ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
ชนชาติเขมร
เขมรเป็นชนชาติในตระกูลมอญ - เขมร สันนิษฐานว่า เดิมเมื่อหลายพันปีมาแล้ว อพยพจากอินเดียเข้ามาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของแหลมอินโดจีน เพราะยังมีชนชาวป่าที่พูดภาษาตระกูลมอญ - เขมร เรียกว่าพวกมณฑ์ เหลือตกค้างในประะทศอินเดียอยู่ แต่ทฤษฎีใหม่ว่าชนมอญ - เขมร เดิมอยู่ทางทิศตะวันออกของแหลมอินโดจีน
เขมรแบ่งลักษณะ รูปร่างหน้าตา และผิวพรรณของชาวเขมรตามหลักของอินเดีย ซึ่งสืบมาแต่สมัยโบราณ ออกเป็นสองชนิดคือ ลักษณะอย่างโคและอย่างกวาง ลักษณะอย่างโคคือ มีรูปร่างสูงใหญ่ ล่ำสัน มีอยู่ในหมู่เขมรชาวชนบท ส่วนลักษณะอย่างกวางคือมีรูปร่างเล็ก เอวบาง อกเล็ก อ้อนแอ้น เป็นจำพวกผู้หญิงชาวเมืองชาววัง ดังนั้นผู้หญิงควรมีลักษณะอย่างกวาง ส่วนผู้ชายควรมีลักษณะอย่างโค
ประวัติศาสตร์ เขมรเป็นชื่อชนเผ่าหนึ่ง อาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชา ทางทิศตะวันออกของประเทศไทย ระหว่างประเทศไทยกับประเทศเวียดนาม เขมรเป็นชนชาติหนึ่ง ไทยเรียกเขมรโบราณว่าขอม ขอมเป็นชนชาติที่มีอำนาจยิ่งใหญ่อยู่ในดินแดนแถบนี้มาเป็นเวลาประมาณสองพันปีมาแล้ว พวกขอมได้รับวัฒนธรรมจากอินเดียที่แผ่ขยายมายังดินแดนบริเวณคาบสมุทรอินโดจีน ตั้งแต่ก่อนที่ไทยจะลงมาตั้งเป็นถิ่นฐานมั่นคงอยู่
ในสมัยเมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) ลงมาตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้น ได้โปรดให้สมเด็จพระราเมศวร ราชโอรสเป็นแม่ทัพไปตีเมืองเขมร ยึดพระนครหลวงไว้ได้ เขมรคงเป็นประเทศราชชึ้นกรุงศรีอยุธยามาแต่ครั้งนั้น ต่อมาในปี พ.ศ.1936 ในรัชการสมเด็จพระราเมศวร เขมรยกทัพมากวาดต้อนราษฎรเมืองชลบุรี จันทบุรี จึงโปรดให้ยกกองทัพไปตีได้ชัยชนะ แต่ไม่สามารถยึดเมืองเขมรไว้ได้ จึงให้กวาดต้อนราษฎรเข้ามายังกรุง ต่อมาในปี พ.ศ.1975 เขมรเป็นศัตรูกับกรุงศรีอยุธยาอีก สมเด็จพระบรมราชาที่ 2 ยกกองทัพไปล้อมพระนครอยู่เจ็ดเดือนจึงตีได้
หลังจากที่เขมรย้ายราชธานีไปที่เมืองพนมเปญ แล้วก็ห่างจากประเทศไทยออกไป แม้กระนั้นในสมัยใดที่ไทยเพลี้ยงพล้ำในการศึกกับประเทศอื่น เขมรก็จะยกกำลังเข้ามาซ้ำเติมอยู่เสมอ จนถึงปี พ.ศ.2136 สมเด็จพระนเรศวร ฯ ได้กรีธาทัพไปตีเขมรอีกครั้ง การศึกครั้งนี้ทำให้ไทยกับเขมรยุติกรณีพิพาทลงเป็นเวลาช้านาน จนสิ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และในตอนต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ทางเขมรเกิดความยุ่งยากขึ้น พระรามราชาต้องหนีมาพึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นเหตุให้ไทยกับเขมรต้องทำศึกกันอีกวาระหนึ่ง เขมรต้องหนีไปพึ่งอำนาจญวน พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงกรีธาทัพไปตีเขมรถึงสองครั้งในปี พ.ศ.2312 และ พ.ศ.2314 ไทยสนับสนุนพระรามราชา ญวนสนับสนุนสมเด็จพระนารายณ์ ต่อมาญวนหมดอำนาจลง สมเด็จพระนารายณ์ต้องหันหน้ามาพึ่งไทย พระรามราชาได้เป็นใหญ่ในเขมร
ความวุ่นวายในเมืองเขมรมาสงบลงเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ เสวยราชย์และได้ทรงนำนักองค์เองมาเลี้ยงไว้เป็นราชบุตรบุญธรรม แล้วโปรดให้อภิเษกเป็นสมเด็จพระนารายณ์ราชา ออกไปครองประเทศเขมร และได้ตรัสขอเขตแดนเมืองพัตบอง และเสียมราฐ จากเขมร ให้เป็นบำเหน็จแก่เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ที่ได้รักษาการเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเขมร มาในระหว่างที่สมเด็จพระนารายณ์ราชายังเยาว์อยู่
ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ญวนกลับมีกำลังเข้มแข็งขึ้น เขมรที่ไม่สมัครใจอยู่กับไทยก็หันเข้าหาญวนเช่นเคย เป็นเหตุให้ไทยและญวนต้องพิพาทกันในรัชกาลที่สาม และมาสงบเรียบร้อยลงได้เมื่อญวนได้ตกอยู่ใต้อำนาจฝรั่งเศส ก่อนหน้านั้นจากการวิวาทของเจ้าเขมร เป็นเหตุให้องค์นโรดมเจ้าเขมรต้องหนีเข้ามาอยู่เมืองพัตบอง และที่สุดได้มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารที่กรุงเทพ ฯ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ทรงชุบเลี้ยงไว้ ต่อมาในปี พ.ศ.2407 เมื่อเหตุการณ์ในเขมรสงบราบคาบ ก็ได้ทรงจัดการให้องค์นโรดมออกไปเป็นกษัตริย์เขมรสืบไป เขมรก็เป็นประเทศราชของไทยมาโดยเรียบร้อย
ในปีต่อมา ฝรั่งเศสแผ่ขยายอำนาจจากญวนมาในเขมร ไทยเพียงแต่รักษาเขตเมืองพัตบอง และเสียมราฐไว้ ต่อมาในปี พ.ศ.2436 (ร.ศ.112) เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยและฝรั่งเศส ไทยต้องยอมยกดินแดนในเขตพัตบอง และเสียมราฐ รวมทั้งเขตอื่น ๆ ให้แก่ฝรั่งเศส ทำให้อำนาจของไทยในเขมรหมดลง ต่อมาในปี พ.ศ.2483 ไทยกับฝรั่งเศสได้พิพาทกันอีกในกรณีดินแดนในเขมร ฝรั่งเศสยอมคืนเขตพัตบอง เสียมราฐบางส่วน รวมทั้งกำพงธมและสตึงเตรงบางส่วนให้ไทย แต่เมื่อเสร็จสงครามโลกครั้งที่สอง ไทยก็จำต้องคืนดินแดนดังกล่าวให้แก่ฝรั่งเศสอีก
โบราณคดี ศิลปะเขมรสมัยโบราณเป็นศิลปะที่สำคัญที่สุดศิลปะหนึ่งซึ่งเจริญรุ่งเรืองขึ้นในแหลมอินโดจีน วิวัฒนาการของศิลปะเขมรนั้น สืบเนื่องต่อกันอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 ถึงพุทธศตวรรษที่ 19 ในด้านสถาปัตยกรรม ลวดลายเครื่องประดับ ภาพจำหลัก และประติมากรรมชนิดที่ดูได้รอบด้าน
ภาษา ภาษาเขมรเป็นคำโดดอยู่ในตระกูลภาษามอญ - เขมร มีตัวอักษรเป็นสระและพยัญชนะ พยัญชนะมี 33 ตัว และมีสระลอย 18 ตัว
>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>