ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
เป็นวีรกษัตริย์พระองค์หนึ่งของไทย พระองค์ได้ทรงกู้เอกราชของไทยไว้ได้ เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาเสียแก่ข้าศึกครั้งที่สอง (พ.ศ.2310) และทรงตั้งกรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานีของไทยอยู่สมัยหนึ่ง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระนามาภิไธย ที่ราษฎรเรียกขานกันเป็นสามัญอีกพระนามหนึ่งว่า พระเจ้าตากสิน พระองค์ทรงมีพระราชสมภพเมื่อใดไม่ปรากฎแน่นอน เจ้าพระยาจักรีได้รับมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมและได้นำเข้าถวายตัวทำราชการอยู่ในราชสำนักสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ์ เมื่ออายุได้ 21 ปีได้ทูลลาพักราชการออกอุปสมบทเป็นพระภิกษุอยู่สามพรราา จึงลาสิกขากลับเข้ารับราชการดังเดิม ครั้นสิ้นรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ์ได้รับโปรดเกล้าให้ไปดำรงตำแหน่งที่หลวงยกกระปัตรเมืองตาก ครั้นพระยาตากถึงแก่กรรมลงก็ได้รับโปรดเกล้าให้เป็นที่พระยาตากครองเมืองตาก ต่อมาได้รับโปรดเกล้าให้เป็นพระยาวชิรปราการสำเร็จราชการเมืองกำแพงเพชร และได้อยู่ช่วยราชการรักษาพระนครศรีอยุธยาซึ่งพม่ายกกองทัพมาล้อมไว้
ในระหว่างการรบป้องกันพระนครอยู่นั้น พระยาตากได้รับครามท้อใจหลายครั้งหลายหนเห็นว่าการที่จะคงอยู่ช่วยรักษากรุงต่อไปนั้น จะไม่เป็นประโยชน์อันใดเสียแล้ว พระนครคงจะเสียแก่ข้าศึก เพราะความอ่อนแอของผู้บัญชาการรักษากรุงเป็นแน่แท้ ด้วยเหตุนี้ในเดือนมกราคม พ.ศ.2309 ท่านจึงรวบรวมสมัครพรรคพวกได้ประมาณ 500 คน ยกออกจากค่ายวัดพิชัยในตอนค่ำวันหนึ่งตีฝ่าแนวทหารพม่าไปทางทิศตะวันออก เมื่อพม่าตามไปทันกันที่บ้านโพธิสังหารตอนรุ่งเช้าพระยาตากได้นำทหารเข้าต่อสู้พม่าจนพม่าแตกหนีกลับไป พม่ได้ติดตามตีอีกหลายครั้งจนถึงแขวงเมืองปราจีนบุรี แต่พระยาตาก็สามารถตีทัพพม่าแตกพ่ายไปแต่นั้น พม่าก็มิได้ติดตามตีอีกต่อไป พระยาตากจึงยกกำลังผ่านเมืองฉะเชิงเทราไปถึงเมืองชลบุรี ระหว่างทางได้มีผู้คนเข้ามาอ่อนน้อมยอมเป็นบริวารรายทางไป แล้วจึงยกกำลังเข้าสู่เมืองระยอง พระระยองก็เข้ามาอ่อนน้อม
ขณะที่พระยาตากไปถึงเมืองระยองนั้น กรุงศรีอยุธยายังไม่เสียแก่ข้าศึกพวกกรมการเมืองระยองหลายคนมีความเห็นว่าพระยาตากทำการเป็นกบฎ จึงคบคิดกันจะต่อสู้แต่แล้วก็พ่ายแพ้ พระยาตากจึงได้เมืองระยองไว้ในอำนาจและปฏิบัติตนอย่างเจ้าเมืองเอก และบริวารของท่านก็เรียกท่านว่าเจ้าตากนับแต่นั้นมา
พระยาตากได้ให้ทูตไปชักชวนพระยาจันทบุรีร่วมมือกันยกกำลังเข้ารบพม่า แก้ไขพระนครให้พ้นจากอำนาจข้าศึก พระยาจันทบุรีก็เงียบอยู่พอดี จับได้ผู้ถือหนังสือพม่าซึ่งกำลังจะไปเกลี้ยกล่อมพระยาจันทบุรีให้อ่อนน้อม
ครั้นเดือนเมษายนพ.ศ.2310 เมื่อข่าวกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าพระยาจันทบุรีก็หามาเป็นไมตรีกับเจ้าตากไม่ เจ้าตากจึงเข้าตีเมืองจันทบุรี ได้แล้วยกทักเรือไปยังเมืองตราด พวกกรมการเมืองและราษฎรยอมอ่อนน้อมแต่โดยดีและยังได้เรือสำเภาจีนกับชาวจีนมาเป็นกำลังอีกเป็นอันมาก เมื่อข่าวเจ้าตากตั้งตัวเป็นใหญ่ได้มั่นคงทางแถบหัวเมืองชายทะเลตะวันออกแพร่ออกไป บรรดามิตรสหายและข้าราชการรุ่นเดียวกัน มีพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ (ขณะเป็นหลวงยกกระปัตรเมืองราชบุรี) และกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิ่งหบาท (พม่าเป็นนายสุดจินดา หุ้มแพรมหาดเล็ก) เป็นต้น พากันมาเข้าด้วยเป็นกำลังโดยมาก
เจ้าตากได้ยกกองทัพเรือเข้าทางปากน้ำเจ้าพระยาตีค่ายนายทองอินคนไทย ซึ่งสวามิภักดิ์ต่อพม่าและพม่ามอบให้ตั้งรักษาเมืองธนบุรี เมื่อยึดได้เมืองธนบุรีแล้วก็ยกกองทัพไปสู่กรุงศรีอยุธยาปราบสุกี้แม่ทัพพม่าที่ค่ายโพธิสามต้นได้ชัยชนะ ยึดได้ผู้คนและทรัพย์สมบัติ ซึ่งสุกี้ยังมิได้ส่งไปเมืองพม่ารวมทั้งข้าราชการและเจ้านายหลายพระองค์ ในสมัยกรุงธนบุรีนั้นส่วนใหญ่มีการสงครามด้วยราชศัตรูอยู่เกือบตลอดสมัยพระองค์ทรงเป็นแม่ทัพไปรบถึงสิบครั้งโปรดให้ผู้อื่นไปรบเจ็ดครั้ง
>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>