ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

โขน

นาฎกรรมสวมหัว เป็นนาฎกรรมแบบฉบับของไทยชนิดหนึ่ง โดยปกติผู้แสดงโขนต้องสวมหัวปิด จึงไม่พูดและไม่ขับร้องด้วยตนเอง หากแต่มีผู้พูดและขับร้องแทน ผู้แสดงจะต้องเต้นรำท่า ให้เข้ากับคำพูดและบทขับร้อง

พากย์ - เจรจา  ผู้พูดแทนตัวโขนเรียกกันว่า คนพากย์ บทที่ใช้พากย์เป็นคำร้อยกรองจำพวกหนึ่ง ซึ่งกวีได้แต่งขึ้นสำหรับในการเล่นหนัง เรียกแยกไว้เป็นสองชนิดคือ คำพากย์ กับคำเจรจา คำพากย์แต่ก่อนคงจะเป็นคำฉันท์ ภายหลังเป็นกาพย์ กาพย์ที่ใช้พากย์โขนมีสองชนิดคือ กาพย์ฉบัง และกาพย์ยานี ผู้พากย์มักนิยมแทรกคำสุภาษิต คติพจน์ หรือคำพังเพย หรือแทรกหลักฐาน และเหตุผลไว้เป็นกระทู้ความ ให้ผู้ดูได้ความรู้สึกเป็นคติสอนใจไปในตัวด้วย คนพากย์และเจรจานี้ ต่อมามีหน้าที่เป็นผู้บอกบทละครด้วย เสียงดัง ๆ ให้นักร้องขับร้องด้วย
วงดนตรีประกอบการแสดงโขน ประกอบด้วยวงปี่พาทย์ สำหรับใช้บรรเลงประกอบอิริยาบท และความรู้สึกของตัวโขน แต่โบราณใช้เพียงเครื่องห้า ต่อมาเมื่อวงปี่พาทย์ได้วิวัฒนาการมาเป็นเครื่องคู่ และเครื่องใหญ่ วงปี่พาทย์ประกอบโขนก็วิวัฒนาการตามไปด้วย
บทแสดงโขน  เรื่องที่ใช้แสดงโขนคือ เรื่องรามเกียรติ์
เครื่องแต่งตัวและเครื่องโรง  เครื่องแต่งตัวที่สำคัญคือ หัวโขน ซึ่งมีลักษณะและสีต่าง ๆ กันมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว การแต่งกายของตัวโขนก็สอดคล้องกับบทบาท และทีท่าของตัวโขนนั้น ๆ นอกจากนั้นยังต้องมีเครื่องอุปกรณ์ ประกอบการแสดงอีก เช่น เตียงทอง รถศึก ศร พระขรรค์ คทา ตรี  กลด และเครื่องอุปกรณ์อื่นๆ เรียกกันว่า เครื่องโรง
จัดชุดแสดง  ตอนที่นำมาแสดงเรียกว่า ชุด ไม่เรียกว่าตอน เหมือนการแสดงนาฎกรรมอย่างอื่น การที่เรียกว่า ชุด เข้าใจว่าคำนี้สืบเนื่องมาจากการเล่นหนังแต่โบราณ เมื่อโขนได้นำเอาศิลปบางอย่างของการเล่นหนังมาใช้ จึงนำเอาคำว่าชุดของหนังมาใช้ด้วย เช่น ชุดปราบกากนาสูร ชุดนางลอย ชุดมัยราพณ์สะกดทัพ ชุดนาคบาศ ชุดพรหมมาศ ชุดหนุมานอาสา ชุดสีดาลุยไฟ และชุดปราบบรรลัยกัลป์ เป็นต้น

วิธีเล่นโขน  ได้มีการดัดแปลงวิธีเล่นกันสืบมาหลายอย่าง ปัจจุบันจำแนกออกเป็นห้าอย่างคือ โขนกลางแปลง โขนโรงนอก หรอืโขนนั่งราว โขนโรงใน และโขนฉาก

หัวโขน

เป็นเครื่องสวมหัวของผู้แสดงนาฎกรรม ซึ่งแสดงเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งส่วนใหญ่ของเรื่องเป็นสงคราม ระหว่างพระราม พระลักษณ์ แห่งกรุงอโยธยา กับบรรดาวานร ฝ่ายหนึ่ง  โดยรบกับทศกัณฐ์ราชาแห่งยักษ์ เจ้ากรุงลงกา กับบรรดาอสูร รากษส และยักษ์ อีกฝ่ายหนึ่ง  คู่สงครามแต่ละฝ่ายมีมากด้วยกัน ตัวโขนที่ออกแสดงจึงมีเป็นจำนวนมาก และต้องสวมใส่หัวโขนต่าง ๆ กัน

ในจำพวกยักษ์ และสิ่งที่ใช้สวมหัวนั้น ได้มีการแบ่งพวกไว้กว้าง ๆ ตามประเภทของหัวโขนที่ใช้สวม อย่างละสองจำพวกคือ ยักษ์ยอด ยักษ์โล้น และลิงยอด ลิงโล้น จำพวกกองทัพฝ่ายพลับพลา ซึ่งมีวานรชั้นต่าง ๆ นั้น อาจแยกประเภทออกได้ตามชนิดของหัว ซึ่งมีรูปลักษณะต่าง ๆ กันคือ มงกุฎยอดปัด เช่น พาลี สุครีพ มงกุฏยอดชัย หรือยอดแหลม เช่น ชมพูพาน ชามภูวราช มงกุฎยอดสามกลีบ เช่น องคต (เฉพาะตัวเดียว)  นอกนั้นเป็นพวกไม่มีมงกุฎ เรียกรวมว่า ลิงโล้น ที่เป็นพญาวานร เช่น หนุมาน นิลพัท นิลนนท์ ที่เหลือเป็นวานรสิบแปดมงกุฎ พวกเตียวเพชร และจังเกียง

จำพวกยักษ์ก็มีต่างกันถึงร้อยกว่าหัว จึงต้องบัญญัติและประดิษฐ์หัวโขนให้มีลักษณะแตกต่างกันเป็นพวก ๆ  อาจแบ่งประเภทออกตามชนิดของหัวโขนกว่า 10 ชนิดคือ มงกุฎยอดกระหนก เช่น พญาทูษณ์ มัยราพย์  มงกุฎยอดจีบ เช่น พญาขร สัทธาสูร มงกุฎยอดหางไก่ เช่น วิรุญจำบัง บรรลัยจักร  มงกุฎยอดน้ำเต้า เช่น พิเภก ชิวหา มงกุฎยอดน้ำเต้ากลม เช่น กุเวรนุราช เปาวนาสูร มงกุฎยอดก้านไผ่ เช่น ทศคีรีวัน ทศคีรีธร รามสูร  มงกุฎยอดสามกลีบ เช่น ตรีเมฆ (เฉพาะตัวเดียว)  มงกุฎยอดนาค เช่น มังกรกัณฐ์ (เฉพาะตัวเดียว) มงกุฎดาบหัวหรือหน้า เช่น ทศกัณฐ์มีสิบหน้า ตรีเศียรมีสามหน้า  ที่เหลือเป็นพวกไม่มีมงกุฎ เช่น กุมภกรรณ มูลพลัม

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย