับคนเข้าบวช พระพุทธเจ้าทรงเองบ้าง โปรดให้พระสาวกรับบ้าง  ต่อมาในราวมัชฌิมโพธิกาล จึงโปรดให้การรับคนเข้าบวช เป็นอำนาจของสงฆ์ กำหนดด้วยองค์ประชุมอย่างต่ำเพียงสิบรูปเป็นใช้ได้  ต่อมาโปรดให้ลดจำนวนลงมาเป็นห้า เฉพาะในถิ่นที่หาพระภิกษุได้ยาก  วิธีนี้เรียกว่า ญัตติจตุตถกรรมอุปสมบท เป็นวิธีที่พระสงฆ์ปฏิบัติกันอยู่เวลานี้

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรนิพพานแล้ว พระองค์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดเป็นผู้แทนพระองค์ แต่ได้ตรัสบอกไว้ว่า "พระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงแสดงแล้ว ทรงบัญญัติแล้วนั้นแลเป็นศาสดาของภิกษุสงฆ์"

การปกครองคณะสงฆ์ กล่าวโดยทั่วไปก็อนุวัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีของถิ่น และระบอบการปกครองฝ่ายอาณาจักรมาแต่ดั้งเดิมแล้ว ในสมัยสุโขทัยในจารึกครั้งพ่อขุนรามคำแหง ฯ ประมาณปี พ.ศ.1823 ว่าที่นครสุโขทัยมีสังฆราชมีปู่ครู มีมหาเถร มีเถร ทำให้เข้าใจว่าการปกครองคณะสงฆ์ในยุคสุโขทัยตอนต้นคงมีแต่คณะเดียว มีพระสังฆราชเป็นสังฆปรินายกชั้นสูงสุด และมีตำแหน่งรองลงมาเป็นลำดับ  ตกมาถึงสมัยสุโขทัยตอนปลาย พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์ผู้เป็นหัวหน้าผู้ปกครอง ซึ่งกลายมาเป็นพระราชาคณะและพระครูมีชื่ออย่างทุกวันนี้ มีการกำหนดว่าในหัวเมืองใหญ่มีสังฆราชาปกครองทุกเมือง ในเมืองเล็กมีพระครูปกครอง แต่ในราชธานีกำหนดไว้ว่าคณะคามวาสีมีพระพุทธโฆษาจารย์เป็นเจ้าคณะใหญ่ คณะอรัญวาสีมีพระวันรัตเป็นเจ้าคณะใหญ่

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในยุคต้น การปกครองคณะสงฆ์คงเป็นไปตามที่ปฏิบัติมาในสมัยกรุงสุโขทัย  ต่อมาได้แบ่งการปกครองคณะสงฆ์ออกเป็นฝ่ายขวา กับฝ่ายซ้าย คือ แบ่งคามวาสีฝ่ายซ้ายให้สมเด็จพระอริยวงศญาณปกครอง คามวาสีเดิมให้สมเด็จพระวันรัตว่า แต่คณะปักษ์ใต้ฝ่ายขวา และคณะอรัญวาสีมีพระพุฒาจารย์เป็นเจ้าคณะใหญ่ ในสมัยอยุธยาได้ทรงสถาปนาตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่เป็นสมเด็จหมด คำว่าสมเด็จ ไทยเรานำมาจากคำเขมร

ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์มีการจัดการปกครองคณะสงฆ์เหมือนสมัยอยุธยา ก่อนประกาศใช้ พ.ร.บ.ลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 (พ.ศ.2445) คณะสงฆ์มีอยู่สามนิกายคือ มหานิกาย ธรรมยุติกนิกาย และรามัญนิกาย ยังมีพวกอานัมนิกาย และจีนนิกาย ซึ่งไม่ใช้ภาษาบาลีสันสกฤต คงไว้แต่ภาษาของตนเอง สองนิกายหลังดังกล่าวไม่ได้รับยกย่องเป็นภิกษุสงฆ์ เป็นแต่นับว่าเป็นนักพรต

การปกครองอันต่างโดยนิกายเหล่านี้จัดเป็นสี่คณะคือ คณะเหนือ คณะใต้ คณะกลาง และคณะธรรมยุติกนิกาย ทั้งสามคณะข้างต้นมีสมเด็จพระราชาคณะเป็นเจ้าคณะใหญ่ ส่วนคณะธรรมยุติกนิกาย มีเจ้านายปกครองติดต่อตลอดมาจนถึงประกาศใช้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2484 มีสมณศักดิ์เป็นสมเด็จเจ้าคณะใหญ่ มีฐานานุกรมเป็นพิเศษกว่าสมเด็จเจ้าคณะอื่น

คณะอรัญวาสี นั้นเป็นคณะพิเศษ และเป็นคณะอิสระ มีมาแต่ครั้งโบราณ  ต่อมาเมื่อมีการตั้งคณะเหนือและคณะใต้ แล้วก็รวมคณะอรัญวาสีเข้าไว้ในเขตของตน ๆ
คณะรามัญ นั้นรวมจัดคณะสงฆ์เป็นรามัญเข้าไว้เช่นเดียวกับคณะธรรมยุตินิกาย พระสุเมธาจารย์เป็นเจ้าคณะ มีสมณศักดิ์สุดแต่จะโปรดเกล้า ฯ เสมอพระราชาคณะชั้นธรรมเป็นอย่างสูง

เนื่องในการปกครองนี้ ผู้มีตำแหน่งในการปกครองได้โปรดให้มีสมณศักดิ์ ตามลำดับชั้นดังนี้
1. สมเด็จพระสังฆราช ทรงปกครองสังฆมณฑลทั่วไป
2. สมเด็จพระราชาคณะ เจ้าคณะใหม่
3. พระราชาคณะผู้ใหญ่มีสี่ชั้นคือ ชั้นเจ้าคณะรอง ชั้นธรรม ชั้นเทพ ชั้นราช
4. พระราชาคณะสามัญมีสามประเภทคือ พระราชาคณะเปรียญ พระราชาคณะสมถและฝ่ายวิปัสสนา พระราชาคณะยก

วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ หากจะเรียกนามวัดกันให้เต็มที่ จะต้องเรียกว่า “วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณีวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” วัดนี้จัดสร้างขึ้นบนที่ดินของกรมธนารักษ์ ตั้งอยู่บนยอดเขาโคกแผ่น บ้านโคกแผ่น ตำบลทำนบ อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ มีเนื้อที่ 96 ไร่เศษ เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2527 รูปแบบเป็นรูปเหมือนเรือที่ยกเอาเรือไปตั้งอยู่บนภูเขาชื่อราชญาณนาวาฑีฆายุมงคล อันมีความหมายถึงที่ซึ่งน้ำท่วมไม่ถึง และได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า

การศึกษาของคณะสงฆ์ การเล่าเรียนในพระพุทธศาสนานั้น เมื่อแรกตั้งพระศาสนาผู้ที่สมัครเข้ามาถือพระพุทธศาสนามีสองพวกด้วยกัน พวกหนึ่งฟังธรรมแล้วรู้ทั่วถึงธรรมเป็นพระอรหันต์ เมื่อบวชแล้วกิจที่จะศึกษาเป็นอันไม่มี อีกพวกหนึ่งเป็นแต่พอใจในหลักธรรม เมื่อบวชแล้วต้องศึกษาให้ถึงที่สุด

หลักสูตรที่จะศึกษาในโอวาทปาติโมกข์มีศีลสิกขา จิตสิกขา และปัญญาสิกขา และท่านแสดงธุระในพระศาสนาไว้สองอย่างคือคันถธุระและวิปัสสนาธุระ

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย